ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 5' 20.5573"
17.0890437
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 49' 20.3588"
103.8223219
เลขที่ : 178301
ผีที่ผูกพันกับชาวกะเลิง
เสนอโดย Mr.Poonsawat วันที่ 31 มกราคม 2556
อนุมัติโดย สกลนคร วันที่ 31 มกราคม 2556
จังหวัด : สกลนคร
0 1020
รายละเอียด

ผี ที่ชาวกะเลิงถือ

ผีเรือน

ผีเรือน ชาวกะเลิงเชื่อว่า คือวิญณาณของพ่อ-แม่ ที่คอยคุ้มครองรักษาลูกหลานในเรือน โดยปกติแล้วภายในเรือนชาวกะเลิง จะมี 2 ส่วน คือส่วนที่กั้นเป็นที่นอน หรือแต่เดิมกั้นเป็นห้องเล็กๆที่เรียกว่า “ส่วม”(ห้อง) ซึ่งมักใช้เป็นที่นอนของพ่อ-แม่ 1 ห้อง และสำหรับลูกเขย ลูกสะใภ้ หรือญาติสนิทก็จะกั้นออกไปเป็นแต่ละห้อง อีกส่วนหนึ่งคือส่วนเปิดโล่ง มักใช้เป็นทางผ่านหน้าห้อง “ส่วม” แต่ก็ใช้เป็นที่หลับนอนได้

บริเวณที่เปิดโล่ง ส่วนที่ไม่ได้กั้นห้อง มักจะอยู่ด้านซ้าย(เมื่อเดินเข้าเรือน) ของบ้าน เป็นบริเวณที่ถือว่าเป็นมุมผีเรือนหรือเรียกว่า “แจ” จะมีผีแจอาศัยอยู่ ดังนั้นจึงเกิดการปฏิบัติต่อผีแจ เช่น ตกแต่งหิ้งบูชา การทำสักการะบูชาผีพ่อ-แม่ ในวันธรรมสวนะ โดยจัด “ขันห้า ขันแปด” (มีดอกไม้ห้าคู่ เทียนห้าคู่ เรียกว่า ขันห้า ดอกไม้แปดคู่ เทียนแปดคู่ เรียกว่า ขันแปด) และเมื่อมีงานในบ้าน เช่น แต่งงานลูกหลาน จะให้ผู้อาวุโสสูงสุดของสายผี หรือ”จุ้มผี”มาบอกกล่าว โดยจัด”คาย”(ของที่ใช้บูชาผี) พิธีคือ หมู 1 ตัว ไก่ 1 ตัว เหล้า 6 ไห (ขวด) นอกจากนี้ยังถือว่าผู้ที่เป็นทายาทเท่านั้นที่เข้า-ออก หรืออาศัยหลับนอนบริเวณแจแห่งนี้ได้ ผู้ที่มิใช่ทายาทโดยสายเลือดสายตระกูลผีห้ามเข้า ถือว่า “ขะลำ”( ข้อห้าม) หรือ “ต้องห้าม” หากปฏิบัติล่วงเกินแล้วจะทำให้บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยได้

ปัจจุบัน ชาวกะเลิงบางหมู่บ้านในอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ยังคงเชื่อเรื่อง “ผีแจ” อย่างเคร่งครัด

ผีตาแฮก หรือ ตาแฮก

เป็นผีที่เฝ้าไร่นา ช่วยให้บังเกิดผลดีในการทำไร่นา ดังนั้นก่อนทำนาจึงต้องบอกกล่าวพร้อมกับ “นำคาย” (เครื่องเซ่น) พิธีมาด้วย คายพิธีประกอบด้วย “พาหวาน 100พา”(ของหวาน 100 ถ้วย) ควายนา(ปูนา) 1 คู่ หมาก 2 คำ ยาสูบ(บุหรี่) 2 กอก (มวน) เทียน 1 คู่ ชาวกะเลิงเชื่อว่าถ้าปฏิบัติเช่นนี้แล้ว นอกจากจะทำนาได้ผลดีแล้ว ยังช่วยให้วัว-ควายไม่เจ็บป่วยอีกด้วย

