ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 16' 18.0001"
19.2716667
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 58' 12"
99.9700000
เลขที่ : 182772
อำเภอภูกามยาว
เสนอโดย cat วันที่ 7 มีนาคม 2556
อนุมัติโดย พะเยา วันที่ 18 มีนาคม 2556
จังหวัด : พะเยา
0 1933
รายละเอียด

ภูกามยาว” เป็นเป็นชื่อเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอดีตที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ภายหลังถูกเรียกขานใหม่ว่า “เมืองพะเยา

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยาขึ้น โดยแยกจากจังหวัดเชียงราย แต่เนื่องจากอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีอาณาเขตที่กว้างขวาง พลเมืองมีมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ และท้องที่โดยทั่ว ๆ ไปมีแนวโน้มจะเจริญและ มีการขยายตัวในอีกหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการปกครอง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กระทรวงมหาดไทยจึงออกประกาศกระทรวง แบ่งพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง โดยตั้งชื่อว่า “กิ่งอำเภอภูกามยาว” ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ต่อมา อำเภอภูกามยาวได้รับการจัดตั้งเปลี่ยนสถานะจาก กิ่งอำเภอภูกามยาว เป็นอำเภอภูกามยาวเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยมีนายเด็ดดวง อนุกูล ดำรงตำแหน่งนายอำเภอภูกามยาว

อำเภอภูกามยาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ ๑๓๓,๐๑๙ ไร่ ห่างจากตัวจังหวัด ๑๖ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้คือ

ทิศเหนือ ติด อำเภอป่าแดด จ.เชียงราย

ทิศใต้ ติด อำเภอเมืองพะเยา

ทิศตะวันตก ติด อำเภอเมืองพะเยา

ทิศตะวันออก ติด อำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา

ข้อมูลท้องถิ่นมีเขตการปกครอง ๓ ตำบล ประกอบด้วย (๑) ตำบลห้วยแก้ว (๒) ตำบลดงเจน และ (๓) ตำบล แม่อิง มีหมู่บ้านทั้งหมด ๓๓ หมู่บ้าน ๖,๗๗๘ หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด ๒๓,๖๒๗ คน เป็นหญิง ๑๑,๙๕๘ คน เป็นชาย ๑๑,๖๖๙ คน

ในการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล ๓ แห่ง ได้แก่ (๑) องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว (๒) องค์การบริหารส่วนตำบลดงเจน (๓) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อิง และเทศบาลตำบลอีก ๑ แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลดงเจน

ที่ว่าการอำเภอภูกามยาว ในระยะแรกใช้อาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนบ้านเจน (เจนจันทรานุกูล) เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว ส่วนราชการที่มาร่วมใช้สถานที่หลายหน่วยงานด้วยกัน และบางส่วนราชการที่ใช้สถานที่ข้างนอก เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ใช้สถานที่ของสถานีอนามัยบ้านเจนเป็นที่ทำการ ในส่วนของการก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอภูกามยาวนั้น ได้กำหนดใช้พื้นที่บริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำร่องติ้ว หมู่ที่ ๓ ต.ห้วยแก้ว เป็นสถานที่สร้างอาคารที่ว่าการอำเภอภูกามยาว

สถานการณ์ปัจจุบันของอำเภอภูกามยาวนั้น มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจอันจะนำไปเป็นประเด็นในการพิจารณาหาแนวทางพัฒนาอำเภอต่อไปซึ่งจะนำเสนอใน ๔ ด้านด้วยกันคือ

- ด้านเศรษฐกิจ

- ด้านสังคม

- ด้านคุณธรรมและจริยธรรม

- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านเศรษฐกิจ

ส่วนใหญ่ประชากรมีอาชีพทำนา ซึ่งร้อยละ ๙๒ ของพื้นที่ทางการเกษตรเป็นนาข้าวทั้งสิ้น แต่ปัญหาที่ประสบมีหลายประการด้วยกัน ปัญหาภัยธรรมชาติ ได้แก่ การระบาดของหนอนกระทู้คอรวงข้าว ซึ่งทำความเสียหายให้กิ่งอำเภอภูกามยาว ๔,๙๗๕ ไร่ นอกจากนั้นเกษตรกรประมาณ ๑,๐๐๐ ครอบครัว ยังประสบปัญหาน้ำท่วมและนาข้าวเสียหายถึง ๙ พันไร่เศษ (ข้อมูลในปี ๒๕๔๐) ปัญหาที่ตามมาคือ เกษตรกรอยู่ในสภาพมีหนี้สินมากกว่าเดิม ในด้านของผลผลิตนั้น คุณภาพของข้าวขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ และหากจะเพิ่มผลผลิตก็ต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำด้วย ปัจจุบันแหล่งน้ำมาจากน้ำแม่อิง และอ่างเก็บน้ำ ๔ แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำร่องปอ, ร่องติ้ว, ห้วยบง, และห้วยแก้ว แต่ก็ต้องรอฟ้ารอฝน ซึ่งคงจะไม่เพียงพอเสียแล้ว การเพิ่มผลผลิตของผืนนา แถบนี้คงต้องคำนึงถึงระบบชลประทานเพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตามในด้านเศรษฐกิจนี้ อำเภอภูกามยาวได้แก้ไขไปบางส่วนแล้ว เช่น ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร การส่งเสริมการประหยัดโดยส่งเสริมสนับสนุนให้ปลูกพืชผักสวนครัว ข้างถนน ในกระถาง และ รั้วกินได้ แก้ไขปัญหาศัตรูพืชและของบประมาณช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยธรรมชาติ

ด้านสังคม

สถานการณ์ ที่บ่งชี้ได้ชัดเจน คงจะไม่พ้นเรื่องของยาเสพติด และปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งยาเสพติดนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า มีแนวโน้มแผ่ขยายเข้าไปในสถานศึกษามากขึ้น เนื่องจากสถาบันครอบครัวอ่อนแอ ขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ มีการดำรงชีวิตแบบไม่มีแนวทางทำให้บุตรหลานหลงใหล ในสิ่งเสพติดและก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นโจรกรรม และอาชญากรรม เป็นต้น

ด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนมีการดำรงชีวิต ไปตามกระแสวัตถุเชิงบริโภคสูง ขาดความรู้ในการดำเนินวิถีชีวิต ตามหลักศาสนาที่แท้จริง คือนับถือศาสนาแต่ลุ่มหลงในอบายมุขอยู่มากมาย นอกจากนี้พระสงฆ์ที่มีความรู้เข้าใจในหลักธรรมที่แท้จริง ที่จะสั่งสอนอบรมประชาชน ให้เข้าถึงหลักธรรมของศาสนา นั้นมีน้อย ดังนั้น กิ่งอำเภอภูกามยาวมีแผนจะรื้อฟื้นและพัฒนาอุดมการณ์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้สถาบันศาสนา สถาบันราชการ และสถาบันสังคมอื่น ๆ เข้มแข็งขึ้น

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

พื้นที่ป่าไม้ของอำเภอภูกามยาว ปัจจุบันได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เช่น ป่าแม่ร่องปอ ป่าห้วยแก้ว และป่าแม่อิงฝั่งซ้าย มีเนื้อที่ ๗๕,๔๕๐ ไร่ สภาพปัญหาของพื้นที่ป่าไม้ คือ เป็นป่าผลัดใบ ชนิดป่าเต็งรังขนาดเล็ก ดินส่วนมากเป็นดินลูกรัง ความอุดมสมบูรณ์หน้าดินมีน้อย ป่าแห่งนี้อยู่ใกล้ชุมชนมีความล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายป่า เพื่อเอาไม้ไปทำฟืนและเผาถ่าน นอกจากนั้น ความต้องการใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรยังมีเป็นจำนวนมาก และยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นประจำ นอกจากนี้ ป่าเต็งรังจะมีการผลัดใบในฤดูแล้ง ทำให้ง่ายต่อการถูกเผา และจะปรากฏไฟไหม้ป่าเป็นประจำ ทำให้อากาศแห้งแล้งร้อนอบอ้าว มีหมอกควันปกคลุม หน้าฝนจะมีน้ำหลาก หน้าแล้งจะขาดน้ำใช้ในการเกษตร

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสบอยู่อีกปัญหาหนึ่ง คือ เรื่องของขยะ ปัจจุบันปริมาณขยะมีเพิ่มมากขึ้น อำเภอภูกามยาวได้จัดสถานที่สำหรับทิ้งขยะไว้ แต่เป็นพื้นที่ที่อยู่ใสบริเวณค่อนข้างสูง มีโอกาสที่ฝนจะชะเอาความสกปรกลงอยู่ ชุมชนได้ อีกทั้งการกำจัดขยะก็ยังไม่ถูกต้อง ประกอบกับขยะส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้เกิดมลภาวะได้โดยง่าย

