เนื้อหาภูมิหลัง
จังหวัดนนทบุรีมีประชากรที่ประกอบด้วยชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากหลายเชื้อชาติ ประชาการส่วนใหญ่ของจังหวัดนนทบุรีเป็นคนพื้นถิ่น โดยมีชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นอันดับสองและชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือไทยรามัญเป็นอันดับสามของจังหวัดนนทบุรี
ชาวไทยเชื้อสายมอญเกาะเกร็ด อพยพเข้ามาหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะ เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้เขตพรมแดนไทย และชาวมอญจากเมืองต่างๆ โดยอพยพเข้ามาประเทศไทยจาก ๓ เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่เข้ามาทางเมืองตาก ทางด่านเจดีย์สามองค์ และทางอุทัยธานี ส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตั้งแต่บ้านตะนาวศรี จนกระทั่งถึงบ้านเกาะเกร็ด ที่อาศัยอยู่กันหนาแน่นคือพื้นที่ของอำเภอปากเกร็ดและอำเภอเมืองนนทบุรีชาวไทยเชื้อสายมอญเป็นผู้ที่มีความขยันอดทน เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมดั้งเดิม มีฝีมือในทางช่างหัตถกรรมประเภทเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดนนทบุรียังมีชาวไทยตะนาวศรีซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญอีกกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ของจังหวัดนนทบุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบางตะนาวศรี อยู่ระหว่างวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหารกับวัดนครอินทร์ซึ่งเป็นเขตท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี เป็นกลุ่มประชากรที่มีฝีมือในทางช่างศิลปหัตถกรรม
ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ชาวมอญอพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เดินทางไปรับครอบครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี และให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก เดินทางไปรับครอบครัวมอญที่เมืองตาก แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปทุมธานี เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ ชาวมอญที่อพยพมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีกลุ่มนี้ เรียกว่ามอญใหม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะเกร็ดและตำบลต่างๆ ของอำเภอปากเกร็ด และสืบทอดมาเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน
หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
ชาวมอญที่อพยพมาอยู่ในจังหวัดนนทบุรีมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาในเมืองมอญมาก่อน เมื่อเข้ามาอยู่ที่ปากเกร็ด ได้เห็นสภาพดินเหนียวบริเวณเกาะเกร็ดด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือที่ติดกับคลองลัดเกร็ดและแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม เหมาะสมในการทำเครื่องปั้นดินเผา จึงริเริ่มทำเครื่องปั้นดินเผ่าขึ้นเช่นที่เคยทำในเมืองมอญ ดังนั้น เกาะเกร็ดจึงเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญมาตั้งแต่โบราณ คนมอญเรียกหมู่บ้านนี้ว่า กวานอาม่าน แปลว่า บ้านเครื่องปั้น และเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเกาะเกร็ด เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงทั้งในความงามของรูปทรง การตกแต่งลวดลายและความทนทาน เป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่โบราณ ชาวมอญเกาะเกร็ดมีความชำนาญในการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเภท รูปทรง ลวดลาย และกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากจะนิยมปั้นเครื่องปั้นทั่วๆไป เช่น โอ่ง อ่าง กระถาง และครก ยังนิยมปั้นเครื่องปั้นที่มีลวดลายสวยงามโดยเฉพาะโอ่งน้ำ หม้อน้ำ และหม้อข้าวแช่ ซึ่งในอดีตเครื่องปั้นประเภทนี้จะทำขึ้นในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น ทำให้แก่ผู้มีพระคุณ เพื่อเป็นที่ระลึกหรือทำถวายพระ โดยปั้นเป็นหม้อน้ำดื่มและหม้อน้ำมนต์ มีการประดิษฐ์คิดค้นลวดลายและแกะสลักลงบนเครื่องปั้นอย่างงดงาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หม้อน้ำลายวิจิตร” หม้อน้ำลายวิจิตรนี้เป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่เชิดหน้าชูตาจังหวัดเป็นอย่างมาก กระทั่งราชการได้นำมาเป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรีด้วย
เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เกือบจะสูญหายไปเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ในราวปี พ.ศ.๒๕๓๙ ชาวบ้านได้รวมตัวขึ้นอีกครั้งเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ประกอบกับในขณะนั้นนักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณเกาะเกร็ด จึงทำให้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง และในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมมีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด คือ มีเนื้อแดงส้ม ใช้เนื้อดินเหนียวธรรมชาติปั้นและเผาโดยไม่มีการเคลือบน้ำยา มีสีสันสวยงามตามธรรมชาติ ขอบปากของภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจะกลมกลึงราวกับกระบอกไม้ไผ่ผ่า และบรรจงประดิษฐ์ลวดลายที่ละเอียดสวยงามลงในเนื้อดินขณะที่ยังไม่แข็งตัว แล้วจึงนำดินไปเผา
ลักษณะพิเศษของเครื่องปั้นดินเผาสลักลายวิจิตรแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ตัวโอ่ง หรือตัวหม้อน้ำ ส่วนฝาและส่วนขารอง ส่วนขารองนิยมทำเป็นลวดลายฉลุ นอกจากจะเพิ่มความสวยงามได้ดีแล้วยังช่วยระบายอากาศใต้โอ่งน้ำ ทำให้น้ำในโอ่งเย็น และไม่เกิดความชื้นบนพื้นเมื่อวางโอ่งบนพื้นไม้ภายในบ้านไม้ ทำให้พื้นไม่ผุ ถือเป็นภูมิปัญญาของช่างปั้นโบราณทั้งด้านศิลปะและด้านวิทยาศาสตร์ ลักษณะส่วนฝามีความสวยงามนิยมทำเป็นยอดฝาสูง สลักลายสวยงาม ส่วนโอ่งมีลักษณะเด่นของขอบหรือปากของเครื่องปั้นโดยทำเป็นลวดลายบนขอบอีกชั้นหนึ่งและทำตามส่วนต่างๆของโอ่ง เช่น ไหล่ และ ขอบล่าง
การสืบทอด
วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ดนิยมทำกันแบบการถ่ายทอดภายในครอบครัว ซึ่งหมายถึง วิธีการสืบทอดจากรุ่นบรรพบุรุษปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ รุ่นลูกรุ่นหลานนั้น เพื่อเป็นการปลูกฝังและสืบทอดภูมิปัญญาต่อเพื่อไม่ให้สูญไป ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความสำคัญสถาบันครอบครัวนั้น มีผลอย่างยิ่งในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ทำให้เกิดมีอาชีพและรายได้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนขั้นตอนในการถ่ายทอดมักจะเป็นไปตามธรรมชาติ เวลาว่างหรือเลิกเรียนตอนเย็น วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้ความชำนาญ มักจะชักชวนลูกหลานให้ฝึกทำหรือบางทีให้มาช่วยงานปั้น มีการสาธิตวิธีการทำ เทคนิค อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เด็กช่วยจำและถือว่าเป็นการปลูกฝังไปในตัว เพราะตั้งแต่เกิดมาบางครอบครัวก็คลุกคลีอยู่กับอาชีพของผู้ปกครอง หรือญาติเพื่อนบ้าน เกิดความเคยชินและต้องการสืบสานภูมิปัญญาที่มีมาแต่รุ่นบรรพบุรุษ ปลูกจิตสำนึกให้รักบ้านเกิดและอาชีพที่ใช้ในการทำมาหากินและเลี้ยงดูชีวิตครอบครัวในทุกๆวันที่มีอยู่ได้ เพราะอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผา
การเตรียมวัตถุดิบ
๑) ดินเหนียวที่ได้มักจะมีความชื้นไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล อาทิ ฤดูน้ำหลาก บ่อดินจะถูกน้ำท่วม ดินที่ขุดขึ้นมาจึงเปียกน้ำมาก ดังนั้น จึงต้องนำดินมาพักไว้ให้แห้งประมาณ ๑ สัปดาห์ และเพื่อให้ดินเหนียวแห้งเร็วยิ่งขึ้น ก็จะต้องใช้เสียมแซะให้ก้อนดินเหนียวมีขนาดเล็กลง
๒) เมื่อดินแห้งได้ที่แล้ว นำดินมาหมักแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๕-๗ วัน
๓) จากนั้นจึงนำดินที่หมักไว้มาเข้าเครื่องกวนให้ดินแตกตัวเข้ากับน้ำ ซึ่งดินที่เข้าเครื่องกวนแล้วก็จะกลายเป็นน้ำดินโคลน
๔) ตักน้ำดินจากเครื่องกวนมากรองผ่านตะแกรง เพื่อกรองเอากรวดทราย รากไม้ และเศษวัสดุที่ไม่ต้องการออก ก็จะได้น้ำดินที่มีความเข้มข้นสูง
๕) นำน้ำดินที่ผ่านการกรองแล้วเข้าเครื่องรีดน้ำดิน โดยตักน้ำดินใส่ถังซึ่งมีท่อต่อเข้ากับเครื่องรีดน้ำดิน น้ำดินก็จะถูกดูดเข้าเครื่อง แล้วเครื่องก็จะค่อยๆ บีบอัดเอาน้ำออกจากดินซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมง ก็จะได้ดินเหนียว ๑๐๐ กิโลกรัม ดินที่ออกจากเครื่องรีดน้ำจะต้องพักไว้เพื่อรอเข้าเครื่องนวดดิน โดยจะต้องมีผ้าพลาสติกมาคลุมไว้เพื่อไม่ให้ดินแห้งเร็วเกินไป
๖) นำดินมาเข้าเครื่องนวดดิน เพื่อคลุกเคล้าให้ดินเข้ากันเป็นเนื้อเดียวและมีความชื้นเท่ากัน นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความเหนียวให้กับดินอีกด้วย
การนวดดิน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมวัตถุดิบ ดินที่ผ่านการนวดแล้ว จะมีเนื้อดินที่ละเอียด เหนียว และมีความชื้นพอเหมาะสำหรับการนำไปปั้นขึ้นรูป
ขั้นตอนกระบวนการการผลิต
๑) เตรียมดิน นำดินมาหมักและย่ำจนเหนียว นวดให้นิ่ม หากเป็นเครื่องปั้นดินประเภทกระถางหรือภาชนะที่ไม่จำเป็นต้องทำลวดลายต้องผสมทรายละเอียดลงในดินด้วย เพื่อช่วยให้เครื่องปั้นนั้นแข็งแกร่ง ไม่แตกง่าย
๒) นำดินที่ผสมและนวดเสร็จแล้วเข้าเครื่องอัดดินออกมาเป็นแท่งๆ ใช้ลวดตัดแท่งหรือเสาดินนั้นออกมาเป็นส่วนๆ