หลังจากบอกกล่าวแล้ว ก็จะประกอบพิธีกรรม โดยการนำต้นกล้าข้าวจำนวนหนึ่งมาปักดำในที่นาในมุมที่เป็นแฮก หรือ ผีแฮก เป็นแปลงเล็กๆ ตามความหมายของตาแฮก (ตาแรก) โดยแบ่งต้นกล้าเป็น 7 กอ ขณะที่ปักดำจะกล่าว ดังนี้

ปักกกหนึ่ง ให้ได้วัวแม่ลาย ( กก หมายถึง กอ)

ปักกกสอง ให้ได้ควายเขากลอม

ปักกกสาม ให้ได้ฆ้องเก้ากำ (ฆ้อง หมายถึง เครื่องหมายเป็นสิริมงคล)

ปักกกสี่ ให้ได้คำเก้าหมื่น (คำหมายถึง ทองคำ)

ปักกกห้า ให้ได้เข้าหมื่นมาเยีย ( เยีย หมายถึงยุ้งฉาง)

ปักกกหก ให้ได้เมียเทียมข้าง

ปักกกเจ็ด ให้ได้ช้างเผือกงานิล (ช้างงาดำ)

หลังจากปักดำเสร็จแล้วชาวนาจะคอยดูแล ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช และจะทำพิธีต่อผีตาแฮกอีกครั้งหนึ่งเมื่อถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวข้าว โดยจะนำคายพิธีมาบูชา ประกอบด้วย เหล้า 1 ไห ไก่ 1 ตัว พาหวาน 100 พา เทียน 1 คู่ ดอกไม้ 1 คู่ หลังจากนั้นจึงเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากนวดข้าวเสร็จแล้ว ก่อนจะนำข้าวไปเก็บในยุ้งฉาง ชาวนาจะ”ฝัดข้าวขี้ลาน” หรือข้าวเม็ดลีบ แล้วทำพิธีบอกกล่าวว่าได้แบ่งข้าวให้”ผีไร่-ผีนา” จะกองไว้มุมใดมุมหนึ่งในที่นา

ชาวกะเลิงอีสาน มีความเข้าใจที่แตกต่างจากชาวนาภาคกลาง ที่เชื่อว่าเมล็ดข้าวคือ แม่โพสพ ที่มีบุญคุณต่อชีวิตมนุษย์ ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมตั้งแต่ข้าวตั้งท้อง โดยการหาอาหาร ผลไม้มีรสเปรี้ยว และรสหวานมาเซ่นบวงสรวงบูชาคล้ายสตรีตั้งครรภ์

ผีป่า ผีภู

ชาวกะเลิงมีชีวิตที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม คือภูเขาและป่าไม้อย่างแนบแน่น จนกล่าวได้ว่าป่าให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวกะเลิงต้องการ นับตั้งแต่อาหารพืชป่า สัตว์ป่าที่เป็นอาหาร สมุนไพรรักษาโรค และการใช้ไม้ปลูกบ้านเรือน ชาวกะเลิงถือว่าป่าไม้ ภูเขา มีผีป่าปกปักรักษา

ดังมีคำกล่าวว่า “ป่าไม้หลวง พวงไม้ใหญ่ต้องมีผี สาวผู้ดีกะยังมีซู้”(ต้นไม้ใหญ่มีผีอาศัยอยู่ สาวๆมีหนุ่มๆมาเป็นคู่รัก) คำกล่าวนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่งที่ต้องมีคู่กันจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้

ความเชื่อดังกล่าวจะเห็นได้จากพิธีกรรมง่ายๆของชาวกะเลิง เช่น การบอกกล่าวผีป่า ผีภู เมื่อเข้าไปถากถางป่าเพื่อปลูกพืช เช่น พริก ฝ้าย หรือพืชอื่นๆว่า “ เออเจ้าหัวภูหยอน เจ้าง่อนภูสุด ลูกหลานมาเฮดไฮ่ เฮ็ดสวนนำ เจ้าถิ่นเจ้าฐาน บ่ให้ตื่นให้ท้วงใดๆ” ( เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ ลูกหลานมาทำไร่ ทำสวน ขออย่าได้ตกใจ และอย่าทำอันตรายแก่ลูกหลาน) หลังจากบอกกล่าว ผีป่า ผีภูแล้วจึงถากถางป่าเพื่อทำไร่ตามที่ต้องการ

