ชื่อพิธีรับเทวดา (รับเทียมดา)
คำจำกัดความ
พิธีรับเทวดา (รับเทียมดา) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวบ้านหลายอำเภอในจังหวัดปัตตานี เช่น ยะหริ่ง ยะรัง หนองจิก ปะนาเระ แม่ลาน มักกระทำกันในเดือน ๖ โดยมีแนวคิดว่า เมื่อสิ้นเดือน ๕ เริ่มเดือน ๖ ก่อนจะเริ่มทำนาในปีต่อไป ต้องมีการบวงสรวงเทวดาเป็นการขอพรจากเทพเจ้า ให้คุ้มครองลูกหลานในหมู่บ้าน ตลอดจนให้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ในการทำนาในปีนั้น
พิธีบวงสรวงจะเริ่มเวลา ๑๘.๐๐ น. ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านและ ผู้อาวุโสในพิธีก็จะกล่าวชุมนุมเทวดาและกล่าวสรรเสริญพร้อมทั้งขอพรจากเทพยดาทั้งหลายมาช่วยดลบันดาลให้เกิดความสงบสุขในหมู่บ้าน ในการทำไร่ไถนาให้ได้ผลดี มีฝนตกชุกตลอดกาล จากนั้นก็จะให้ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานเอาเองว่าจะขอพรอะไรจากเทวดาบ้าง ก็เป็นการเสร็จพิธีในตอนกลางคืน
พิธีรับเทวดา (รับเทียมดา) มีอุปกรณ์ในการประกอบพิธี ประกอบด้วย
๑. ร้าน สำหรับจัดวางเครื่องบวงสรวงเทวดา ทำด้วยไม้ไผ่สูงประมาณ ๑ เมตร ปูด้วยใบตอง
๒. เครื่องบวงสรวง ประกอบด้วย ข้าวสุกที่ยังไม่มีใครตักกิน เรียกว่า ข้าวปากหม้อ ปลาย่างทั้งตัว เรียกว่า ปลามีหัวมีหาง น้ำดื่ม เหล้า ดอกไม้ ธูปเทียน โดยจะนำสิ่งเหล่านี้ใส่ภาชนะที่ทำด้วยใบตอง นำไปวางบนร้านที่ทำพิธี
๓.ธงซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการรับ-ส่งเทวดาเป็นธงรูปสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษขาว
ก่อนจะถึงการประกอบพิธีกรรม หนุ่มสาวและเด็กๆ ก็จะสนุกสนานด้วยการตั้งขบวนเดินร่ายรำ และส่งเสียงร้อง รับเทียมดากัน เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ชาวบ้านเตรียมตัวไปพร้อมกันในสถานที่ประกอบพิธี หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะนำถาดที่ใส่เครื่องบวงสรวงมายังสถานที่ประกอบพิธี แล้วบรรจงวางของที่นำมาบวงสรวงลงบนร้านที่ทำไว้ แล้วเริ่มประกอบพิธี
ลักษณะความเชื่อ
เชื่อในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบาย โดยมอบความรับผิดชอบให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หมู่บ้านของตนนับถือ
ความสำคัญ
ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพยดา เชื่อว่าเทพยดาจะดลบันดาลให้เกิดความสงบสุขในหมู่บ้าน การทำไร่นาจะได้ผลดี มีฝนตกชุกตลอดฤดูกาล และนอกจากนี้ยังเชื่อว่าเทพยดาสามารถดลบันดาลให้ตนได้ในสิ่งที่ตนอธิษฐานไว้