ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 4' 39.1076"
16.0775299
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 27' 28.1567"
100.4578213
เลขที่ : 192589
ประเพณีเจ้าพ่อแก้ว บางมูลนาก
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 29 มีนาคม 2563
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 29 มีนาคม 2563
จังหวัด : พิจิตร
0 1676
รายละเอียด

ภูมิหลัง ประวัติความเป็นมา

ลมหนาวพัดมาเยือนคราใด ย่อมเตือนให้ชาวบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ได้รู้ว่าเทศกาลงานประเพณีเจ้าพ่อแก้วอันยิ่งใหญ่และสนุกสนาน ได้มาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งจะมีถึง ๖วัน ๖ คืน ในปลายเดือนธันวาคมของทุกปี เมื่อถึงวันแห่เจ้าพ่อแก้ว ซึ่งเป็นวันที่สองของงาน ทั้งตลาดบางมูลนากจะอึกทึกไปด้วยเสียงประทัด เสียงแห่ล่อโก๊ว แห่สิงโต ขบวนแห่จะประกอบด้วยล่อโก๊ว สิงโต เองกอ และขบวนแห่เปียของสาวงามร่วมขบวนฟ้อนรำ และการแสดงจากโรงเรียนต่างๆ ผู้คนจะอุ้มลูกจูงหลานมาจากทุกสารทิศ ทั้งในอำเภอและต่างอำเภอ เพื่อมาชนขบวนแห่อันยาวเหยียดนี้ ก่อนที่เราจะพูดถึงรายละเอียดของขบวนแห่ จะขอเล่าถึงภูมิหลังหรือประวัติความเป็นมาให้ท่านทราบเสียก่อนเป็นธรรมเนียมหรือประเพณีของชาวจีนอย่างหนึ่ง ที่พวกเราเมื่อไปตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ ณ ที่ใดแล้ว เขาจะต้องสร้างศาลเจ้า เพื่อเป็นที่สถิตของเจ้าพ่อ หรือ “ปุงเท่ากง”หรือเจ้าแม่ เพื่อคอยคุ้มครองปกปักรักษาพวกเขา ให้อยู่เย็นเป็นสุขและทำมาค้าขึ้น ตลาดบางมูลนากก็เป็นอีกชุมชนหนึ่ง ที่มีชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินนานนับเป็นร้อยปี และเป็นชุมชนที่ชาวจีนมาทำมาหากินกันจนร่ำรวย มีความร่มเย็นเป็นสุข ฐานะของผู้คนในตลาดส่วนมากแล้ว จะอยู่ในชั้นที่มีอันจะกิน ที่ร่ำรวยจนเรียกได้ว่าเป็นเศรษฐีก็มีอยู่มากมายหลายสิบตระกูลเลยทีเดียว กล่าวกันว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเป็นที่เคารพสักการะของพวกเขาก็คือ “เจ้าพ่อแก้ว”ซึ่งสถิตอยู่ ณ ศาลเจ้าในบริเวณตอนเหนือของตลาดริมแม่น้ำน่าน ฝั่งตรงข้ามกับวัดบางมูลนากนั่นเอง

จากคำบอกเล่าของท่านผู้เฒ่าผู้แก่ รวมทั้งอาแป๊ะชราคนหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า “อาแป๊ะหยู” ได้บอกเล่าให้ลูกหลานฟังว่า เจ้าพ่อซึ่งสิงสถิตอยู่ในศาลเจ้ามานานแล้วนั้น แต่เดิมยังไม่มีใครรู้จักชื่อ ชาวจีนในบางขี้นาก หรือต่อมาคือบางมูลนาก ก็ได้แต่บวงสรวง กราบไหว้กันตามประเพณีเรื่อยมา จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีอาซิ้มชราคนหนึ่งมาจอดเรือ ตรงท่าศาลเจ้า เจ้าพอก็เลยเข้าทรงประทับ ได้เล่าถึงความต้องการ และได้เล่าเรื่องความเป็นมาพร้อมกับบอกชื่อเป็นภาษาจีน ซึ่งมีความหมายว่า “แก้ว”ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงได้เรียกขานนามท่านว่า“เจ้าพ่อแก้ว”

อาแป๊ะหยู ได้เล่าเรื่องนี้ต่อไปอีกว่า เจ้าพ่อแก้วนั้นมีพี่น้องด้วยกัน ๓ องค์ คือ เจ้าพ่อแก้ว เป็นตั้วเฮีย คือพี่ชายคนโต น้องคนรองคือ “เจ้าพ่อชุมแสง”สิงสถิตอยู่ที่ศาลอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และน้องคนเล็กก็คือ “เจ้าพ่อเกยชัย”สิงสถิตอยู่ที่ศาลตำบลเกยชัย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เช่นเดียวกับพี่องค์รอง แต่ว่าเป็นที่น่าสังเกต เจ้าพ่อแก้วนั้นท่านไม่มีเจ้าแม่ หรือที่ชาวจีนเรียกว่า“ปุนเถ่าม้า”เหมือนกับเจ้าพ่อองค์อื่นๆ หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ท่านเป็นโสดนั่นเอง

มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง จากปลัดวุฒิเลิศ เลิศลักขณาวัฒน์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษที่ผ่านมา มีชาวจีนคนหนึ่ง ชื่อ นายเอี่ยง แซ่ตั้ง (คุณตาของคุณปลัด) เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในตอนแรกได้มาอาศัยและ มีครอบครัว อยู่ที่ตลาดอำเภอ บางมูลนาก ในสมัยนั้นมีบ้านเรือนปลูกเป็นห้องแถวอยู่ประมาณ ๑๐ ห้อง อยู่บริเวณร้านนายแพทย์พยุง กลันทกพันธุ์ (หมอแดง) ในอดีต โดยนายเอี๊ยง แซ่ตั้ง ผู้นี้ประกอบอาชีพทำปลาย่าง ปลาตากแห้ง ส่งขายเข้ากรุงเทพฯ ทางรถไป ต่อมาได้อพยพครอบครัวไปอยู่ที่บ้านห้วยหลัว ตำบลลำประดา อำเภอบางมูลนาก ขณะที่อยู่ที่บ้านห้วยหลัวได้เล่าให้ลูกสาว คือ นางกิมไล้ แซ่ลิ้ม (เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕) ฟังว่า มีศาลเก่าโบราณตั้งอยู่ริมบึงหรือหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งสันนิษฐานน่าจะเป็นบ้านหนองเต่า (เดิมเป็นตำบลหนองเต่า) และขณะนั้นอำเภอบางมูลนาก ยังไม่มี แต่เรียกกันว่าเป็นอำเภอภูมิ หรือเมืองภูมิ ซึ่งเป็นชุมชนมาตั้งแต่โบราณ ศาลดังกล่าวตั้งอยู่ริมบึง ชาวบ้านสมัยนั้นได้ไปหาปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ จากหนองน้ำแห่งนี้ วันหนึ่งมีการเข้าทรงเกิดขึ้น โดยเจ้าพ่ออยู่ในศาลริมบึงโกรธที่ชาวบ้านไปลบหลู่ ไม่เคารพยำเกรง เจ้าพ่อในร่างทรงตวาดว่า “พวกมึงเดินเฉียดศาลกูไปมา ไม่ให้ความเคารพนับถือ และมาทำสกปรกแก้ผ้าเล่นน้ำ มึงรู้ไหมว่ากูคือใคร กูคือเจ้าพ่อพระ (พระธรรมยา) กูมีพี่น้องอยู่สองคน ตัวกูเป็นพี่ ส่วนน้องกู คือ เจ้าพ่อแก้ว อยู่ที่บางมูลนาก”

ตามประวัติมีว่า เจ้าพ่อพระธรรมยา หรือพ่อตาพระธรรมยา เป็นอดีตเจ้าเมืองภูมิแต่โบราณ มีศาลเก่าตั้งอยู่บริเวณวัดหนองเต่าริมสระน้ำ ตำบลภูมิ ส่วนศาลใหม่ตั้งอยู่ที่ปากทางเข้าตำบลภูมิ จะไปตำบลลำประดา ชาวบ้านหนองเต่า หรือตำบลภูมิ และตำบลใกล้เคียงให้ความเคารพกราบไหว้เป็นประจำ มีการแก้บนกันมิได้ขาด

เจ้าพ่อแก้วองค์ไหนองค์จริง

มีชาวตลาดบางคนสงสัยว่า เจ้าพ่อแก้วมีการเปลี่ยนองค์ ไม่แน่ใจว่าองค์เก่าดั้งเดิมไปอยู่ที่ไหน ? องค์ที่กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้เป็นองค์จริงหรือไม่ ?

วันหนึ่งผู้เขียนได้พบกับโกยี (คุณวิศิษฐ์ โรจน์พจนรัตน์) และคุณแอ๋ว(คุณปรีดาโรจนายน) ได้คุยกันถึงเรื่องการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อแก้แห่งใหม่ที่จะสร้างที่บริเวณโรงเรียนโถงจื้อเดิม

คุณแอ๊วได้นำภาพเจ้าพ่อองค์หนึ่งซึ่งไปถ่ายมาจากศาลเจ้าอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มาให้ดู บอกว่ามีคนที่พิจิตร ชื่อ นายประยูร แพพ่วง อายุประมาณ ๘๐ ปีเศษ ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ของพิจิตรคนหนึ่ง ได้ถามว่า เจ้าพ่อแก้วบางมูลนาก มีคนนำมาไว้ที่ศาลเจ้าพิจิตรนานหลายปีแล้ว ทำไมไม่เห็นเชิญกลับไปเสียที สร้างความงุนงงให้กับโกยีและคุณแอ๊วเป็นอย่างมาก ทั้งที่สองท่านไปพิจิตรก็เพื่อไปถ่ายรูปศาลมาประกอบการพิจารณา เพื่อสร้างศาลของบ้านเราต่างหาก แต่เมื่อไปได้เรื่องแปลก ๆ มาเช่นนี้ ก็เกิดความสงสัย ไม่แน่ใจว่ามีการนำเจ้าพ่อแก้วไปไว้ที่ศาลเจ้าพิจิตรตั้งแต่เมื่อไร และใครเป็นคนนำไปไว้ที่นั่น มิหนำซ้ำยังมีป้ายชื่อติดไว้ที่หน้ารูปองค์นั้นว่า “เจ้าพ่อแก้ว” เสียอีก ให้คิดฉงนสนเท่ห์ว่า หรือเจ้าพ่อแก้วมีหลายองค์ เหมือนอย่างพระพุทธสิหิงค์ที่มีทั้งที่กรุงเทพฯ ที่เมืองนครศรีธรรมราช และที่เมืองเชียงใหม่ จะเป็นทำนองนี้กระมัง

เมื่อผู้เขียนได้ทราบข้อมูลเช่นนี้ ก็เริ่มทำการสืบค้น จนได้ความกระจ่างจาก คุณสุกิจ ปกรโณดม แห่งร้านอึ้งย่งจั๊ว และคุณธีรวุฒิ (ตง) ปกรโณดม ผู้เป็นลูกชายดังนี้

จะขอเช่าถึงคนเฝ้าศาลเจ้าพ่อแก้วสักหน่อยก่อน เพื่อประกอบข้อเท็จจริงของบทนี้

คนเฝ้าศาลที่พอสืบค้นขึ้นไปได้มีประมาณ ๗ –๘ คน ดังนี้คือ

๑. ตาแป๊ะเตีย

๒. ตาแป๊ะกังฮุย หรือ ฮวงฮุย

๓. ตาแป๊ะงุ่ยหรือคุ่ย มีอาชีพทอดเต้าหู้ขาย

๔. ตาแป๊ะเตี่ยเซ้ง

๕. ตาแป๊ะฮ้อ

๖. ตาแป๊ะโกเอ็ก

๗. ตาแป๊ะโกเกียง

๘. ตานึก หรือ นายสมนึก คนปัจจุบัน

มีคนลือกันว่าตาแป๊ะกังฮุย เป็นคนอุ้มเจ้าพ่อหนีไปออกจากศาลเมื่อคราวเกิดไฟไหม้ตลาดบางมูลนากครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ แล้วพาเตลิดพาเอาเจ้าพ่อลงเรือไปไว้ที่พิจิตร เจ้าพ่อจึงตกค้างอยู่ที่นั่น วิเคราะห์ดูแล้วไม่เป็นความจริง เพราะไฟไหม้ใหญ่อยู่ในสมัยตาแป๊ะงุ่ย ซึ่งเป็นคนเฝ้าศาลคนที่ ๓ เป็นคนอุ้มองค์เจ้าพ่อหนีไฟไปไว้ที่โรงเรียนโถงจื้อ เมื่อเหตุการณ์ไฟไหม้สงบแล้วจึงได้นำเจ้าพ่อกลับมาไว้ที่เดิม

ส่วนที่เชื่อกันว่าตาแป๊ะกังฮุย เป็นผู้นำเจ้าพ่อไปไว้ที่ศาลเจ้าที่พิจิตร นั้นก็เพราะว่า ตาแป๊ะคนนี้รกรากแกเป็นคนพิจิตร เทียวขึ้นเทียวล่องระหว่างบางมูลนากกับพิจิตร อยู่เสมอ เล่ากันว่าแกเป็นคน ไม่ค่อยจะเต็มบาท ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ บางครั้งจะสวดมนต์เป็นภาษาจีน ส่งเสียงดังพร้อมกับเคาะขัน เคาะกาละมัง ดังอึกทึกไปด้วย เป็นที่รู้จักกันไปทั่วในตลาดแถวศาล เชื่อกันว่าความที่แกนับถือเลื่อมใสในองค์เจ้าพ่ออย่างเหนียวแน่น แกคงไปคว้าเอารูปเคารพ (ตุ๊กตา) ที่แกสำคัญว่าเป็นองค์เจ้าพ่อ แล้วอุ้มไปไว้ที่ศาลเจ้าพิจิตร แล้วก็เที่ยวบอกใคร ๆ ว่าเป็นเจ้าพ่อแก้ว คนพิจิตรไม่รู้ความเป็นมา ก็พลอยทึกทักว่าเป็นเจ้าพ่อแก้วตามไปด้วย

หากเรามาพิจารณาดูให้ดี ถ้าหากเจ้าพ่อแก้วหายไปจากศาลจริง ๆ คนบางมูลนากมิเอะอะกันขึ้นละหรือ ?เรื่องอะไรเขาจะปล่อยให้สิ่งที่เขาเคารพนับถือหายไป คงต้องติดตามเอาคืนมาไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนานอย่างนี้เป็นแน่

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องที่คนสงสัยว่าเจ้าพ่อแก้วถูกลักหรือถูกเปลี่ยนองค์ไปบ้าง กล่าวคือ นอกจากเหตุการณ์ในสมัยตาแป๊ะกังฮุยเฝ้าศาลแล้ว ยังมีเรื่องเล่าในสมัยที่ตาแป๊ะฮ้อเฝ้าศาลอีกช่วงหนึ่งที่คนเชื่อกันว่ามีคนมาลักเปลี่ยนองค์เจ้าพ่อแก้วไป เรื่องของเรื่องก้มีอยู่ว่า วันหนึ่งตาแป๊ะฮ้อคนเฝ้าศาล ซึ่งไม่ค่อยชอบจะอยู่ที่ศาลชอบออกไปกินเหล้า กินกาแฟ และเล่นหมากรุกกับเพื่อน ๆ ในตลาด ปล่อยให้ศาลสกปรกเลอะเทอะ ตกเป็นภาระของเมียแกต้องปัดกวาดเช็ดถูแทน จากปากคำบอกเล่าของเมียตาแป๊ะฮ้อ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าให้ฟังว่า

วันหนึ่งมีเด็กชายเริ่มจะรุ่นหนุ่มคนหนึ่ง สติไม่ค่อยดี เป็นลูกของ นางสมบัติ (ยังมีชีวิตอยู่ ในตลาดบางมูลนาก) มาอุ้มองค์เจ้าพ่อแก้ววิ่งออกจากศาลไป โดยวิ่งผ่านไปทางท่าเรือจ้างตรงกับตลาดสดประพันธ์พัฒนา พอดีกับนางม่วง แซ่อึ้ง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เห็นเข้าก็ร้องตะโกน เอะอะขึ้นว่า “คนลักเจ้าพ่อ ๆ”เมื่อตาฮ้อได้ยินก็รีบกลับมาแล้วร้องห้ามแกมขู่นางม่วย และคนแถวศาลว่าอย่าพูดเอะอะไป ถ้าปากโป้งแล้วจะมีเรื่อง ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะแกกลัวคนในตลาดจะตำหนิว่าบกพร่องในหน้าที่ ให้มาเฝ้าศาล กลับหนีไปเที่ยวตามสบายใจปล่อยปละละเลย จนมีการลักขโมยเจ้าพ่อเกิดขึ้น ขนาดเป็นเวลากลางวันแสก ๆ แท้ ๆ ตามข่าวว่า เด็กหนุ่มคนนั้นทำไปเพราะฤทธิ์ที่ไม่สาประดี ภายหลังนั้นไม่นานก็ได้นำเจ้าพ่อกลับคืนมาไว้ที่เดิม แต่ก็ยังมีบางคนร่ำลือกันอีกว่า เจ้าพ่อที่นำกลับมาไม่ใช่องค์เดิมมีการเปลี่ยนแปลงองค์ ความจริงแล้วเป็นองค์เดิม หากคนที่นำไปร่ำลืออาจจะเห็นเจ้าพ่อในเวลาที่มีผ้าห่มคลุม หรืออาจมีพวงมาลัยคล้องจนเต็มองค์ แต่ตอนที่นำมาคืนผ้าหรือพวงมาลัยอาจหลุดลุ่ย จึงทำให้ดูแตกต่างจากองค์เดิมไป

ในเรื่องความสับสนนี้ นายแก้ว แสงอินทร์ ผู้ใกล้ชิดองค์เจ้าพ่อมาแต่เดิมให้การยืนยันว่า ใช่องค์เดิมเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน ไม่ต้องสงสัยไปเป็นอย่างอื่น มีผู้สงสัยอีกว่าทำไมมีภาพเจ้าพ่อแก้วอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับองค์ที่เชิญมาขึ้นเกี้ยวแล้วแห่ในวันงานทั้งงานประจำปีและงานวันเกิด โดยเป็นภาพเจ้าพ่อสวมหมวก ทำให้เกิดข้อสงสัยอีกว่า องค์ไหน คือ เจ้าพ่อแก้วองค์เดิม

คุณสุกิจ ปกรโณดม ได้เล่าให้ฟังว่า ภาพที่กล่าวถึงนี้เป็นภาพวาดโดยร้านถ่ายรูปเจียฮั่วแซ (เดี๋ยวนี้เลิกกิจการไปแล้ว) เป็นผู้ให้ช่างวาดไปวาดรูปเหมือนเจ้าพ่อที่ศาลแล้วนำไปถ่ายด้วยกล้องอย่างเก่า (กล้องที่มี ๓ ขา มีผ้าดำคลุม) อีกทีหนึ่ง เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่า หากไปถ่ายรูปเจ้าพ่อที่ศาล โดยตรง ก็จะทำไม่ได้สะดวก เพราะไม่มีที่ตั้งกล้อง ด้วยพื้นที่ที่หน้าศาลคับแคบ ถอยหลังไปเพื่อหาจุดโฟกัส ก็จะตกแม่น้ำได้โดยง่าย ข้อความที่อ่านว่าร้อยถ่ายรูปเจียฮั่วแซ มีปรากฏอยู่ที่ข้างขวาของภาพ โดยคุณสุกิจเป็นคนอ่านและแปลให้ผู้เขียนฟัง คำแปลนั้นมีว่าดังนี้

“ถ้าผู้ใดกราบไหว้ ขอให้มีความสุขความเจริญ”

ขั้นตอนในการจัดงาน รูปแบบของงาน พิธี การแห่ประมูลของ

การดำเนินงานจัดงานเจ้าพ่อแก้วนั้น จะทำบุญในรูปคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากองค์เจ้าพ่อแก้ว และจะอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดระยะเวลา ๑ ปีเต็ม คือตั้งแต่ ๑ มกราคม ศกนี้ไปจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ศกเดียวกัน

วิธีการคัดเลือกกรรมการหรือ“เท่านั้ง”นี้ จะกระทำกันที่ศาลเจ้าชั่วคราว บริเวณที่จัดงานวันเกิดเจ้าพ่อ และจะคัดเลือกในวันกินเลี้ยง หรือ “กินโต๊ะเจ้า”นั้นเอง วิธีการคัดเลือกจะทำดังนี้คือ มีเจ้าหน้าที่เขียนชื่อ ที่อยู่ อาชีพของบุคคลในตลาดที่บริจาคเงินช่วยงาน ใส่กระดาษแล้วม้วนใส่รวมกันไว้ จากนั้นก็จะล้วงชื่อขึ้นมาวางไว้ในจานทีละคน เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งจะเสี่ยงทายด้วยไม้“ปัวะปวย”หรือ“ไม้ปวย”ซึ่งเป็นไม้ ๒ อันประกบกัน มีลักษณะคล้ายมะม่วงหิมพานต์ผ่าซีก แต่ใหญ่กว่า วิธีเสี่ยงทายจะทำถึง ๓ ครั้งคือ

-ครั้งแรก และครั้งที่สองเมื่อโยนแล้ว ไม้จะต้องคว่ำอันหงายอัน

-ครั้งที่สามเมื่อโยนแล้ว ไม้จะต้องคว่ำทั้งคู่

บุคคลผู้นั้นจึงจะได้เป็น “เท่านั้ง”เท่านั้งนี้เป็นได้ทั้งชายและหญิง ถ้าเสี่ยงทายไม่เป็นไปตามนี้ ผู้นั้นก็หมดสิทธิ์เป็นเท่านั้ง ต้องจัดชื่อ คนอื่นต่อไป จนกระทั่งได้ครบ ๒๐ คนแล้วพอ เท่านั้ง ทั้ง ๒๐ คนนี้จะหมดสิทธิ์ไม่ได้รับการจัดชื่อขึ้นมาเสี่ยงทายติดต่อกันไป ๓ ปี พ้น ๓ ปีแล้วจึงจะมีสิทธิ์ใหม่

“เท่านั้ง”นี้ถือกันว่าเป็นผู้ได้รับการอนุมัติจากเจ้าพ่อแก้ว ถือว่าเป็นผู้มีบารมีพอที่จะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานให้ท่านได้ ผู้ถูกเลือกถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูง ซึ่งบางคนแม้ว่าจะร่ำรวย มีฐานะดี บางทีก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งนี้เลยจนตลอดชีวิต

