การเพาะเห็ดฟางบ้านสระไม้แดง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านสระไม้แดง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ในระยะแรกจะใช้ประกอบอาชีพเพื่อเป็นอาชีพเสริม แต่ต่อมาราคาของเห็ดฟางมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจึงหันมาประกอบเป็นอาชีพหลัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งประมาณ 30,000 – 40,000 บาท ในการเพาะเห็ดฟางแต่ละครั้งการทำร่องเห็ดถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะต้องทำร่องเห็ดให้เหมาะสมกับสภาพอากาศซึ่งอากาศเป็นปัจจัยสำคัญมากในการเพาะเห็ดฟาง กล่าวคือ ในหน้าร้อน ควรทำร่องเห็ดให้ห่างประมาณ 20 เซนติเมตร ในหน้าหนาว ควรทำร่องเห็ดให้ห่างประมาณ 15 เซนติเมตรและในหน้าฝน ต้องยกร่องเห็ดให้สูงเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วม ช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงที่เห็ดฟางให้ผลผลิตมากที่สุดและดูแลง่าย
อุปกรณ์
1.แบบไม้ ฐานกว้าง 35 ซม. สูง 35 ซม.ด้านบนกว้าง 30 ซม. แบบไม้ยาว 100 – 120 ซม. 2. พลาสติกคลุม ใช้พลาสติกใส ขนาดกว้าง 140 ซม. ยาวประมาณ 60 เมตร 3. แผงฟาง ทำจากฟาง นำมาขนาบด้วยซี่ไม้ไผ่ ยาวประมาณ 120– 150 ซม. 4. หัวเชื้อเห็ดฟางและรำละเอียด โดยเชื้อเห็ดฟาง 1 ก้อน เพาะได้ 2 กอง ( ทำ 3 ชั้น )
สถานที่เพาะ
สถานที่เพาะจะใช้บริเวณท้องนา กลางแจ้งปรับแต่งให้เรียบ โดยการถากตอซังข้าวออกให้หมด ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวก ในการเพาะ
การแช่ฟาง
ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แช่กันในลำคลองเล็กๆ ในคลองชลปะทาน หรือทำการขุดบ่อแช่ ในท้องนาก็สามารถทำได้ โดยแช่ฟางค้าง 1 คืน
หัวเชื้อเห็ดฟาง
การเพาะเห็ดฟางควรใช้หัวเชื้อที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป สังเกตจากเส้นใยหนาแน่น สีขาวขุ่นเกาะรอบๆ ก้อนเชื้อ ทำการขยี้ด้วยมือให้ละเอียด ผสมรำพอควร เพื่อเพิ่มอาหารให้กับเห็ดใช้แป้งข้าวเหนียวแทนก็ได้ หรือใช้ทั้งรำและแป้งข้าวเหนียวทั้งสองอย่างยิ่งดีใหญ่ โดย 1 ก้อนแบ่งเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนแบ่งย่อยเป็น 3 กองเล็กๆ เพาะได้ 2 กองๆละ 3 ชั้น
วิธีเพาะ
1. วางแบบไม้ อัดฟางลงในแบบโดยใช้มือกดให้แน่นพอควร สูงจากพื้นดินประมาณ 1 ฝ่ามือ กดตบแต่งให้เสมอ โรยเชื้อเห็ดฟางชิดแบบไม้ ทั้ง 4 ด้าน ตรงกลางไม่ต้องโรย
2. ทำเหมือนชั้นที่ 1 โรยเชื้อ ส่วนที่ 2 3. ทำเหมือนชั้นที่ 1 โรยเชื้อ ส่วนที่ 3 4. สุดท้ายปิดบนด้วยฟาง จนล้นแบบ กดตบแต่งให้เสมอขอบแบบ แล้วทำการถอดแบบได้
5. วางไม้แบบ ให้ห่างจากกองที่ 1 ประมาณ 1 คืบ ทำกองที่ 2 ต่อไป โดยปกติใน 1 แปลง จะเพาะกัน 24 กอง ใช้เชื้อเห็ด 12 ก้อน เหมาะสมที่สุด วางแปลงเพาะห่างกันประมาณ 1 เมตร วางลักษณะคู่ขนาน เป็นกลุ่มใหญ่ ทำการรดน้ำให้เปียกชุ่ม ทั้งที่บนกองเห็ด ที่พื้นดิน แล้วคลุมแปลงเพาะแต่ละแปลงด้วยพลาสติกใส 2 ผืน ซ้อนกันตรงกลางแปลง ปิดแปลงเพาะด้วยแผงฟางอีกครั้ง ปล่อยทิ้งไว้ 3 คืน 6.เมื่อครบ 3 คืน ช่วงเช้าทำการยกแผงฟางด้านข้างและรอยต่อระหว่างแปลงออก ยกชายพลาสติกขึ้นทั้ง 2 ด้าน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้อากาศภายในออกทั่วถึง แล้วคลุมกองไว้เหมือนเดิม จนถึงเช้าวันที่ 7 เปิดดูภายในจะเห็นดอกเห็ดเกิดขึ้นบ้างแล้ว สังเกตดอกเห็ดที่ใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย บนดอกถ้ามีจุดสีเทาดำ รอบข้างสีขาวขุ่น แปลว่าแปลงเห็ดอยู่ในสภาพที่พอดี ทั้งแสง อากาศ และความชื้น แต่ถ้าดอกเห็ดเป็นสีขาวทั้งดอก ให้ทำการระบายอากาศ ยกแผงฟางระหว่างแปลงออกเพื่อให้ แสงเข้าไปได้บ้าง แล้วคลุมแปลงเพาะไว้เหมือนเดิม รอดูดอกเห็ดในวันรุ่งขึ้น ถ้าดอกเห็ดมีสีเทาดำ แสดงว่าที่ระบายอากาศและเปิดแสงเข้าพอดีแล้ว
7.วันที่ 10 เช้าสามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว โดยเริ่มเก็บดอกเห็ดที่ใหญ่ก่อน โดยเก็บเบามือที่สุด เกรงว่าจะไปกระทบกระเทือนดอกเห็ดข้างๆ อาจให้ฝ่อได้ เก็บติดต่อกันได้ประมาณ 5-6 วัน รวมผลผลิตอย่างน้อยควรจะได้ที่ กองละ 1 กก.เป็นอย่างต่ำ ถือว่าใช้ได้แล้ว ศัตรูของเห็ดฟาง คือ รา ได้แก่ ราเขียวจะเกิดในหน้าหนาว ราขาวจะเกิดในหน้าร้อน ส่วนราที่เกิดในหน้าฝนจะเป็นราเม็ดผักกาด ในการเพาะเห็ดฟางจะไม่กลับมาทำซ้ำที่เดิมเพราะจะทำให้ราซึ่งเป็นศัตรูของเห็ดเกิดขึ้นและจะได้ผลผลิตน้อย จะกลับมาทำในพื้นที่เดิมได้จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี