(๒๒๖) ๏ เอนหลังฟังดอกสร้อย สักระวา
ร้องรับขับเสภา เพื่อนพร้อม
ลำนำคร่ำครวนหา หวนเอก วิเวกเอย
ผอยหลับรับเสียงซ้อม เสนาะน้ำคำครวนฯ
(๒๒๗) ๏ หยุดเรือเหนือวัดเงื้อม เงาโพ
รื่นร่มรมยศุกโข ค่างคุ้ง
วัดมีที่พระอุโบ สดที่ กุดีแฮ
เหนพระศรทาหมุ้ง มั่นสร้างทางบุญฯ
(๒๒๘) ๏ จัดแจงแต่งตบะเหลื้อม ลายทอง
เทียรทูบท่วยแก้วรอง ดอกไม้
ลูกพลับกับกระเทียมดอง ถวายคนะ พระเอย
ย่ามร่มสมภารได้ รับพร้อมน้อมถวายฯ
(๒๒๙) ๏ ตวันเยนเหบพระพร้อม ล้อมวง
ตีปะเตะตะกร้อตรง คู่โต้
สมภารท่านก็ลง เล่นสนุก ขลุกแฮ
เข่าค่างต่างอวดโอ้ อกให้ใจหายฯ
(๒๓๐) ๏ อยุดกระกร้อฬ่อไก่ตั้ง ตีอัน
ผ้าพาดบาดเหล็กพนัน เหน็บรั้ง
ไก่แพ้แร่ขบฟัน ฟัดอุบ ทุบเอย
เจ้าวัดตัดเรือตั้ง แต่งเหล้นเยนใจฯ
สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ และเดินทางไปเมืองสุพรรณโดยทางเรือ วัตถุประสงค์ในการเดินทางคือเพื่อหาแร่ชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาแปรธาตุชนิดอื่นได้ ซึ่งเรียกกันว่า "เล่นแร่แปรธาตุ"
นิราศสุพรรณนี้เป็นเพียงร้อยกรองเรื่องเดียวของท่านที่แต่งเป็นโคลง ทำนองจะลบคำสบประมาทว่าท่านแต่งได้แต่เพียงกลอน ในนิราศเรื่องนี้ เราจะพบท่านสุนทรภู่แต่งโคลงกลบทไว้หลายต่อหลายรูปแบบ และโคลงที่มีสัมผัสในเหมือนอย่างกลอนที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ท่านสุนทรภู่ใช้คำเอกโทษ โทโทษ เปลืองที่สุด ด้วยหมายจะคงความหมายดังที่ต้องการ ส่วนการรักษารูปโคลงเป็นเพียงเรื่องรอง ทำให้ได้รสชาติในการอ่านโคลงไปอีกแบบหนึ่ง เพราะต้องเดาด้วยว่าท่านต้องการจะเขียนคำว่าอะไร