ประวัติความเป็นมา
วัดเทพอุปการาม หรือวัดที่ชาวบ้านในเขตอำเภอบางปะหันโดยทั่ว ๆ ไปรู้จักกันในนามของ วัดตานิม เพราะมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ผู้ที่สร้างวัดนี้คือ "ตานิ่ม ศรีวิลัยลักษณ์" โดยสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2322 จึงเรียกกันว่า "วัดตานิ่ม" ต่อมาการออกเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนไปจึงกลายเป็น "วัดตานิม" เช่นเดียวกับชื่อหมู่บ้าน และตำบลที่วัดตั้งอยู่ วัดเทพอุปการาม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2324
วัดเทพอุปการาม เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 43 ไร่ 2 งาน ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ติดกับที่ดินของชาวบ้าน ส่วนทิศตะวันตกติดกับคลองชลประทาน
วัดเทพอุปการาม หรือวัดตานิม เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต เจ้าอาวาสของวัดทุกรูปเป็นพระที่บวชเรียนมาตั้งแต่หนุ่ม ไม่เคยปรากฏว่ามี "พระอุทาม" (พระที่เคยเป็นฆราวาสที่มีลูกเมียแล้วมาบวช) เป็นเจ้าอาวาสของวัดนี้เลย และเจ้าอาวาสทุกรูป อยู่ในตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี และหลายรูปที่เป็นเจ้าอาวาส มากกว่า 40 ปี นับเป็นความพิเศษของวัดอีกประการหนึ่ง
วัดตานิม หรือวัดเทพอุปการาม เป็นวัดที่มีพระสงฆ์เป็นที่เคารพนับถือของเพื่อนสหธรรมิก และชาวบ้านมาโดยตลอด เช่น เป็นพระอุปัชฌาย์บ้าง เป็นเจ้าคณะตำบลบ้าง จึงมีผู้เคารพนับถือ และรู้จักวัดนี้กันมาก
วัดเทพอุปการาม นอกจากจะมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเจ้าคณะตำบล เป็นพระอุปัชฌาย์บวชเรียนให้แก่กุลบุตรจำนวนมากแล้ว ยังได้ให้บริการด้านอื่น ๆ แก่ชุมชนอีกหลายด้านด้วย เช่น
1. โรงเรียนประถมศึกษา วัดเทพอุปการามได้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษา แม้ปัจจุบันก็ยังเปิดทำการเรียนการสอนอยู่ และทางวัดให้การอนุเคราะห์นักเรียนและโรงเรียนด้านอื่น ๆ อีกบ้างตามสมควร
2. สนามกีฬา พื้นที่ 43ไร่เศษ ของวัดเทพอุปการาม นับว่ากว้างขวางพอสมควร ทางวัดเห็นความสำคัญของการกีฬาและการพัฒนาเยาวชน จึงได้ให้มีการสร้างสนามกีฬาฟุตบอลในที่ดินของวัด และยังได้สนับสนุนการจัดแข่งขันอยู่เสมอ เป็นสนามกีฬาที่มีชื่อเสียงสนามหนึ่งของอำเภอบางปะหัน อีกทั้งยังมีส่วนกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนของตำบลตานิมรักการเล่นกีฬาเพิ่มขึ้น
3. ลานตากข้าว ด้วยชาวตำบลตานิม ส่วนมากมีอาชีพทำนา และการทำนาในปัจจุบันมีการทำนาปรังกันมากมีการใช้เครื่องจักรช่วยในการเก็บเกี่ยว บางครั้ง ข้าวที่เก็บเกี่ยวมามีความชื้นสูง หรือมีฝนตก ชาวบ้านจึงไม่มีลานเพื่อใช้ ตากข้าวหรือ นวดข้าวได้อย่างพอเพียงเหมือนสมัยก่อน ทางวัดจึงได้จัดให้มีการสร้างลานตากข้าวบริการแก่ชาวตำบลตานิม โดยสามารถนำข้าวมาตากที่ลานนี้ได้ นอกจากการให้บริการชุมชนดังกล่าวแล้ว วัดเทพอุปการามยังได้พยายามรักษาต้นไม้ใหญ่ ๆ เก่าแก่ไว้จำนวนมาก จึงทำให้วัดมีความร่มรื่นขึ้น และมีส่วนช่วยสร้างเสริมจิตสำนักในการรักต้นไม้ การปลูกต้นไม้ให้แก่เด็ก เยาวชนและคนในชุมชนอีกด้วย
ในส่วนของปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดเทพอุปการาม นอกจากพระพุทธรูปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ พระประธานในพระอุโบสถอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน และรอยพระพุทธบาทจำลองในพระวิหารแล้ว ยังมีวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เคารพนับถือเช่าบูชา คือ "เหรียญหลวงพ่ออุป" หรือพระครูอุปการโกศล ซึ่งถือเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่มีผู้นิยมกันพอสมควร ที่ผนังพระอุโบสถของวัดตานิม มีภาพเขียนที่ควรศึกษา อายุนับร้อยปี เป็นภาพทางพระพุทธศาสนา ฝีมือช่างท้องถิ่น ทำให้น่าภาคภูมิใจได้ว่า คนในชุมชนบ้านตานิม เคยเป็นผู้มีฝีมือทางศิลปะ และได้ฝากความงามไว้ในพระศาสนา ให้คนรุ่นหลังได้ดู ได้ภาคภูมิใจ และยึดถือเป็นแบบอย่างได้ด้วย
ความเจริญก้าวหน้าของวัดเทพอุปการามที่เป็นอยู่ขณะนี้ เกิดจากความเมตตา การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและความรู้ ความสามารถของท่านเจ้าอาวาสทั้งในอดีตและปัจจุบัน ร่วมกับพระภิกษุสามเณร และชาวพุทธของวัด ซึ่งได้อุปถัมภ์บำรุงดูแลสืบต่อ ๆ กันมา ทำให้วัดมีอาคารเสนาสนะที่มั่นคง แข็งแรง สวยงาม เพียงพอต่อการประกอบศาสนกิจและการบำเพ็ญกุศลตามประเพณี เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ วิหาร และฌาปนสถาน เป็นต้น