ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 17° 23' 26.1907"
17.39060853066425
Longitude : E 104° 46' 27.3631"
104.77426753437499
No. : 192178
งานนมัสการพระธาตุพนม
Proposed by. นครพนม Date 24 January 2017
Approved by. นครพนม Date 3 September 2020
Province : Nakhon Phanom
0 2134
Description

ความเป็นมา (ภมูิหลัง/ความเชื่อ)
พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์ มาบูรณะใน พ.ศ. ๒๒๓๖ - ๔๕ ว่า "ธาตุปะนม" เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน ๕๓ เมตร ฉัตรทองคำสูง ๔ เมตรรวมเป็น ๕๗ เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนมอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทยประมาณ ๕๐๐ เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตรในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง ๕ อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข ลักษณะ การก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยมแล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้านเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัส สปะเถระนำมาจากประเทศอิเนเดียประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการะบูชาได้อยู่บางโอกาสในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า "ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์" นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. ๕๐๐
ท้าวพญาทั้ง ๕ ผู้มาเป็นประมุขประธานในการก่อสร้างพระธาตุพนมในครั้งนั้น เป็นเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ คือ
๑. พญาจุลณีพรหมทัค ครองแคว้นจุลมณี ก่อด้านตะวันออก
๒. พญาอินทปัตถนคร ครองเมืองอินทปัตถนคร ก่อด้านตะวันตก
๓. พญาคำแดง ครองเมืองหนองหานน้อย ก่อด้านตะวันตก
๔. พญานันทเสน ครองเมืองศรีโคตบูร ก่อด้านเหนือ
๕. พญาสุวรรณภิงคาร ครองเมืองหนองหานหลวง ก่อขึ้นรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาละมี
พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง ๕ เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๙ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งอิงค์เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ และภัยพิบัติจากการเกิดฝนตกพายุพัดแรง ติดต่อกันหลายวัน ประชาชนได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่สร้างครอบฐานพระธาตุองค์เต็ม โดยรักษารูปแบบเต็ม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น พุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนจากทั่วสารทิศทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้สืบต่อความเชื่อกันมาจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าหากใครได้มา นมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม จ ครั้ง ที่ถือเป็น อานิสงส์ผลบุญยิ่งนัก

อัตลักษณ์ที่โดดเด่น
- งานพิธีศักดิ์สิทธิ์ อัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขง เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม งานบุญยิ่งใหญ่ในภาคอีสาน 9 วัน 9 คืน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวลาว ประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุต จากริมแม่น้ำโขง เพื่อไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนมฯ ซึ่งถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจะจัดขึ้นทุกปีในภาคเช้า ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี เพื่อขอให้องค์พระอุปคุต ถือเป็นพระผู้มีอิทธิฤทธิ์ตามตำนานมาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา ปกป้องภยันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น จนกว่างานจะสำเร็จเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี
- งานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดังนี้ พิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนา ตักบาตรคู่อายุ แห่กองบุญถวายพระธาตุพนม ห่มผ้าพระธาตุ เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ
- งานปฏิบัติบูชา ณ พระธาตุพนม ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน
องค์พระธาตุพนมเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญเจริญจิตภาวนาดังนั้นในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาบำเพ็ญภาวนาในวันพระ 8 ค่ำและวันพระ 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ตลอดพรรษา 3 เดือน นอนบริเวณหน้าองค์พระธาตุ หรือบริเวณวิหารคตรอบองค์พระธาตุ บางคนบำเพ็ญเพียรภาวนาหน้าองค์พระธาตุทั้งคืน ระหว่างเข้าพรรษามีประชาชนมาเจริญจิตภาวนาค้างคืนประมาณ 50 คน
- การรำบูชาถวายพระธาตุพนม
การรำบูชาถวายองค์พระธาตุ จัดในวันเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมเป็นประเพณีมีมานาน เป็นการแสดงความสามัคคีของ 7 ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมประกอบด้วยเผ่าไทย้อ,ภูไท,ไทแสก,ไทโส้,ไทกะเลิง,ไทข่า,ไทยอีสาน, ทุกเผ่ามีจุดศูนย์รวมจิตใจคือองค์พระธาตุ ชนเผ่าต่างๆแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าของตนถ่ายทอดความเคารพศรัทธาต่อองค์พระธาตุผ่านการร่ายรำในท่วงท่าอันงดงามเพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม การร่ายรำเป็นสื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ทราบถึงการบูชาอย่างยิ่งใหญ่บวกกับความเชื่อว่าการรำถวายเป็นการถวายมือและแขนแด่พระธาตุกุศลแรงเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การรำบูชา จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าองค์พระธาตุพนม โดยมีคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ร่วมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในงานได้มีพิธีแห่เครื่องสักการะโดยข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ร่วมแห่และกล่าวคำบูชาไหว้พระธาตุพนม หลังจากนั้น ได้จัดชุดรำบูชาพระธาตุพนม 7 ชุด คือ (1)รำตำนานพระธาตุพนม (2) รำศรีโคตรบูรณ์ (3)รำผู้ไท (4)รำหางนกยูง (5) รำไทยญ้อ (6) รำขันหมากเบ็ง และ(7)รำเซิ้งอีสาน
การรำถวายพระธาตุพนมจัดขึ้นในวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการฟ้อนรำต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากออกพรรษาแล้ว มีหลักฐานบันทึกไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า “ในพรรษาที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดีงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ประชาชนชาวชมพูทวีปได้รอคอยการเสด็จกลับจากดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า และเมื่อออกพรรษาเรียบร้อยแล้วพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาทางประตูเมืองสังกัสสนคร โดยมีพระพรหม พระอินทร์ เทวดา ตามมาส่งถึงเมืองมนุษย์ ในขบวนเสด็จนั้นปรากฏเทพบุตรตนหนึ่งถือพินดีดเป็นเพลงบรรเลงนำหน้าพระพุทธเจ้า”(ธรรมบท:105.2523) อาศัยแนวคิดนี้จึงนำมาสู่การ การรำบูชาองค์พระธาตุในวันออกพรรษา นับได้ว่าเป็นผลผลิตทางพระพุทธศาสนาของศาสนิก การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนอกจากจะได้บุญกุศลแล้วยังเป็นการสอนธรรมะทางพระพุทธศาสนาอีกด้วยคือ ความสามัคคี ดังคำบาลีว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี”ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้”ดังนั้น การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด มาเที่ยวชมประเพณีรำบูชาประธาตุพนม จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมืองของเผ่าต่างๆ

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
ประเพณีนมัสการพระธาตุพนม มีความสำคัญสืบทอดมาแต่สมัยโบราณ โดยบรรดาชาวพุทธในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและในประเทศลาว เชื่อถือสืบ ๆ กันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องสักการะบูชาหน้าองค์พระธาตุพนม จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อตายแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนม ไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี อีกด้วย ทำให้ทุกปีในวันงานจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศของไทยและชาวลาว ต่างเดินทางกันมาร่วมพิธีกรรมมากมาย กว่า 100,000 คนต่อปี พร้อมมีการจัดมหรสพสมโภชคึกคักสนุกสนานจัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

Location
Tambon ในเมือง Amphoe Mueang Nakhon Phanom Province Nakhon Phanom
Details of access
Reference สาธิต ด้วงคำภารักษ์ Email weesak3@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม
Tambon ในเมือง Amphoe Mueang Nakhon Phanom Province Nakhon Phanom ZIP code 48000
Tel. 042516050
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่