การตัดไม้ในป่า เพื่อนำมาสร้างบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างใดๆก็ตาม ชาวกะเลิงเชื่อว่าจะต้องบอก ต้องขออนุญาตเจ้าป่า เจ้าเขาเป็นเบื้องต้นก่อน ดังมีคำบอกกล่าวว่า “ลูกหลานมาขอไม้เฮ็ดเฮือน ให้อยู่ซุ่มเย็น ง้า (กิ่ง) นี่คือกับหางนาค ฟากง้านั้นเป็นหางไถ ง้าต่อไปใส่ถุงเงินถุงคำ นำเมือบ้าน ให่ค้ำให่หมูน(หนุน) ให้คูณที่อยู่” แล้วก็นอนพักผ่อนใต้ต้นไม้ที่เลือกแล้วว่าจะตัดโค่น ถ้านอนหลับฝันดี หรือมีปรากฏการณ์ที่ดีเป็นสิริมงคล ก็แสดงว่าเจ้าป่า เจ้าภูอนุญาตให้ตัดต้นไม้ได้ หากไม่ปรากฏความฝัน หรือฝันร้ายชาวกะเลิงก็จะไปเลือกต้นไม้ที่อยู่ห่างไกลออกไป และบอกกล่าวเจ้าป่า เจ้าภู แล้วนอนเสี่ยงทายหนึ่งคืนเช่นเดียวกัน

ผีป่า ผีภูยังรวมถึง ผีที่ดูแลรักษาต้นน้ำลำธาร ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหมู่บ้านชาวกะเลิง ที่ตั้งอยู่ที่ราบไหล่เขา ชาวกะเลิงเชื่อว่าผีภูที่สำคัญคือผีที่ช่วยให้เกิดลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน โดยเฉพาะชาวกะเลิงที่อาศัยอยู่ที่บ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร มีห้วยสายหนึ่งไหลผ่านหมู่บ้าน ห้วยสายนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่ ภูถ้ำพระ ซึ่งห่างจากหมู่บ้าน 3 กิโลเมตร ดังนั้นในช่วงเดือน 6 ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน ชาวกะเลิงอาวุโส ผู้เฒ่าผู้แก่ จะพาลูกหลานไปบนบานศาลกล่าวเพื่อขอฟ้าฝนที่ภูถ้ำพระทุกๆปี พร้อมทั้งนำข้าวปลาอาหาร ตั้งคายขันห้า ขันแปด ประกอบพิธีกรรม

ชาวกะเลิงเชื่อว่าในวันบนบาลศาลกล่าว ถ้าหากในวันนั้นมีฝนตก ย่อมหมายถึงว่าในปีนั้นๆ จะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าหากปีใดไม่มีฝนตกในวันประกอบพิธีกรรม ปีนั้นจะเกิดความแห้งแล้ง

ผีปู่ตา (ดอนปู่ตา)

ผีปู่ตา คือผีผู้ใหญ่ที่คอยคุ้มครองให้ชาวกะเลิงมีความสุขตามควรแก่อัตภาพ ไม่เพียงแต่เท่านั้น บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การรักษาป่าของหมู่บ้านชาวกะเลิง จึงนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณต่อหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงมีพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาเป็นงานประจำปีของหมู่บ้าน

พิธีเลี้ยงผีปู่ตาจัดขึ้น ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เพราะชาวกะเลิงถือว่าเป็นวันดีเป็น วันปลอด ดังคำกล่าวถึงวันมงคลนี้ว่า “กบ บ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี่ หมากส้มมอสุกหวาน แม่มานท้องแวบ” (กบไม่มีปาก นาคไม่มีก้น ลูกสมอสุกหวาน คนตั้งครรภ์ท้องยุบ) ดังนั้นจึงนิยมจัดงานในวันที่ถือว่าเป็นสิริมงคลนี้

พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาจะเริ่มตั้งแต่ตอนเช้า โดยชาวบ้านทุกครัวเรือนจะเตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ลาบ ก้อย ตำมะละกอ ไก่ต้ม ไข่ต้ม สิ่งที่นำไปเลี้ยงผีปู่ตาประกอบด้วย ไก่ต้ม 1 ตัว ไข่ 1 ฟอง เหล้า 1 ไห เทียน 1 คู่ ดอกไม้ 1 คู่ ข้าว 1 กระติ๊บ ชาวกะเลิงจะพูดติดปากว่า “ดอกไม้ 1 คู่ เหล้าไห ไก่โต๋ เข่าติ๊บหนึ่ง”อาหารที่นำมาเลี้ยงผีปู่ตานั้น หลังจากเสร็จพิธีแล้วชาวบ้านจะนำมารับประทานร่วมกันจนอาหารหมด โดยมิให้เหลือกลับบ้าน

พิธีกรรมจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 09.00 น. เมื่อชาวบ้านนำอาหารขึ้นถวายปู่ตา จุดธูปเทียนบูชาแล้ว เฒ่าจ้ำผู้ประกอบพิธีกรรมจะเป็นผู้บอกกล่าวปู่ตา จะพูดเสียงดังเพื่อให้ชาวบ้านได้ยินทุกคน คำกล่าวเช่น “เอาเจ้าปู่ เจ้าตาเอ้ย ปีนี้ลูกหลานได้นำเหล้าไหไก่โต๋ ดอกไม้ ธูปเทียน เข่าปลาอาหารมาเลี้ยง ขอให้เจ้าปู่ เจ้าตาคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ขอให้วัวควายปลายเขาอย่าเป็นโรคภัย ข้าวกล้าในนาสมบูรณ์ อย่ามีโรคพืช ตลอดจนแมลงมากัดต้นข้าวให้เสียหาย” หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะสนุกสนาน ดื่มสุรา เหล้าไหหรืออุ ซึ่งเตรียมไว้เพื่อเลี้ยงผีปู่ตาโดยเฉพาะ พร้อมกับฟ้อนรำทำเพลงเวียนไปรอบๆศาลปู่ตา บางคนก็ร้องกลอนลำกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของปู่ตา หรือร้องขอให้ปู่ตาช่วยอำนวยอวยพรให้ทุกคนอยู่ดีมีสุข ภาพผู้คนจำนวนมากในลานกว้างกลางป่าต่อหน้าศาลปู่ตาเช่นนี้ จะพบเห็นได้ปีละครั้ง จึงถือว่าผีปู่ตาเป็นเรื่องฝังจิตฝังใจเป็นส่วนสำคัญของชีวิตหมู่บ้าน นอกจากนี้หากชาวบ้านมีเรื่องเดือดร้อน หรือจากหมู่บ้านไปอยู่แดนไกล หรือเดินทางกลับมาที่หมู่บ้าน ตลอดจนผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแม้เพียงคืนเดียวสมควรที่จะบอกกล่าวผีปู่ตาทั้งสิ้น ผีปู่ตาเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ของทุกคน ที่เสมือนท่านมีตัวตนอยู่ในหมู่บ้าน

เฒ่าจ้ำ หรือเจ้าจ้ำ เป็นบุคคลสำคัญของหมู่บ้าน เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง หรือผู้ประกอบพิธีกรรมของผีปู่ตานั่นเอง ถึงแม้นว่าเจ้าจ้ำจะเป็นบุคคลธรรมดา เช่นคนอื่นๆ แต่การที่ได้รับหน้าที่ “จ้ำ” เกิดจากผีปู่ตามีความต้องการโดยเฉพาะเจาะจง จึงทำให้ทุกคนยอมรับนับถือผู้ที่เป็น”จ้ำ”โดยปริยาย