ในเรื่องนี้ อ.ภูกามยาว ได้มีความพยายามในการปลูกสร้างและรักษาป่าชุมชนบริเวณ พระธาตุดอกจุก พระธาตุภูขวาง อ่างเก็บน้ำ ต้นน้ำลำธาร ป่าสงวน เป็นต้น และ ยังรนณรงค์ในเรื่องการรักษาความสะอาดบริเวณแหล่งชุมชน ซึ่งต่อไปจะได้รณรงค์ในเรื่องการลดปริมาณขยะพลาสติกอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันของอำเภอภูกามยาว และปัญหาในด้านหนึ่ง ก็จะมีผลกระทบและส่งผลต่อปัญหาด้านอื่นๆ อย่างเชื่อมโยงไม่รู้จบสิ้น แต่ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมแก้ไขได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ว่าบ้าน วัด หรือ ราชการ ถ้าต่างรู้จักรักสามัคคี เปลี่ยนการปกครองให้เป็นการประสานความเป็นธรรม ก็จะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนได้

บ่อเกิดภูกามยาว

แว่นแคว้นพะเยานั้น แรกเริ่มเดิมทีพ่อขุนเงินหรือราวเงินเรือง ในราชกุลลวจังคราช ผู้ครองเมืองหิรัญเงินยาง-เชียงแสน มีพระโอรส ๒ พระองค์ทรงเจริญเติบโตและศึกษาศิลปะวิทยาการด้วยกัน เมื่อขุนจอมธรรมมีพระชนม์มายุได้ ๒๕ พรรษา พ่อขุนเงินทรงพิจารณาเห็นว่า พระโอรสของพระองค์ทรงเจริญเติบโตใหญ่เจริญวัยเช่นนี้ ถ้าจะให้ประทับอยู่ในเมืองเดียวกัน ภายหลังเกรงว่าจะเกิดการพิพาทแย่งชิงราชบัลลังกัน ดังนั้นสมควรให้แยกจากกัน จึงทรงออกพระราชกุศโลบาย โดยแบ่งราชสมบัติออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งทรงมอบให้ขุนชินพระโอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองหิรัญเงินยาง อีกส่วนหนึ่งทรงมอบให้ขุนจอมธรรมพระโอรสองค์เล็กไปครองหัวเมืองฝ่ายใต้ตั้งอยู่ที่ภูเขาชมพูหรือดอยด้วนซึ่งลาดลงสู่แม่น้ำสายตา ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๗๑๑ ทรงทราบว่าเมืองภูกามยาวนี้ในอดีตเคยเป็นเมืองซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่รกร้างไปเป็นเวลานานพ่อขุนเงินและขุนจอมธรรม จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์ราชบริพารไปตรวจดูก็เห็นว่าเป็นสัณฐานอันงดงามเป็นสถานที่อันเป็นสิริมงคล คือตัวเมืองอยู่บนเนิน และมีสัณฐานลาดต่ำไปยังทิศตะวันออก ส่วนทางตะวันตกมีสระน้ำ กว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์รู้สึกพอพระราชหฤทัย จึงทรงรับสั่งให้ลงมือแผ้วถางขุดค้นหาตัวเมืองเก่า เมื่อพบแล้วก็ทรงลงมือก่อสร้างหอโรงทำการงานเมือง และที่อยู่อาศัยจนถึง พ.ศ.๑๗๑๗ จึงก่อสร้างกำแพงเมืองขึ้นพร้อมประตูเมืองได้แก่ ประตูหอกลอง ประตูปราสาท ประตูท่านาง ประตูกาดเหล้า ประตูเหล็ก ประตูท่าแป้น ประตูชัย และประตูออมหรือออมปอม ปัจจุบันเรียกว่า ประตูยี่ รวม ๘ ประตูด้วยกัน

ขุนจอมธรรมทรงปรึกษาพ่อขุนเงินพระราชบิดา ถึงเขตแคว้นแดนเมืองพะเยา จึงทรงกำหนดเขตเมืองขึ้น มี เมืองลอ เมืองเทิง เมืองเชียงแสน เมืองคอมจะลาว เมืองออย แจ้เหียง หนองขวาง แจ้หลวง แจ้ห่ม เมืองวัง ทิศเหนือและทิศตะวันออกจดแดนขรนคร คือเชียงของ เมื่อกำหนดเขตแดนเมืองแล้ว ได้ทรงกำหนดเขตพันนา (เขตตำบล) ในพงศาวดารโยนกและหนังสือชาติไทยบอกตรงกันส่วนใหญ่ หนังสือตำนานเจือบอกไว้ว่ามี ๑๓ พันนา

๑. พันนาสิน มีบ้านปอ บ้านกว้าน บ้านทุ่ง บ้านม่วงคำ บ้านเคน บ้านเรียน ฯลฯ

๒. พันนาแดง มีบ้านถ้ำ บ้านกอง บ้าชะนาด บ้านดง บ้านไก่เถื่อน บ้านปิน บ้านตากล้า ฯลฯ

๓. พันนาโคกหลวง มีบ้าร่องช้าง บ้าฝายยาย บ้านน้อย บ้านสวนหลวง บ้านหมก บ้านคำใต้ บ้านจ่านา ฯลฯ

๔. พันนาพืม (ปืม) มีบ้านลุง บ้านท้ง บ้านได บ้าคา บ้านมุด บ้านหม้อย บ้านป่าท่าไชย

๕. พันนาลา-พันนาม่วง มีบ้านถี่ล้อม บ้านโป่ง บ้านเอี่ยน บ้านดอน บ้านเหม้า บ้านแม่ไชย บ้านทราย ฯลฯ

๖. พันนาจัน มีบ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสวนหลวง บ้านสันดอนมูล ฯลฯ

๗. พันนาแปง มีบ้านรอด บ้านโซ้ บ้านร่องคำ บ้านโท่ง บ้านป่าจ่ำ บ้านแม่ใส บ้านสันช้างหิน ฯลฯ

๘. พันนาคม มีบ้านนาปอย บ้านแม่กา บ้านต้นหนุน บ้านท่า บ้านจำป่าหวาย บ้านจำท่าเหิน บ้านร่องขิว (ร่องขุย)

๙. พันนางึม มีบ้านชำหมากชุมพู บ้านห้วยหมิ้ว บ้านศรีกอเคล้า บ้านเหล่า บ้านหาดได บ้านร่องแหย่ง บ้านหนอง ฯลฯ

ทางทิศตะวันนออกของพันนางึม ท้าวก็ทรงให้ตั้งพันนาเพิ่มขึ้นอีก ๔ พันนา ได้แก่

๑๐. พันนาแขก มีบ้านกอง บ้านแหวน บ้านอ้อย บ้านพง บ้านฟ้าช่ำ บ้านอำเภอ บ้านโรงช้าง ฯลฯ

๑๑. พันนาหวาย มีบ้านเขี้ยน บ้านห้วยคมคำ บ้านทุ่งปง บ้านงิ้วงาม บ้านขาม บ้านดง ฯลฯ

๑๒. พันนาหลัง มีบ้านพูยาง บ้านสีไข่มด บ้านศรีชีเชิง บ้านตาลถ้อย บ้าพูแกงน้อย บ้านพูแกงหลวง บ้านแช่พาน ฯลฯ

๑๓. พันนาเริน มีบ้านดอนไชย บ้านแม่คาว บ้านป่าหุ่ง บ้านผาแดง บ้าเหมี้ยง บ้านปอ บ้านสาลา ฯลฯ

การเพิ่มพันนาของหมู่บ้านใหญ่ พ่อขุนจอมธรรมทรงกำหนดเอาจำนวนหลังคาเรือนเป็นหลัก เมื่อรวมหลังคาเรือนแล้วก็แบ่งจำนวน ๕ หลังคาเรือน เป็นเส้นฎ็การ และพันฎ็การให้เป็นพันนาหนึ่งแล

พันแขก ให้นายสุดทีปเป็นแก่ (แก่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน)

พันนาหวาย ให้นายพายสาร (ไพศาล) เป็นแก่

พันนาหลัง ให้นายภานเป็นแก่

พันนาเริน ให้นายบานเป็นแก่

พันนาทั้ง ๔ ได้ส่งส่วนแก่ขุนจอมธรรมทั้งสิ้นแล ไพร่ฟ้าใน ๔ พันนานี้ย่อมทำราชการให้คุ้มพระยาเจ้ามิให้ขาดแลฯ

หมวดหมู่
อื่นๆ
สถานที่ตั้ง
ที่ว่าการอำเภอภูกามยาว
เลขที่ 37 หมู่ที่/หมู่บ้าน หมู่ 17 ถนน พะเยา - ป่าแดด
ตำบล ห้วยแก้ว อำเภอ ภูกามยาว จังหวัด พะเยา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ที่ว่าการอำเภอภูกามยาว
บุคคลอ้างอิง นางอนุสรา โสตถิกุล อีเมล์ anusara100@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอภูกามยาว
เลขที่ 37 หมู่ที่/หมู่บ้าน หมู่ 17 ถนน พะเยา - ป่าแดด
ตำบล ห้วยแก้ว อำเภอ ภูกามยาว จังหวัด พะเยา รหัสไปรษณีย์ 56000
โทรศัพท์ 081 8741845
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่