เตาเผาถ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น
เตาเผาถ่าน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านทางภาคอีสาน ชาวอีสานส่วนมากจะเป็นชาวไร่ ชาวสวน ชาวนา หรือเกษตรกรโดยทั่วไป จะนิยมทำเตาเผ่าถ่านเพื่อเผาถ่านขึ้นมาใช้เองในครัวเรือน หรือจำหน่าย เตาเผาถ่านจะจากดินที่ถูกขุดเป็นหลุมตามขนาดและความต้องการของแต่ละคน ปากหลุมจะนำดินเหนียวมาปั้นให้เป็นรูปโดม เพื่อเป็นห้องสำหรับเผาถ่าน เปิดปล่องด้านหน้าเพื่อใส่ไม้สำหรับเผาถ่าน และฝั่งตรงข้ามจะทำปล่องไฟสำหรับระบายกลุ่มควันไฟ
ชาวบ้านจะตัดต้นไม้ หรือหาเศษไม้ตามหัวไร่ปลายนาหรือแหล่งต่างๆ ตัดเป็นท่อนๆใสลงไปในหลุมหรือจนเต็มหลังคาโดมที่ทำจากดิน ใส่แกลบและเศษไม้เล็กๆเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการเผาทิ้งไว้จนแน่ใจว่าไม้ในหลุมติดไฟพอสมควร จึงนำดินเหนียวปิดปากหลุม ทิ้งไว้ ประมาณ ๓-๗ วัน ไม้จะถูกเผาจนกลายเป็นถ่าน และยังมีรูปร่างท่อนไม้แข็งอยู่ไม่แตกหรือหักง่าย สามารถเก็บไว้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มต่อไป หรือหากมีจำนวนมากก็จะแบ่งไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ เนื่องจากแทบทุกหลังคาเรือยังคงใช้ถ่านในการหุงต้ม ประกอบอาหาร หรืออื่นๆตามการงาน แทนการใช้ฟื้นและเตาแก๊ส