กล่าวโดยทั่วไป ผู้ที่ได้รับหน้าที่จ้ำ มักจะสืบสายตระกูลไปยังลูกหลาน ยกเว้นแต่จะมีปรากฏการณ์เป็นสัญณาณว่าผีปู่ตาต้องการเปลี่ยนคนใหม่เท่านั้น ในกรณีที่ผีปู่ตาต้องการเปลี่ยนคนใหม่ ชาวบ้านต้องจัดพิธีให้มีการ “เสี่ยงตะข้อง”(นำข้องใส่ปลามาทำพิธี)หาผู้ที่จะเป็น “จ้ำ”คนต่อไป โดยมีคนทำพิธีเสี่ยงทาย เมื่อคนทรงตั้งคายพิธีแล้วผีก็จะเข้าร่าง ร่างทรงก็จะถือตะข้องวิ่งผ่านบ้านเรือนภายในหมู่บ้าน ถ้าร่างทรงหยุดตรงหน้าบ้านหลังใด ผู้ชายที่เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้น จะถูกร่างทรงทักว่าผีปู่ตาเลือกให้เป็นเจ้าจ้ำคนต่อไป

ผีน้ำ ผีฟ้า

ชาวกะเลิงทั่วไปมีความเชื่อว่าความเจ็บป่วย เกิดจากสาเหตุ 2 ประการคือ ผีทำ และโรคทำ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจึงต้องใช้วิธีรักษาพยาบาลในลักษณะเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน คือรักษาด้วยหมอผีพื้นบ้านเป็นเบื้องต้น และนำไปรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันเมื่อรักษาแบบพื้นบ้านไม่ทุเลาลง หรืออาจนำกลับมารักษาทั้งสองวิธีควบคู่กัน ถ้าใครถึงแก่ความตายก็ถือว่าผู้นั้นมีเวรมีกรรม หรือสิ้นบุญเพียงเท่านี้

สืบเนื่องมาจากที่ชาวกะเลิงเชื่อว่าผีมีอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถลงโทษมนุษย์ได้ ด้วยการทำให้เจ็บป่วยในร่างกาย ดังปรากฏคำกล่าวของผู้เจ็บป่วยว่า “กินบ่แซบ” การสันนิษฐานเบื้องต้นสำหรับการเจ็บป่วยคือการถูกผีทำ โดยการหาผู้เชี่ยวชาญ “แม่หมอ”หรือแม่ครู หรือที่เรียกทั่วไปว่า “หมอเหยา” หรือ “หมอเยา” จึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของสังคมชาวกะเลิง

แม่ครู หรือ แม่หมอของหมู่บ้าน จะดำรงตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกับ “เฒ่าจ้ำ” โดยสืบต่อเนื่องกันมา แต่ไม่สืบทอดหน้าที่นี้จากบิดามารดาไปยังบุตรเท่านั้น

แม่ครูคนหนึ่งที่เป็นหมอเหยา ซึ่งท่านได้รับยกย่องว่าเป็น “แม่ครู” ของหมู่บ้าน ชาวกะเลิง กล่าวถึงการสืบทอดการเป็นหมอเหยาทั้ง 6 คน ซึ่งแสดงจริยธรรมส่วนหนึ่งของการเป็นแม่ครู ว่าตนเองเกิดป่วยไข้เมื่อตอนอายุ 14 ปี กินยารากไม้(ยาสมุนไพร)ก็ไม่หาย จึงได้เชิญ “แม่ครูกว้าง”มาเหยา ในขณะที่ทำพิธีอยู่นั้นตนเองสามารถลุกขึ้นฟ้อนรำได้ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ลุกขึ้นไม่ได้ หลังจากนั้นก็รับเอาผีเข้ามาอยู่ในตัว กลายเป็นลูกศิษย์ของครูกว้างตั้งแต่นั้นมา หลังจากแม่ครูกว้างเสียชีวิตไป “ครูบาเติน”ซึ่งเป็นผู้ชายได้ทำหน้าที่ต่อมา เมื่อครูบาเตินเสียชีวิต ครูบาเข้มก็ทำหน้าที่พ่อครูสืบมา จนมีชื่อเสียงไปเหยาตามหมู่บ้านไกลๆ ครูบาคนต่อมาคือ “ครูบาแหล่” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความโลภเห็นแก่เงินทองของตอบแทน ไม่ปฏิบัติตามคำสอนทำผิดข้อห้าม ดังคำโบราณที่ว่า “ลื่นครูเป็นบ้า กายครูบาเป็นปอบ”(หมายความว่าถ้าทำเกินคำสอนของครูจะเป็นบ้า เป็นปอบ) ในที่สุดครูบาแหล่ก็กลายเป็นคนวิกลจริต ต่อจากนั้นตัวเอง(ผู้เล่า)ที่มีอาวุโสสูงสุดในหมู่หมอเหยาจึงได้รับหน้าที่แม่ครูสืบมา