๓) นำดินที่ที่ตัดเป็นแท่งๆ มาปั้นบนแป้นไม้และหมุนด้วยไฟฟ้า โดยค่อยๆ ใช้มือบีบดินให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะตามต้องการ การปั้นขึ้นรูปในลักษณะนี้จะต้องอาศัยความชำนาญของช่างปั้น ซึ่งช่างปั้นแต่ละคนอาจจะมีเทคนิคหรือวิธีการที่แตกต่างกันออกไปอาทิ การใช้เกรียงหรือผ้าชุบน้ำเพื่อทำให้พื้นผิวของชิ้นงานเรียบ หรือใช้เล็บมือทำลวดลายบนชิ้นงานสำหรับการปั้นโอ่งขนาดใหญ่ เช่น โอ่งน้ำ จะต้องปั้นทีละท่อน โดยรอให้ท่อนล่างมีความแข็งตัวพอที่จะรับน้ำหนักท่อนบนได้ แล้วจึงจะปั้นต่อท่อนบนขึ้นไปจนเต็มรูปตามต้องการ การปั้นชิ้นงานที่มีรูปแบบเหมือนกัน ในปริมาณมากๆ ให้ได้ขนาดที่เท่ากัน หรือมีขนาดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ก็อาจจะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆ มาวัดขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางเพื่อให้ได้ขนาดที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
๔) เมื่อขึ้นรูปชิ้นงานเสร็จแล้วใช้เส้นลวดขนาดเล็กตัดชิ้นงานขึ้นจากแป้นหมุน นำไปวางผึ่งลมพักไว้ ๑๒ ชั่วโมง หรือจนแห้งพอที่จะแกะลายได้ จากนั้นคว้านเจาะรูระบายน้ำ นำไปตากให้แห้งอีกครั้ง
๕) ขูดแต่งพื้นผิวของชิ้นงานให้เรียบเสมอกัน นำมาทำลวดลาย ซึ่งมีหลายวิธี เช่นใช้มีดปลายแหลมแกะสลักลวดลายลงบนผิวเครื่องปั้นการฉลุ การใช้พิมพ์ที่แกะไว้แล้วนำไปกดลงบนตัวเครื่องปั้น และการขูด ขีด ให้เกิดลายเส้น เป็นต้น ลวดลายที่นิยมตกแต่งมีหลายลาย ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายพวงมาลัย ลายกลีบบัว ลายเครือเถา ลายกระจังตาอ้อย ลายกระหนก ลายดอกพุดตาน ลายสร้อยคอ ลายลานบุปผา ลายแต้ม ฯลฯ
๖) นำชิ้นงานที่แกะลายเรียบร้อยแล้วมาขัดแต่งพื้นผิวให้เรียบ โดยใช้หินเนื้อละเอียด ใบตองแห้ง หรือถุงพลาสติก ขัดส่วนที่ไม่มีลวดลายให้เรียบมัน และเก็บรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย
๗) นำไปเก็บในที่ร่ม เอาถุงพลาสติกคลุมไม่ให้ถูกลม เพราะจะทำให้ผิวหม่น ทิ้งไว้ประมาณ ๕-๗ วัน
๘) นำออกตากแดดในช่วงที่แดดดี ตากให้ถูกแดดเท่ากันทุกส่วน
๙) เมื่อเครื่องปั้นแห้งดีแล้วจึงนำมาเรียงเข้าเตาเผาให้เต็มเตาโดยใช้อุณหภูมิในการเผาประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ องศาเซลเซียสใช้เวลาประมาณ ๑ วัน ฟืนที่ใช้มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะทำให้เครื่องปั้นมีสีแตกต่างกัน เช่น ฟืนที่ได้จากกะโหลกมะพร้าวจะทำให้เครื่องปั้นมีสีแดงเข้ม ไม้ฟืนจากโรงเลื่อยจะทำให้เครื่องปั้นมีสีเหลือง และฟืนไม้ทองหลางจะทำให้เครื่องมีสีส้มอมแดง แต่ปัจจุบันช่างปั้นส่วนใหญ่จะใช้ไม้ฟืนจากโรงเลื่อย เพราะหาง่ายและราคาไม่แพงมากนัก
๑๐) พักเตาให้ความร้อนค่อยๆ คลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๑ วัน จากนั้นจึงนำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย
วัสดุอุปกรณ์
๑) เครื่องกวนดิน ๒) ตะแกรงกรองกรวดทราย
๓) เครื่องรีดน้ำ ๔) เครื่องนวดดิน
๕) แป้นหมุนขึ้นรูป ๖) แป้นแกะสลัก
๗) เตาแบบใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง หรือเตาไฟฟ้า ๘) เครื่องมือแกะสลักลวดลาย