ตราประทับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง
ตราประทับเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นเพื่อแทนตัวบุคคลหรือหมู่คณะใช้ในการลงนามเพื่อติดต่อธุรกิจการค้า หรือเพื่อประโยชน์อื่นๆ เช่น การสั่งการของชนชั้นปกครอง ฯลฯ ชาวอินเดียโบราณได้นำเอาระบบการใช้ตราประทับมาสู่ดินแดนเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 หรือประมาณ 1,600 – 1,700 ปีที่ผ่านมา ในเวลาต่อมาจึงได้มีการผลิตตราประทับขึ้นใช้เองในท้องถิ่น พบว่าเมืองโบราณอู่ทองมีการผลิตและใช้ตราประทับหลายรูปแบบ รวมถึงพบหลักฐาน ก้อนดินที่ถูกประทับตราจำนวนมาก ทั้งนี้ตราประทับบางชิ้นได้รับการออกแบบเพื่อติดกับตัวแหวานโดยทำเป็นรูป คน สัตว์ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ บางชิ้นมีจารึกกำกับ ตราประทับที่พบในเมืองโบราณอู่ทองแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของชนชั้นทางสังคมและรูปแบบในการติดต่อสื่อสารที่ใช้กันในเวลานั้น จัดอยู่ในวัฒนธรรมทวาราวดี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 14 หรือประมาณ 1,200 – 1,400 ปี