ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 23' 26.1907"
17.39060853066425
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 46' 27.3631"
104.77426753437499
เลขที่ : 192178
งานนมัสการพระธาตุพนม
เสนอโดย นครพนม วันที่ 24 มกราคม 2560
อนุมัติโดย นครพนม วันที่ 3 กันยายน 2563
จังหวัด : นครพนม
0 2100
รายละเอียด

ความเป็นมา (ภมูิหลัง/ความเชื่อ)
พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์ มาบูรณะใน พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ ว่า "ธาตุปะนม" เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน ๕๓ เมตร ฉัตรทองคำสูง ๔ เมตรรวมเป็น ๕๗ เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนมอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทยประมาณ ๕๐๐ เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตรในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง ๕ อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข ลักษณะ การก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยมแล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้านเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัส สปะเถระนำมาจากประเทศอิเนเดียประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการะบูชาได้อยู่บางโอกาสในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า "ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์" นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. ๕๐๐
ท้าวพญาทั้ง ๕ ผู้มาเป็นประมุขประธานในการก่อสร้างพระธาตุพนมในครั้งนั้น เป็นเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ คือ
๑. พญาจุลณีพรหมทัค ครองแคว้นจุลมณี ก่อด้านตะวันออก
๒. พญาอินทปัตถนคร ครองเมืองอินทปัตถนคร ก่อด้านตะวันตก
๓. พญาคำแดง ครองเมืองหนองหานน้อย ก่อด้านตะวันตก
๔. พญานันทเสน ครองเมืองศรีโคตบูร ก่อด้านเหนือ
๕. พญาสุวรรณภิงคาร ครองเมืองหนองหานหลวง ก่อขึ้นรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาละมี
พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง ๕ เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๙ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งอิงค์เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ และภัยพิบัติจากการเกิดฝนตกพายุพัดแรง ติดต่อกันหลายวัน ประชาชนได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่สร้างครอบฐานพระธาตุองค์เต็ม โดยรักษารูปแบบเต็ม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น พุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนจากทั่วสารทิศทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้สืบต่อความเชื่อกันมาจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าหากใครได้มา นมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม จ ครั้ง ที่ถือเป็น อานิสงส์ผลบุญยิ่งนัก

อัตลักษณ์ที่โดดเด่น
- งานพิธีศักดิ์สิทธิ์ อัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขง เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม งานบุญยิ่งใหญ่ในภาคอีสาน 9 วัน 9 คืน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวลาว ประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุต จากริมแม่น้ำโขง เพื่อไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนมฯ ซึ่งถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจะจัดขึ้นทุกปีในภาคเช้า ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี เพื่อขอให้องค์พระอุปคุต ถือเป็นพระผู้มีอิทธิฤทธิ์ตามตำนานมาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา ปกป้องภยันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น จนกว่างานจะสำเร็จเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี
- งานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดังนี้ พิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนา ตักบาตรคู่อายุ แห่กองบุญถวายพระธาตุพนม ห่มผ้าพระธาตุ เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ
- งานปฏิบัติบูชา ณ พระธาตุพนม ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน
องค์พระธาตุพนมเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญเจริญจิตภาวนาดังนั้นในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาบำเพ็ญภาวนาในวันพระ 8 ค่ำและวันพระ 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ตลอดพรรษา 3 เดือน นอนบริเวณหน้าองค์พระธาตุ หรือบริเวณวิหารคตรอบองค์พระธาตุ บางคนบำเพ็ญเพียรภาวนาหน้าองค์พระธาตุทั้งคืน ระหว่างเข้าพรรษามีประชาชนมาเจริญจิตภาวนาค้างคืนประมาณ 50 คน
- การรำบูชาถวายพระธาตุพนม
การรำบูชาถวายองค์พระธาตุ จัดในวันเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมเป็นประเพณีมีมานาน เป็นการแสดงความสามัคคีของ 7 ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมประกอบด้วยเผ่าไทย้อ,ภูไท,ไทแสก,ไทโส้,ไทกะเลิง,ไทข่า,ไทยอีสาน, ทุกเผ่ามีจุดศูนย์รวมจิตใจคือองค์พระธาตุ ชนเผ่าต่างๆแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าของตนถ่ายทอดความเคารพศรัทธาต่อองค์พระธาตุผ่านการร่ายรำในท่วงท่าอันงดงามเพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม การร่ายรำเป็นสื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ทราบถึงการบูชาอย่างยิ่งใหญ่บวกกับความเชื่อว่าการรำถวายเป็นการถวายมือและแขนแด่พระธาตุกุศลแรงเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การรำบูชา จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าองค์พระธาตุพนม โดยมีคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ร่วมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในงานได้มีพิธีแห่เครื่องสักการะโดยข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ร่วมแห่และกล่าวคำบูชาไหว้พระธาตุพนม หลังจากนั้น ได้จัดชุดรำบูชาพระธาตุพนม 7 ชุด คือ (1)รำตำนานพระธาตุพนม (2) รำศรีโคตรบูรณ์ (3)รำผู้ไท (4)รำหางนกยูง (5) รำไทยญ้อ (6) รำขันหมากเบ็ง และ(7)รำเซิ้งอีสาน
การรำถวายพระธาตุพนมจัดขึ้นในวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการฟ้อนรำต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากออกพรรษาแล้ว มีหลักฐานบันทึกไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า “ในพรรษาที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดีงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ประชาชนชาวชมพูทวีปได้รอคอยการเสด็จกลับจากดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า และเมื่อออกพรรษาเรียบร้อยแล้วพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาทางประตูเมืองสังกัสสนคร โดยมีพระพรหม พระอินทร์ เทวดา ตามมาส่งถึงเมืองมนุษย์ ในขบวนเสด็จนั้นปรากฏเทพบุตรตนหนึ่งถือพินดีดเป็นเพลงบรรเลงนำหน้าพระพุทธเจ้า”(ธรรมบท:105.2523) อาศัยแนวคิดนี้จึงนำมาสู่การ การรำบูชาองค์พระธาตุในวันออกพรรษา นับได้ว่าเป็นผลผลิตทางพระพุทธศาสนาของศาสนิก การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนอกจากจะได้บุญกุศลแล้วยังเป็นการสอนธรรมะทางพระพุทธศาสนาอีกด้วยคือ ความสามัคคี ดังคำบาลีว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี”ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้”ดังนั้น การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด มาเที่ยวชมประเพณีรำบูชาประธาตุพนม จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมืองของเผ่าต่างๆ

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
ประเพณีนมัสการพระธาตุพนม มีความสำคัญสืบทอดมาแต่สมัยโบราณ โดยบรรดาชาวพุทธในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและในประเทศลาว เชื่อถือสืบ ๆ กันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องสักการะบูชาหน้าองค์พระธาตุพนม จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อตายแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนม ไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี อีกด้วย ทำให้ทุกปีในวันงานจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศของไทยและชาวลาว ต่างเดินทางกันมาร่วมพิธีกรรมมากมาย กว่า 100,000 คนต่อปี พร้อมมีการจัดมหรสพสมโภชคึกคักสนุกสนานจัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

สถานที่ตั้ง
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองนครพนม จังหวัด นครพนม
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สาธิต ด้วงคำภารักษ์ อีเมล์ weesak3@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองนครพนม จังหวัด นครพนม รหัสไปรษณีย์ 48000
โทรศัพท์ 042516050
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่