เชี่ยนหมากเป็นของใช้ประจำบ้านที่ใช้ในการกินหมากของคนไทยทุกภูมิภาค ประกอบด้วยตัวภาชนะสำหรับใส่ หมาก ยาเส้น ปูน สีเสียด พลู ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกเชี่ยนหมากต่างกันไปตามภาษาแต่ละท้องถิ่น เช่น เซี่ยนหมาก เฆี่ยนหมาก และขันหมาก
เชี่ยนหมากเป็นของที่คนเฒ่าคนแก่ใช้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนและเป็นเครื่องแสดงฐานะเจ้าของบ้าน มักวางไว้กับกระโถนและน้ำต้น หรือคนโทน้ำ ประกอบกันเป็นชุดรับแขก เชี่ยนหมากยังใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมการแต่งงานซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นผู้จัดขันหมากไปสู่ขอ และมอบเชี่ยนหมากให้ฝ่ายเจ้าสาว
เชี่ยนหมากทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น ทอง เงิน ไม้ ทองเหลือง เครื่องเขินหรือจักสาน ส่วนที่เป็นภาชนะของเชี่ยนหมากมีทั้งรูปทรงกลมคล้ายพานหรือถาด มีทรงสี่เหลี่ยมและหกเหลี่ยม
เชี่ยนหมากรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกล่องไม้เป็นลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของทางภาคอีสาน การตกแต่งนิยมทาสีดำ จากรัก แกะลสักลวดลายเส้นแบบเรขาคณิต และตกแต่งด้วยสีขาว แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน มีส่วนกระบะที่อยู่ชั้นบนสำหรับใส่เต้าปูน ตลับหมาก ใบพลูแบ่งออกเป็นช่องเล็ก 2 ช่อง ช่องใหญ่ 1 ช่อง และส่วนของฐานซึ่งมี 2 แบบ คือขันหมากตัวผู้จะมีเดือยอยู่ระหว่างขาตั้ง ส่วนขันหมากตัวเมียจะทำขาแหวกขึ้นไปจรดส่วนเอวซึ่งต่อกับส่วนกระบะทั้ง 4 ด้าน
ปัจจุบันการกินหมากค่อยๆ สูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า แต่เชี่ยนหมากโบราณเป็นที่นิยมในฐานะของสะสม ทุกวันนี้ยังมีการทำเชี่ยนหมากอยู่แต่จุดประสงค์ใช้เพื่อเป็นของตกแต่งบ้าน ร้านค้า หรืองานนิทรรศการต่างๆ
เชี่ยนหมากได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์หนองช้างน้อย วัดศรีสุพนอาราม ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ทราบนามผู้บริจาค