พระทองสุก หรือที่ชาวบ้านตำบลสองคอน เรียกกันว่า “หลวงพ่อสุก” ประดิษฐาน ณ วัดสองคอนใต้ ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี “หลวงพ่อทองสุก” นี้ มีพุทธลักษณะอย่างพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนล้านช้าง ขนาด หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร สูง ๘๖.๕ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานเขียงเตี้ยๆ ปางมารวิชัย มีพระวรกายสมส่วน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นวงโค้ง พระเนตรเหลือบลงต่ำ สันพระนาสิกโด่ง ปลายพระนาสิกแคบเล็ก พระโอษฐ์รูปกระจับแคบ พระศอเป็นปล้อง พระกรรณยาวโค้งออก พระศกแบบก้นหอย เกตุมาลาใหญ่ รัศมีทรงดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉวียงบ่า ปลายสังฆาฏิเป็นแบบเขี้ยวตะขาบอยู่ระดับพระอุระ
พระทองสุก เป็นพระพุทธรูปที่ชาวตำบลสองคอน เคารพสักการะ ตลอดจนถึงผู้นำของประเทศลาว เจ้าสุวรรณภูมา ได้เคยเดินทางไปนมัสการ ”หลวงพ่อทองสุก” ถึงวัดสองคอนใต้ ในวันสงกรานต์ทุกปีชาวตำบลสองคอนจะอัญเชิญ หลวงพ่อทองสุก ลงแคร่ไม้ออกแห่ไปทางทิศเหนือ เพื่อให้ชาวบ้านกราบสักการะ โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ประวัติ
พระทองสุก เดิมประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถพระอารามน้อยวังสีทา ซึ่งเป็นวังสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อครั้งที่จะสร้างเมืองหลวงสำรอง พระองค์ได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทร์ เมื่อพระองค์สวรรคตลงในปี พ.ศ.๒๔๐๘ วังสีทาได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง ชาวบ้านได้อัญเชิญพระทองสุกมาประดิษฐานที่วัดสองคอนใต้ ดังปรากฏในบันทึกของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ที่ท้องที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ๒๕ มกราคม พ. ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงกล่าวถึงพระพุทธรูปวัดสองคอนใต้ ไว้ตอนหนึ่งว่า “ในอุโบสถนั้นเป็นที่ไว้พระพุทธรูป หล่อหน้าตักราวเศษศอก ที่ชาวตำบลนี้มีความนิยมนับถือนัก พระพุทธรูปองค์นี้ มีประวัติดังที่ได้ทราบมาว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้เชิญมาจากเวียงจันทร์ ประดิษฐานไว้ที่วัดข้างพระราชฐาน ตำบลบ้านวังสีทา ที่ทรงขึ้นไว้เป็นที่ประทับแรมอยู่ใต้วัดสองคอนใต้ลงไป หนทางประมาณ ๑๐ นาที ครั้งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ทั้งวัดทั้งพระราชฐานร้าง พวกชาวบ้านสองคอนใต้ จึงเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดสองคอนใต้ จนถึงรัชกาลที่ ๕ หม่อมเจ้าสังวรวรประสาธน์ (หม่อมเจ้าพระชัชวาล) เสด็จขึ้นมาเมืองนี้ เชิญเอาลงไปเสียด้วย พวกชาวบ้านนี้มีความเสียดายมากถึงกับร้องไห้ก็มี เมื่อหม่อมเจ้าสังวรวรประสาธน์ ถึงชีพิตักษัยแล้ว สมเด็จพระมหาสมณได้ทรงรับปลงบริขาร จึงโปรดให้เชิญพระพุทธรูปองค์นี้ กลับขึ้นมาไว้ที่วัดสองคอนใต้ตามเดิม เป็นที่ปีติยินดีของพวกชาวบ้านนี้มาก และอยู่สืบมาจนบัดนี้” (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลกรุงเก่า พ. ศ. ๒๔๕๗ พิมพ์แจกงานฉลองอายุ ๙๐ ปี พระวินัยโสภณ ๒๕๔๓, น. ๑๕)