การแต่งกายของหญิงไทยมุสลิมตามประเพณีดั้งเดิม แต่มีวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง คือ ชุดบานง ภาษามลายูกลาง เรียกว่า บันดง ซึ่งเป็นชื่อเมืองทางตะวันตกของเกาะชวา เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย เสื้อบานงมักตัดด้วยผ้าเนื้อค่อนข้างบาง อาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้ออย่างสวยงามเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าและพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด กลัดด้วยเข็มกลัดสวยๆ ๓ ตัว ชายเสื้อด้านหน้าแหลม แขนเสื้อยาวรัดรูปจรดข้อมือ เสื้อบานงใช้นุ่งกับผ้าถุงธรรมดาหรือผ้ายกหรือผ้าพันที่ท้องถิ่นนี้เรียกว่า"กาเฮงบือเละ" ผ้าพันเป็นผ้าลวดลายปาเต๊ะยาวประมาณ ๓ เมตร ไม่เย็บเป็นถุง วิธีนุ่งผ้าพันนั้นไม่ง่ายนัก ต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ก้าวขา เดินได้สะดวก ชายผ้าด้านนอกอาจจีบทบแบบจีบหน้านาง หรือม้วน หรืออาจปล่อยให้สุดปลายผ้าไว้เฉยๆ โดยเหน็บชายผ้าตรงกลางสะเอว และนิยมให้ปลายผ้าด้านล่างทแยงเล็กน้อยด้วย เมื่อใส่เสื้อชุดบานงเรียบร้อยแล้วนิยมใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เพื่อความสวยงามยิ่งขึ้น และเพื่อแสดงถึงฐานะ เช่น เข็มกลัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลมือและต่างหูการแต่งกายของหญิงไทยมุสลิมด้วยชุดบานงดังที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้เป็นอย่างดี มีแนวโน้มว่าจะถูกประยุกต์ปรับเปลี่ยนตามสมัยนิยม อีกทั้งยังพบว่าผู้ที่สามารถตัดเย็บชุดบานงและชุดกูรงตามแบบแผนดั้งเดิมจะมีน้อยลง จนชุดบานงและกูรงอาจจะได้รับความนิยมน้อยลง และเสื่อมสูญหายไปตามกาลเวลา การสวมชุดบานงในปัจจุบันจะสวมใส่เมื่อมีการเดินขบวนพาเหรด เนื่องจากชุดบานงเป็นชุดที่มีการตัดเย็บ และมีการตกแต่งอย่างพิถีพิถันจากช่างที่มีความชำนาญ ดังนั้นเราควรอนุรักษ์และสืบสานการแต่งกายของหญิงไทยมุสลิมที่มีความงดงาม ถูกต้องตามแบบแผนประเพณี ให้ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป