ภาษามอญ
มอญ อยู่ในกลุ่มชาติพันธ์ที่พูดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmar) ตระกูลออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic) มีภาษาพูดและเขียนเป็นของตนเอง จารึกมอญที่เก่าแก่ที่สุด ขุดพบบริเวณจังหวัดนครปฐม จารึกขึ้นราว พ.ศ.๑๑๔๓ รวมทั้งการประดิษฐ์อักษรไทย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ดัดแปลงมาจากภาษาขอมหวัดและมอญโบราณ จาการขุดค้นพบศิลาจารึกสมัยทวารวดี และหริภุญไชยจำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรทวารวดี และหริภุญไชย ทั้งผู้ปกครองและพลเมืองเป็นมอญเสียโดยมาก ภาษาและวัฒนธรรมมอญมีอิทธิพลเหนือผู้คน และดินแดนแถบนี้อย่างเห็นได้ชัด
ทุกครั้งที่ชาวมอญอพยพเข้ามาเมืองไทย มักนำจารึก ใบลานภาษามอญติดตัวเข้ามาด้วย รวมทั้งที่มีการจดจารในเมืองไทยด้วย จากการสำรวจพบว่า มีใบลานมอญอยู่ตามวัดมอญในเมืองไทยมากกว่า ๒๕๐ วัด
คำไทยที่มาจากมอญ มีเป็นจำนวนมาก เช่น
หน่าย แปลว่า นาย ไทยเอามา
เกริง แปลว่า คลอง ไทยเอามาใช้ในความหมายว่า กรุง
โกล่ง แปลว่า ทาง ไทยเอามาใช้ในความหมายว่า คลอง
วรรณคดีเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน กำเนิดพลายงาม ของสุนทรภู่ มีสำนวนภาษาและเรื่องราวของมอญปะปนอยู่มาก ได้มีงานวิจัยวิเคราะห์ว่า สุนทรภู่ น่าจะมีความรู้ภาษามอญ บทเสภาดังกล่าว มีว่า
แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้ ร้องทะแยย่องกะเหนาะหย่ายเตาะเหย
ออระหน่ายพลายงามพ่อทรามเชย ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเกลิง
ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาวเนียงกะราวกนตะละเลิ่งเคริ่ง
มวยบามาขวัญจงบันเทิงจะเปิงยี่อิกะปิปอน
บทเสภากล่าวถึงนักดนตรีปี่พาทย์มอญ ทะแยมอญ รวมทั้งมีข้อความที่ถอดเสียงมาจากภาษามอญแทรกอยู่ถึง ๖ บท แสดงว่าผู้แต่งต้องชำนาญฉันทลักษณ์ไทย และเข้าใจภาษามอญเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้แสดงให้ชัดเจนว่า ภาษามอญ เป็นภาษาทีเก่าแก่ภาษาหนึ่งในภูมิภาคนี้ และยังมีความสัมพันธ์กับภาษาไทยมาแต่แรก อย่างใกล้ชิดและแนบแน่น