ประเพณีให้ทานไฟ
วัดพระพรหมเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่ 1 ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช มีการจัดกิจกรรมประเพณีให้ทานไฟโดยประชาชนได้ร่วมกันนำอาหารที่ปรุงด้วยไฟมาร่วมกันในตอนเช้าตรู่โดยจะมีกิจกรรมต่างๆมากมายอย่างเช่น การประกวดก่อกองไฟ การประกวดก่อกองทราย การประกวดครอบครัวอบอุ่นและร่วมทำบุญ กิจกรรมศาสนพิธี ในงานประเพณีให้ทานไฟนั้นจัดขึ้นทุกปี ประชาชนทุกหมู่เหล่ามาร่วมกันเป็นจำนวนมาก และจัดว่าเป็นวันพบญาติประจำปีของประชาชนในละแวกนั้นด้วย
วันเวลาจัดงาน
การให้ทานไฟไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตายตัวแล้วแต่ความสะดวกในการนัดหมาย แต่ส่วนใหญ่จะปฏิบัติในช่วงเดือนยี่ ซึ่งป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ชาวบ้านจะนัดหมายไปพร้อมกันในเวลาย่ำรุ่งหรือตอนเช้ามืด ซึ่งจะเป็นวันไหนก็ได้
พิธีกรรม
1. การก่อกองไฟ ชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืน ถ่าน หรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความร้อนและความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ บางแห่งนิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันมาซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงไฟ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
2. การทำขนมถวายพระ ขนมที่เตรียมไปปรุงที่วัดในการให้ทานไฟเป็นขนมอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ในปัจจุบันมีขนมและอาหารเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น น้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง ชาวบ้านจะปรุงขนมตามที่เตรียมเครื่องปรุงมา แล้วนำขนมที่ปรุงขึ้นมาร้อน ๆ ไปถวายพระสงฆ์ ขณะที่ทำขนมกันไป พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด เมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ก็สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี
ความสำคัญของประเพณีนี้
1. เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระรวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งเป็นการสร้างสามัคคีในหมู่คณะได้ดียิ่ง
2. ทำให้มีสุขภาพดีมีพลานามัยแข็งแรง เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรู่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน
3. เมื่อได้ปฏิบัติตามประเพณีแล้วย่อมทำให้เกิดความสุขใจเบิกบานใจในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังได้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานของตนด้วย