คำบอกเล่าดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงการเป็นหมอเหยาว่าต้องผ่านการเจ็บป่วย และเคยรักษากับแม่ครูมาแล้ว หลังจากนั้นจึงมีผีเข้าประจำตัว อาจจะมีผี 1 ตนขึ้นไป และมักเป็นผีที่ระบุได้ว่าชื่ออะไร มาจากที่ใด ชอบแต่งตัวอย่างไรเมื่อประทับร่างเข้าสูนและเข้าทรง ผีดังกล่าวนี้ชาวกะเลิง และชนเผ่าอื่นๆมักจะเรียกว่า “ผีฟ้า” ผีฟ้าจะมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าผีที่ทำให้คนเจ็บป่วย จึงต่อสู้หรือต่อรองตกลงกับผีในร่างคนป่วยได้

นอกจากนี้ยังมี “ผีน้ำ” หมายถึง ผีที่มากับกระแสน้ำ ลำธาร หรือผีที่อยู่ตามห้วย หนองใหญ่ๆ ดังนั้นเมื่อถึงเทศกาลเลี้ยงผีประจำปีของแม่ครู จึงต้องจัดภาชนะ เช่นตุ่มบรรจุน้ำ ให้บรรดาผีน้ำที่อยู่ในร่างของหมอเหยา ได้เล่นน้ำอย่างสนุกสนาน และทำเรือหยวกกล้วยโยนลงไปในแม่น้ำ ลำธาร เมื่อเสร็จพิธีเลี้ยงผี

คุณธรรมของผู้เป็นหมอเหยาในหมู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เจ็บป่วยเกิดความศรัทธา หมอเหยาจะมีข้อปฏิบัติที่แตกต่างจากคนทั่วไปคือ

1.ไม่รับประทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น ช้าง ม้า เสือ ลิง สุนัข งู

2.ไม่รับประทานอาหารในงานศพ

3.ไม่รับคายพิธีเกิน 1 ชุด และเงินในคายพิธีกำหนดไว้ 5 สลึง

จะเห็นได้ว่าการเป็นหมอเหยานั้นมิได้เป็นอาชีพที่พึงแสวงหาผลประโยชน์ เอารัด

เอาเปรียบคนไข้ ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูงแม้จะใช้เวลาเหยาเป็นเวลานานทั้งวันทั้งคืน กว่าผีจะออกจากร่างผู้ป่วย ก็ไม่อาจรับเงินคายเพิ่มได้ ถ้าผู้ป่วยอยากจะตอบแทน ก็สามารถทำได้โดยการผูกแขนหมอเหยา พร้อมทั้งนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นมามอบให้ในภายหลังก็ได้

คำสำคัญ
ความเชื่อ
สถานที่ตั้ง
เผ่ากะเลิง
เลขที่ 252 หมู่ที่/หมู่บ้าน 9
ตำบล กุดบาก อำเภอ กุดบาก จังหวัด สกลนคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สืบค้นข้อมูล เทศบาลตำบลกุดแฮด
บุคคลอ้างอิง นายพูลสวัสดิ์ บัวภาคำ อีเมล์ poonsawat15@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอกุดบาก
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่