วัดโพธิ์เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ด้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙
เขตที่ตั้งวัดพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม บริเวณโดยรอบวัดเป็นทุ่งนาและมีบ้านเรือนของประชาชนอยู่โดยรอบแบบกระจายกันอยู่ตามที่นาของแต่ละครอบครัว ติดกับที่ตั้งวัดก็มีโรงเรียนประถมศึกษาอยู่ด้วย วัดโพธิ์มีที่วัดและที่ตั้งวัด
ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๘ ตารางวา
โฉนดที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๓๓
และมีผู้ถวายให้อีก ประมาณ ๒ ไร่
อาณาเขต
ทิศเหนือ จดกับที่ดินโรงเรียนวัดโพธิ์ และถนนพัฒนพงศ์
ทิศใต้ จดกับที่ดินของนางมลฤดี และที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก จดกับที่ดินโรงเรียนวัดโพธิ์ (นาควิทยานุสรณ์)
ทิศตะวันตก จดถนนสาธารณะสายวัดโพธิ์-พระยาทด
ความเป็นมา
วัดโพธิ์สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ โดยมี นายเปี้ย, นายเจ๊ก, นายโม่ง, และนายปัน พร้อมชาวบ้านห้วยบงใต้ที่อยู่บริเวณใกล้วัดในขณะนั้นร่วมกันจัดสร้างเป็นวัดขึ้นในที่ดินว่างเปล่า ซึ่งมีต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์อยู่ ชาวบ้านก็เลยตกลงกันตั้งชื่อว่า “วัดโพธิ์” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดราษฎร์ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙
สาเหตุการตั้งวัดตามคำบอกเล่าต่อกันมา ว่า มีพระธุดงค์รูปหนึ่งในสมัยนั้น เข้าใจว่าชื่อ “เปี้ย”หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อเปี้ย”ซึ่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์มีวิชาอาคม เดินธุดงค์ผ่านมาถึงเห็นเป็นที่ราบรื่นเหมาะแก่การอยู่ธุดงค์และประกอบกับมีต้นโพธิ์อยู่ต้นหนึ่งซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา จึงปักกรดบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ตรงนั้น และชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้อยู่ต่อโดยร่วมกันสร้างเป็นวัดขึ้นให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา จากหลักฐานที่ว่ามีพระธุดงค์ชื่อพระภิกษุเปี้ยนั้น ก็ได้มีชาวบ้านวัดโพธิ์สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิไว้ ต่อมาเจดีย์อัฐิเกิดชำรุดพังลง ก็สร้างขึ้นใหม่เป็นศาลเจ้าที่วัด โดยเรียกชื่อว่า “ศาลหลวงพ่อเปี้ย”ชาววัดโพธิ์และใกล้เคียงนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ชาวบ้านสมัยนั้นก็มี นายเปี้ย, นายเจ๊ก, นายโม่ง, และนายปัน และร่วมกับชาวบ้านที่ทำบุญที่วัดโพธิ์ มีบ้านหนองไฮ บ้านห้วยบงใต้ และบ้านวังงูเห่า เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดขึ้น คนสมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล เริ่มสร้างขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ เดิมนั้นที่ตั้งวัดโพธิ์ชาวบ้านบริเวณนั้นเรียกว่า “บ้านหนองไฮ”แต่ทางราชการเป็นเรียก “บ้านห้วยบงใต้”ปัจจุบันนี้โดยทั่วไปก็เรียกว่า “บ้านวัดโพธิ์”เรียกตามชื่อวัด
อาคารเสานาสนะต่างๆ
อุโบสถกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๔๖๙ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้สัก พื้นปูด้วยหินแกรนิต หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นโบสถ์ประตูเดียว มีกำแพงแก้วรอบสองประตูด้านทิศเหนือกับทิศใต้
กุฏิสงฆ์จำนวน ๒ หลัง ๘ ห้องติดกัน เป็นกุฏิรวม หลังที่ ๑ ทางทิศเหนือเป็นกุฏิเจ้าอาวาสด้วย มีสามห้อง หลังที่ ๒ อยู่ทางทิศตะวันตก มีห้าห้อง สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เสาปูน หลังคามุงกระเบื้อง ยกพื้นสูงชั้นเดียว สร้าง พ.ศ. ๒๕๐๕ และมีหอสวดมนต์อยู่ตรงกลาง
หอสวดมนต์กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๐๕ สร้างด้วยไม้
ศาลาการเปรียญกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๘ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๓๓ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว ปูพื้นกระดาน หลังคามุงกระเบื้องแบบสุโขทัย มีช่อฟ้า ใบระกา มุขหน้าศาลา และมีโรงครัวติดกับตัวศาลาด้านทิศตะวันตกสร้างด้วยไม้
หอระฆัง๒ หลัง หลังเดิมสร้างพร้อมอุโบสถเพราะวัสดุก่อสร้างเป็อิฐแบบเดียวกันกับอุโบสถ ลักษณะฐานล่างใช้อิฐก่อขึ้นไม่มีเสาแขวนระฆังได้ ๑ ลูก และหลังที่ ๒ สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๕ ทรงสูง มีสี่เสาชั้นเดียวสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดแขวนระฆัง ๑ ลูก
ฌาปนสถานเมรุ๑ หลัง สร้างแล้วเสร็จเมื่อ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๖ เตาเผาถ่าน
ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัด สร้าง พ.ศ. ๒๕๓๘ ช่วงบนซุ้มมีพระปางประจำวันเกิดอยู่ทั้งสองด้าน
หอกระจ่ายข่าวสร้าง พ.ศ. ๒๕๓๖
ศาลหลวงพ่อเปี้ยสร้าง พ.ศ. ๒๕๔๔
ศาลาบาตรสร้าง พ.ศ. ๒๕๔๔
ศาลาหน้าไฟสร้าง พ.ศ. ๒๕๔๘
ปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถปางมารวิชัยแบบสุโขทัย ๑ องค์ และพระโมคคัลลาสารีบุตรปางยืน ลงรักปิดทอง