“โป๊ยเซียน”(八仙) เป็นการออกเสียงในสำเนียงแต้จิ๋วที่คนไทยคุ้นเคยกัน แต่ถ้าเป็นสำเนียงจีนกลางจะออกเสียงว่า “ปาเซียน”คำว่า “ปา” (โป๊ย) หมายถึงเลข ๘ ส่วน คำว่า “เซียน”ก็คือผู้วิเศษตามความเชื่อของจีน
คติความเชื่อเรื่องโป๊ยเซียนเป็นความเชื่อของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นกลุ่มเทพเจ้าที่นิยมนับรวมกันทั้ง ๘ องค์ ดูจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน สัญลักษณ์ของโป๊ยเซียนจะมีความหมายถึง “ความสุข ความโชคดี และขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาว”
สำหรับในวัฒนธรรมจีนแล้ว ภาพวาดและงานศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับ “โป๊ยเซียน” (八仙图) และ “โป๊ยเซียนข้ามทะเล” (八仙过海) ดังนั้น เมื่อเห็นภาพโป๊ยเซียน ณ ที่ใด นั้นก็คือสัญลักษณ์แทนความหมายถึงการอวยพรให้ท่านสุขสมหวังในชีวิต และมีอายุมั่นขวัญยืน
ตำนานเกี่ยวกับโป๊ยเซียนนั้นมีอยู่หลายตำนาน แต่ละยุคแต่ละสมัยก็แตกต่างกันออกไป บันทึกเก่าแก่เกี่ยวกับโป๊ยเซียนว่ากันว่า มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก หรือ ซีฮั่น มีปรากฏอยู่ในบทบันทึก “หวายหนานจื่อ” (潍南子) ของหลิวอัน (刘安) และเรียกเซียนทั้งแปดว่า “ปากง”(八公) ซึ่งเป็นเทพเซียนที่มุ่งแสวงหายาอายุวัฒนะ และได้บำเพ็ญเพียรจนกระทั้งสำเร็จกลายเป็นเซียน
บันทึก “ซวี่เซียนจ้วน”(续仙传)ของเสิ่นเฟิ่น (沈汾) สมัยหนานถัง รวมทั้งบทบันทึก “หนานถังซู” (南唐书)ของลู่อิ๋ว (陆游)ต่างก็มีข้อความเล่าเรื่องโป๊ยเซียน ในสมัย ๕ ราชวงศ์ หรือ อู่ไต้ มีปรากฏภาพวาดของนักพรตจิตรกรผู้เขียนภาพชื่อ “แปดเซียนแห่งภูเขาลู่ซาน”(蜀中八仙) ซึ่งบุคคลในภาพแม้เรียกว่าแปดเซียน (โป๊ยเซียน) แต่ทว่า กลับมีชื่อเสียงเรียงนามไม่เหมือนกับโป๊ยเซียนในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี ชื่อของโป๊ยเซียนในสมัยห้าราชวงศ์นั้นได้แก่ หยงเฉิงกง (容成公) ,หลีเอ่อ (李耳),ต่งจ้งซู (董仲舒) ,จางเต้าหลิง (张道陵) ,เอี๋ยนจวินผิง (严君平),หลี่ปาไป่ (李八百) ,ฟั่นฉางเซิง (范长生) และ จูเซียนเซิง (朱先生)
จวบจนกระทั้งถึงสมัยราชวงศ์หมิง อู๋หยวนไท้(吴元泰) ได้ประพันธ์บันทึกตำนานเรียกว่า “แปดเซียนออกท่องทะเลตะวันออก”(八仙出处东游记) เรียกกันย่อ ๆ ว่า “ท่องตะวันออก” (东游记) ทำให้นับตั้งแต่นั้นมา ชื่อของเซียนทั้งแปด (โป๊ยเซียน) ถึงได้บทสรุปที่ตรงกันกับคำเรียกในทุกวันนี้และยังได้สืบทอดต่อ ๆ กันมากว่า ๕๐๐ ปี โดยได้ยึดเอาแบบฉบับชื่อเรียกของโป๊ยเซียนตามแบบของอู๋หยวนไท้เป็นบรรทัดฐานสืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน