วัฒนธรรมเกี่ยวกับงานประเพณีแห่น้ำช้าง ได้รับความสนใจจากประชาชนในเขตตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ประชาชนในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอวังชิ้น ได้มาร่วมกันจัดงานประเพณีแห่น้ำช้าง มาเป็นเวลาหลายร้อยปี
เดิมพื้นที่ที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งนี้ โดยธรรมชาติอุดมไปด้วยป่าไม้อันมีค่า ได้แก่ ไม้สักทอง ไม้ประดู่ ไม้มะค่า เป็นต้น อาชีพหลักของหมู่บ้านคือ การทำไม้ ช้างจึงเป็นพาหนะ ที่สำคัญในการชักลากไม้ จึงมีการคล้องช้างป่า มาเพื่อใช้งาน เมื่อคล้องช้างป่ามาได้แล้ว ก็จะเอาช้างมาทำพิธีสู่ขวัญเหมือนเป็นการปลอบขวัญช้างให้หายตกใจจากการถูกจับคล้องมาจากป่า เมื่อถึงเทศกาล คือเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เป็น ช่วงระยะเวลาที่อากาศร้อน จึงควรให้ช้างได้มีโอกาสพักผ่อน ถือโอกาสนี้ ที่เจ้าของช้างจะทำพิธีขอขมา และทำบายศรีสู่ขวัญรดน้ำ ดำหัวช้าง ที่ตนเคยบังคับให้ทำงาน เคยเฆี่ยนตี ดุด่าด้วยคำหยาบต่าง ๆ และเพื่อให้ระลึกถึงบุญคุณที่ช้างมีต่อคน ในการทำมาหาเลี้ยงชีพอันเป็นความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณและบรรพบุรุษของหมู่บ้าน จึงให้มีพิธีแห่น้ำช้างขึ้นมา สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่บรรพบุรุษต้องการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นหลัง รู้จักความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณนั่นเอง