ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 28' 28.07"
14.4744638888889
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 6' 47.02"
100.113061111111
เลขที่ : 170855
จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วัดประตูสาร
เสนอโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ ไม่ระบุ
อนุมัติโดย ศูนย์ข้อมูลกลาง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 2031
รายละเอียด
ตามข้อสันนิษฐานของทางวัด กล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดประตูสารดังนี้ เชื่อว่าช่างที่เขียน ชื่อ นายคำ เป็นช่างชาวเวียงจันทร์ที่อพยพมาอยู่เมื่อครั้งพระเจ้าอนุวงค์ขบถ ยกกองทัพมาตีไทย เมื่อ พ.ศ.2369 กองทหารไทยตีโต้กลับจนถึงนครเวียงจันทร์ เมื่อตีแตกแล้วได้กวาดต้อนเอาชาวเวียงจันทร์มาเมืองไทย และแยกย้ายกันไปอยู่หลายจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดสุพรรณบุรีมาอยู่หลายอำเภอ นายคำ เป็นช่างเขียนที่กรุงเทพฯหาโอกาสมาเสาะหาญาติที่ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ขณะนั้นวัดหน่อพุทธางกูรมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง จึงรับอาสาเขียนให้ เมื่อเขียนเสร็จมาเขียนต่อที่วัดประตูสาร นายคำมีลูกมือเป็นลูกเขยที่กรุงเทพฯมาช่วยเขียนด้วย http://ongsa-sabaidee.blogspot.com/2009/05/blog-post.html ได้สรุปงานจิตรกรรมวัดประตูสารดังนี้ จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดประตูสารนี้เป็นศิลปะของฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งน่าจะเป็นช่างเขียนในเมืองหลวงที่ออกมาเขียนภาพในหัวเมือง ด้วยรูปแบบของการจัดวางองค์ประกอบ และเทคนิคของฝีมือช่าง การใช้สี แนวคิดที่มีความแตกต่างและโดดเด่น มีลักษณะใกล้เคียงกับรูปแบบของงานจิตรกรรมในเมืองหลวงมากกว่างานจิตรกรรมในอุโบสถของวัดหัวเมืองทั่วไป ซึ่งเป็นไปได้ว่า จิตรกรรมที่วัดประตูสารนี้ดูเหมือนจะล้ำหน้ากว่าวัดอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน รวมไปถึงการกำหนดอายุที่แม้ว่าจะเป็นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ของงานจิตรกรรมที่น่าข้ามไปในตอนต้นของรัชกาลที่ ๔ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นของลักษณะของภาพและเทคนิคการเขียนสีดังกล่าว จิตรกรรมฝาผนังวัดประตูสาร ได้แบ่งภาพของจิตรกรรมภายในทั้งสี่ด้านออกเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงบน คือ พื้นที่เหนือจากช่องประตูและหน้าต่าง มีภาพแถวพระอดีตพุทธเจ้า ผนังข้างภาพอดีตพุทธเจ้าอยู่ในพระอริยาบถประทับนั่ง ส่วนผนังด้านหลังพระประธาน ภาพพระพุทธเจ้าอยู่ในพระอริยาบถยืน ผนังตรงข้ามพระประธาน คือภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างประตู เขียนเรื่องพุทธประวัติตามแนวช่างสกุลรัชกาลที่ ๓ คือ แนวปรัมปราคติ โดยเขียนอย่างปราณีต มีรายละเอียดมาก สีเข้มข้นค่อนข้างสดจัด ลักษณะสมจริงในส่วนของภาพ และกิจกรรมของบุคคลระดับล่างมีอยู่มาก จนดูเหมือนว่าล้ำหน้ากว่าจิตรกรรมฝาผนังบางวัดในกรุงเทพฯ เทคนิคของสีที่ใช้ในงานจิตรกรรมของที่นี่จะมีความคล้ำของสีน้ำตาลแดง สีน้ำเงินอมฟ้า สีเขียวมืดและสีแดง จัดเป็นสีแดงเฉพาะที่แตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังของวัดในกรุงเทพฯ มีการใช้สีฟ้าในภาพแจกันมีดอกไม้ปักซึ่งเป็นอิทธิพลแบบศิลปะจีนและด้านบนสุดของผนังเหนือพระอดีตพุทธมีริ้วคดโค้งแบบจีน ซึ่งทำเป็นทำนองของสินเทา แต่เขียนในลักษณะของริ้วชายม่านมากกว่า นอกจากนี้การเขียนภาพบรรยากาศของธรรมชาติ ส่วนมากเป็นการเขียนฉากแบบสมจริง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบไม้ สัตว์ในจินตนาการ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในหมู่ช่างกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ก็ยังมีสอดแทรกการเขียนลายสัญลักษณ์แบบปรัมปราอยู่บ้างเช่น สายน้ำ เป็นต้น ส่วนรูปแบบที่แตกต่างของที่นี่ซึ่งไม่น่าจะเป็นงานเขียนจิตรกรรมโดยทั่วไปของช่างหัวเมือง คือลักษณะของการเขียนภาพจีวรของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีการเขียนโดยใช้สีแดงประดับด้วยดอกเล็กๆ สีทอง ซึ่งการเขียนลักษณะเช่นนี้มีปรากฎในงานจิตรกรรมที่อุโบสถวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นการเขียนของช่างเมืองหลวง จากการสังเกตการใช้สีของจิตกรกรรมฝาผนังของวัดประตูสารนั้น จะเห็นได้ว่ามีลักษณะของการใช้สีที่เป็นสีคล้ำ ซึ่งมีการผสมสีดำลงไปในพื้นสี เป็นลักษณะเฉพาะของงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่กล่าวแล้วว่า เป็นลักษณะของสีคู่ แต่ที่วัดประตูสารนี้ การใช้สีคล้ำไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสีที่ทึมๆ หรือมีบรรยากาศที่หนัก แต่เป็นสีคล้ำที่มีบรรยากาศใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา หรือพื้นดิน โดยสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นงานปฏิรูปให้ดูผสานสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จิตรกรรมวัดประตูสาร ยังมีลักษณะของการให้แสงเงากับภาพ โดยดูจาก ภาพของอดีตพุทธเจ้า ซึ่งมีการใช้สีทองเพื่อให้ดูสว่างขึ้น รวมไปถึงการแลเงาต้นไม้ ซึ่งเป็นลักษณะของการมองระยะของต้นไม้ที่มีด้านหน้าและลึกเข้าไปด้านใน มีการใช้สีทำให้เกิดเป็นระยะในบางฉากของภาพ ในการศึกษาด้านเทคนิคในการเขียนสีนี้ หากเปรียบเทียบกับวัดหน่อพุทธากูร ซึ่งเป็นวัดหัวเมืองเช่นกัน จะเห็นได้ว่าจะมีความต่างของของสีและองค์ประกอบ ซึ่งสีของจิตรกรรมที่วัดหน่อพุทธางกูรจะมีความแปร่งปร่าของโครงสี ด้วยการใช้สีสดแต่คล้ำ ซึ่งเป็นการแสดงออกของช่างหัวเมือง บางฉากมีการเขียนตัวหนังสือกำกับ รวมทั้งการจัดวางองค์ประกอบของแต่ละฉากที่ค่อนข้างจะมีมากจนยากที่จะจัดระเบียบได้ง่าย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวัดหัวเมืองเช่นกันแต่โดยเทคนิคแล้วมีความแตกต่าง อาจสันนิษฐานได้ในเรื่องของฝีมือหรือแนวคิดของช่างที่เขียนที่วัดประตูสารน่าจะเป็นช่างที่มีฝีมือจากเมืองหลวงมากกว่าแต่อาจมีช่างพื้นถิ่นเป็นลูกมือ โดยลักษณะขององค์ประกอบภาพที่เป็นแนวปรัมปรานั้น จะเห็นได้ว่าลักษณะของการแสดงออกของภาพจะค่อนข้างมีอิสระในแนวคิดมากกว่า ด้วยรูปแบบภาพที่เป็นชาวบ้านหรือลักษณะของบุคคลที่เป็นองค์ประกอบย่อย มีการสอดแทรกอารมณ์ ความคิดลักษณะการแสดงออกของชาวบ้านที่อิสระ และรวมไปถึงการสอดแทรกบุคคลซึ่งเป็นชนชาติต่างๆ เข้ามาในองค์ประกอบของภาพ นั่นแสดงถึงความสัมพันธ์ของการดำรงชีวิตวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ถ่ายทอดออกมาในงานจิตรกรรมอย่างจงใจ
หมวดหมู่
ทัศนศิลป์
สถานที่ตั้ง
วัดประตูสาร
ตำบล รั้วใหญ่ อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง พระอธิการบุญช่วย ปวฑฒโน น.ธ เอก พ.ม. ค.บ. เจ้าอาวาสวัดประตูสาร
เลขที่ วัดประตูสา
ตำบล รั้วใหญ่ อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี
โทรศัพท์ 0 3554 3598
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่