ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 14' 1.0997"
14.2336388
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 2' 4.263"
100.0345175
เลขที่ : 18524
ตำนานอำเภอสองพี่น้องและบางแม่หม้าย
เสนอโดย ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554
อนุมัติโดย virach วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554
จังหวัด : สุพรรณบุรี
1 1446
รายละเอียด
มีชายหนุ่มสองคนบ้านอยู่บริเวณอำเภอเก่า (บริเวณที่ตั้งอำเภอสองพี่น้องเดิม ก่อนย้ายมาที่ปัจจุบัน) กำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ด้วยความอุตสาหะ จึงสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวมีฐานะที่ดีในแถวบ้านย่านนั้น มีความประพฤติเรียบร้อย มีน้ำใจต่อเพื่อนบ้าน ใจบุญสุนทาน บริจาคทรัพย์และช่วยเหลือผู้ยากไร้อยู่เนื่อง ๆ เป็นที่รักใคร่ของบรรดาญาติมิตรและชาวบ้านทั่วไป เมื่อผู้พี่ได้บวชเรียนแล้ว ได้พบรักสาวสวยที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง จึงส่งผู้หลักผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามธรรมเนียมประเพณี ฝ่ายเจ้าบ่าวได้จัดสินสอดทองหมั้น ขันหมาก บอกญาติและมิตรสหาย ตระเตรียมงานเป็นอย่างดี เมื่อถึงวันแต่งงาน คณะของว่าที่เจ้าบ่าว น้องชาย ญาติและมิตรสหาย พร้อมวงมโหรีที่นิยมใช้บรรเลงในพิธีการแต่งงานในครั้งก่อน ก็ลงเรือเอี่ยมจุ๊น เรือแล่นไปตามลำคลองสองพี่น้องและไปออกปากคลองที่บรรจบแม่น้ำท่าจีน และแล่นทวนน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือมุ่งสู่บ้านเจ้าสาว จากปากคลองเมื่อเรือแล่นมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง นักดนตรีวงมโหรีและบรรดาแขกเหรื่อในเรือเริ่มได้ที่กับฤทธิ์สุรา นักดนตรีสีซออย่างสนุกสนาน ขับกล่อมให้บรรดาแขกที่มาได้ร้องและฟ้อนรำตามเพลงไปด้วยอย่างครึกครื้น ทุกคนสรวลเสเฮฮา ไม่มีใครในเรือจะได้คาดคิดถึงเหตุการณ์ข้างหน้าว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น เบื้องหน้าเป็นคุ้งน้ำขนาดใหญ่เนื่องจากถูกกระแสน้ำกัดเซาะ สายน้ำต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการไหลเกือบเก้าสิบองศา เนื่องจากขณะนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำจึงไหลเชี่ยวแรงกว่าปกติ บรรดาฝีพาย ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่แจวให้เรือแล่นไปข้างหน้าอย่างไม่ได้อ่อนล้า แจวไปดื่มไปร้องรำทำเพลงกันไปอย่างมีความสุข ทุกคนชื่นมื่น ขณะที่เรือแล่นมาถึงคุ้งน้ำแห่งนั้น ตรงบริเวณที่กระแสน้ำพุ่งตรงก่อนหักเลี้ยว ก็เกิดคลื่นลมแรงพัดกระหน่ำเข้าใส่เรือบวกกับกระแสน้ำที่เชี่ยวแรง บรรดาฝีพายที่ไม่ได้ทันตั้งตัวไม่สามารถบังคับเรือได้อีกต่อไป เรือถูกแรงลมและกระแสคลื่นพัดกระหน่ำและอับปางลงกลางแม่น้ำอย่างรวดเร็ว ทุกชีวิตในเรือลืมเรื่องต่าง ๆ เสียสิ้น ต่างกระเสือกกระสนว่ายน้ำเข้าฝั่ง ชาวบ้านที่อยู่บริเวณข้างเคียงที่ประสบเหตุการณ์ก็ได้นำเรือเข้ามาช่วยแหลือรับผู้คนที่ลอยคอบ้าง ว่ายน้ำบ้าง ในกลางลำน้ำ บางคนก็ใกล้จะหมดแรงเนื่องจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มได้สติกับความตกใจกันบ้างแล้ว ก็ร้องถามหาเจ้าบ่าว น้องชาย และญาติมิตรคนนั้นคนนี้อย่างโกลาหล และงานมงคลที่ทุกคนเปี่ยมปิติเมื่อก่อนหน้าสักครู่ก็ได้กลายเป็นเสียงร้องไห้ คร่ำครวญกันระงม มีหลายคนที่มาด้วยไม่เห็นหน้า และรวมไปถึงสองพี่น้องก็ได้สูญหายไปด้วย ข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการพูดปากต่อ ๆ ออกไปจนถึงบ้านเจ้าสาว ที่เตรียมงานใหญ่โตเพื่อรับขันหมาก ญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ในงานต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ว่าที่เจ้าสาวร้องไห้เสียใจจนหมดสติ ต้องกลายเป็นหม้ายขันหมาก เรื่องราวโศกนาฏกรรมได้กล่าวขานเล่าต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนกลายเป็นตำนานรักรันทดที่ยิ่งใหญ่ และชาวบ้านก็ได้ระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เกี่ยวข้อง หมู่บ้านที่พี่น้องสองคนตั้งหลักแหล่งอยู่ ได้รับขนานนามว่า หมู่บ้าน “สองพี่น้อง” ที่หมู่บ้านนี้มีวัดหนึ่งแห่ง ชื่อว่า "วัดสองพี่น้อง" สร้างอยู่ติดลำคลอง หมู่บ้านบริเวณที่นักดนตรีบรรเลงซอในวงมโหรีอย่างได้อารมณ์ ได้รับขนานนามว่า หมู่บ้าน “บางซอ” ที่นี่มีวัดหนึ่งแห่งชื่อวัดบางซอ ตลาดน้ำขนาดใหญ่ชื่อตลาดบางซอ และมีโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง คือโรงเรียนสองพี่น้องวิทยา เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นนักเรียน ผมต้องนั่งเรือเมล์ล่องไปตามลำน้ำท่าจีนเพื่อไปโรงเรียน ต้องผ่านคุ้งน้ำและหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ถัดขึ้นมาประมาณ ๓ กิโลเมตร (ทางทิศเหนือสวนกระแสน้ำ) บริเวณนี้นักดนตรีบรรเลงถึงอารมณ์เป็นที่สนุกสนานของแขกเหรื่อที่ร่วมชะตากรรม ได้รับขนานนามว่า หมู่บ้าน “สีสนุก” ถัดขึ้นมาอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณคุ้งน้ำที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม หมู่บ้านนี้ ได้รับการขนานนามว่า “บ้านสำเภาทะลาย” ณ บริเวณคุ้งน้ำนี้ มีวัดแห่งหนึ่งชื่อ “วัดสำเภาทะลาย” ในเวลาต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านสำเภาทอง” จนถึงปัจจุบัน แต่คนรุ่นพ่อย่าตายายก็จะมักคุ้นอยู่กับชื่อเดิม หมู่บ้านสุดท้ายคือหมู่บ้านของว่าที่เจ้าสาวที่เป็นหม้ายขันหมาก หมู่บ้านนี้ ได้รับการขนานนามว่า “บางแม่หม้าย” ตราบจนเดี๋ยวนี้ ปัจจุบัน หมู่บ้าน “บางแม่หม้าย” อยู่ในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า เป็นรอยต่อกับตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีวัด ๓ วัด ได้แก่ วัดอาน อยู่ในทุ่ง ห่างจากแม่น้ำท่าจีนประมาณหนึ่งกิโลเมตร แต่ก็อยู่ใกล้เคียงกับลำคลองที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำท่าจีน วัดอานเป็นวัดร้างมานาน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาแต่สมัยอยุธยา มีอุโบสถและพระพุทธปฏิมาเก่าแก่ที่ถูกปล่อยร้างไปตามกาลเวลา แต่ชาวบ้านก็ยังคงร่วมกันดูแลมาอย่างต่อเนื่อง และได้บูรณะพระอุโบสถ สร้างศาลาคล้าย ๆ ศาลาการเปรียญ หลวงพ่อวัดอานเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในหมู่บ้านและประชาชนทั่วไป มีผู้มาสักการะสม่ำเสมอ ชาวบ้านร่วมใจกันจัดงานทำบุญปิดทองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี อีกวัดหนึ่งชื่อวัด “บางแม่หม้าย” สร้างอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ถัดไปทางเหนือของแม่น้ำสักเล็กน้อย มีตลาดโบราณขนาดพอสมควรติดริมน้ำเช่นกัน เมื่อ 30 ปีก่อนขึ้นไป ตลาดแห่งนี้มีชีวิต คึกคักไปด้วยผู้คน ที่มาจับจ่ายใช้สอย ก็เป็นร่องรอยของอดีตที่น่าศึกษาครับ ใต้วัดบางแม่หม้ายลงมาตามลำน้ำ มีวัดอีกแห่งหนึ่งชื่อ “วัดท่าเจริญ” พื้นที่ติดต่อกันกับวัดบางแม่หม้าย แต่วัดท่าเจริญอยู่คนละอำเภอ คืออยู่ในเขตตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง
สถานที่ตั้ง
อำเภอสองพี่น้อง,บางแม่หม้าย
ตำบล สองพี่น้อง อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
บุคคลอ้างอิง ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ อีเมล์ panloa1@hotmail.com
ถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบล สนามชัย อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์ 035-536058 โทรสาร 035-536045
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่