ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 54' 42.4152"
19.911782
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 49' 50.0808"
99.830578
เลขที่ : 178376
วัดพระสิงห์
เสนอโดย muang_tuy วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
อนุมัติโดย เชียงราย วันที่ 4 มิถุนายน 2563
จังหวัด : เชียงราย
0 416
รายละเอียด

ความเป็นมา

วัดพระสิงห์เชียงราย (พระอารามหลวง) เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงรายมาแต่โบราณด้วยในอดีตเคยเป็นทีประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” หรือ “พระสิงห์” พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ปัจจุบันวัดพระสิงห์มีสถานภาพเป็นพระอารามหลวงประจำจังหวัดเชียงราย

วัดพระสิงห์ เชียงรายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1928 ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมาครองเมืองเชียงรายระหว่างพุทธศักราช 1888-1943

สาเหตุที่วัดนี้มีชื่อว่า “วัดพระสิงห์” นั้น น่าจะเป็นเพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า “พระสิงห์” ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ (หรือพระสิงห์) จำลองศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓๗ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร

พระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานปรากฏในสิหิงนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้

- พ.ศ. 1850 ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย 70 ปี

- พ.ศ. 1920 ประดิษฐานที่พิษณุโลก 5 ปี

- พ.ศ. 1925 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 5 ปี

- พ.ศ. 1930 ประดิษฐานที่กำแพงเพชร 1 ปี

- พ.ศ. 1931 ประดิษฐานที่เชียงราย 20 ปี

- พ.ศ. 1950 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 255 ปี

- พ.ศ. 2240 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 105 ปี

- พ.ศ. 2310 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 28 ปี

- พ.ศ. 2338 ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ-ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด

-พระประธานพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธปฏิมาศิลปะล้านนาไทย พุทธศตวรรษที่ 21 ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 204 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 284 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถมีพุทธลักษณะสง่างาม ประณีต ที่ฐานมีจารึกอักษรธรรม ล้านนาไทยว่า “กุลลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา” อันหมายถึง ปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ในทางพระพุทธศาสนาที่ระบุว่า สภาวะธรรมทั้งปวงมี 3 ประเภท คือ

ธรรมทั้งหลายที่เป็น “กุศล” ก็มี

ธรรมทั้งหลายที่เป็น “อกุศล” ก็มี

ธรรมทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือจาก “กุศลและอกุศล” ก็มี

- พระอุโบสถพระอุโบสถสร้างขึ้นราวปีพ.ศ. 1251 - พ.ศ. 1252 ปีฉลู-ปีขาล เดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ วันเสาร์ เวลา 12.00 น. (พ.ศ. 2432ถึง พ.ศ. 2433) รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีี สภาพสมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504และครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ. 2533 โดยพระราชสิทธินายก เจ้าอาวาส รูปปัจจุบัน

- บานประตูหลวงบานประตูหลวง ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอก ผู้มี ผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลก นามว่า อ.ถวัลย์ ดัชนีเป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน

ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก
น้ำ คือ ของเหลวต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ
ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป
ไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิด พลังงาน
แนวคิดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้
ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ดิน
นาค เป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ
ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของ ลม
สิงห์โต เป็นสัญลักษณ์ของ ไฟ

ผสมผสานกันโดยมีลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีลีลาเฉพาะแบบของ อ.ถวัลย์ ดัชนี งานแกะสลักบานประตูวิหารนี้ พระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้มอบความไว้วางใจให้ สล่าอำนวย บัวงามหรือ สล่านวย และลูกมืออีก หลายท่านเป็น ผู้แกะสลัก ใช้เวลาในการแกะสลักเกือบหนึ่งปี ได้บานประตูมีขนาด กว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.50 เมตร และหนา 0.2 เมตร ด้วย ลวดลายและลีลาการออกแบบ และฝีมือการแกะสลักเสลาอย่างประณีตบรรจง นับว่า บานประตูนี้ได้ช่วยส่งเสริมความงดงาม ของพระวิหารได้โดดเด่นมากขึ้น

- พระเจดีย์พระเจดีย์ เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนาไทย สร้างในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง คือ พ.ศ. 2492 ครั้งหนึ่ง โดยท่านพระครูสิกขาลังการ เจ้าอาวาสในขณะนั้น และอีกหลายครั้งในสมัยต่อมา โดยท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

- พระพุทธบาทจำลองพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา”

- หอระฆังเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาไทยประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมาก ในปัจจุบัน ขนาดความสูง 25 นิ้ว ยาว 39 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อพ.ศ. 2438 ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง

- ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาพลโทอัมพร จิตกานนท์ นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดีย และอาศรม วัฒนธรรมไทย-ภารตะ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และปลูกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา ในฐานที่เป็นต้นไม้ซึ่ง พระโพธิสัตว์ลาดบัลลังก์ประทับในคืนก่อนตรัสรู้ เดิมเรียกกันว่าต้น “อัสสัตถพฤกษ์” ที่ได้ชื่อว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ก็เพราะเป็นต้นไม้ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ “โพธิธรรม” ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

- ต้นสาละลังกาต้นสาละลังกาเป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับ สำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกาและนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อพ.ศ. 2512

ที่ตั้งถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000

โทร:053-711735 , 053-744523

แฟกซ์:053-744523

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดพระสิงห์
ถนน สิงหไคล
ตำบล เวียง อำเภอ เมืองเชียงราย จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงราย
บุคคลอ้างอิง จุฬาภรณ์ ทองสุทธิ อีเมล์ muang_tuy@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรม อีเมล์ muang_tuy@hotmail.com
ถนน ธนาลัย
ตำบล เวียง อำเภอ เมืองเชียงราย จังหวัด เชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57000
โทรศัพท์ 053-716771 โทรสาร 053-716771
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่