จากนั้น “เท่านั้ง” ทั้ง ๒๐ คนนี้ จะไปเลือกประธานคณะกรรมการขึ้นมาคนหนึ่ง และ จะแบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัดและความเหมาะสมต่อไป

“เท่านั้ง” ที่คัดเลือกไว้ในปีนี้ จะไปเริ่มบทบาทหรือรับช่วงดำเนินการจัดงาน ในปีถัดไป เรียกว่า คัดเลือกไว้ล่วงหน้าถึง ๑ ปี เต็มเลยทีเดียว

มีเรื่องเกร็ดเล่าแทรกไว้นิดหนึ่งคือ แต่ก่อนนั้นไม่มีใครรับที่จะเป็น “เท่านั้ง” เพราะเหตุว่า คนที่เป็นกรรมการหรือ “เท่านั้ง” จะต้องรับภาระและเหน็ดเหนื่อยมาก รวมทั้งจะต้องควักทุนส่วนตัวมากด้วย เพราะแต่ก่อนการจัดงานประสบกับการขาดทุนอยู่เสมอ เพิ่งจะมีกำไรในระยะหลัง ๆ นี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่เคยเป็น “เท่านั้ง”นั้น ภายหลังจะประสบแต่ความสุขความเจริญ ทำมาค้าขึ้น มีฐานะร่ำรวย ภายหลังจึงมีแต่คนแย่งกันเป็น “เท่านั้ง” แต่ปัญหาก็หมดไปเมื่อใช้วิธีเสี่ยงไม้ “ปัวะปวย” ดังกล่าว

การทำงานของคณะกรรมการ ส่วนใหญ่ก็จะหนักไปเรื่องหาทุนเพื่อเอาไว้จัดงาน วันเกิด เจ้าพ่อแก้วตอนต้นปี และงานประจำปีในเดือนธันวาคม รวมทั้งการไปติดต่อมหรสพสำหรับมาแสดงในงาน ซึ่งจะต้องติดต่อไว้ล่วงหน้าเป็นปี ๆ มิฉะนั้นอาจจะไม่ได้

พิธีแห่เจ้าพ่อ

เมื่อวันที่สองของงานประจำปีมาถึง ซึ่งมักจะเป็นวันเสาร์ จะเป็นวันเชิญเจ้าพ่อออกจากศาล มาสู่ศาลชั่วคราวที่สนามหน้าโรงงิ้ว “ผู้รู้”คือ อาแป๊ะหยู จะเป็นผู้หาฤกษ์ยามให้ เล่ากันว่าเคยมีผู้ฝืนฤกษ์ ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นในตลาด จึงเป็นเรื่องที่ถือกันมากในเรื่องนี้

เมื่อได้ฤกษ์ก็จะจุดธูป จุดประทัด บูชาเจ้าพ่อ แล้วบอกกล่าวอัญเชิญ คุณแก้ว แสงอินทร์ ร้านแก้วพานิช จะเป็นผู้อุ้มองค์เจ้าพ่อขึ้นประทับยังเกี้ยว จากนั้นบรรดาผู้หามเกี้ยว ก็จะวิ่งพาเกี้ยวออกมาจากตัวศาล แล้วแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ทั้งตลาด ขบวนแห่ก็จะมีล่อโก๊ว สิงโต เองกอ ติดตามด้วยขบวนแห่เปีย(ธง) ของสาวงามวัยแรกรุ่นดรุณี แต่งกายอย่างสวยงาม เป็นการประกวดประชันกันไปในตัว นอกจากนี้ยังมีขบวนหาบกระเช้าของพ่อหนูแม่หนูวัยอนุบาลซึ่งแต่งหน้า และแต่งตัวอย่างน่ารักน่าเอ็นดู ยังความปราบปลื้มเป็นสุขใจแก่พ่อแม่และอาม้า อากง โดยทั่วกัน พร้อมกันนี้ก็มีขบวนฟ้อน รำ หรือกิจกรรมเข้าจังหวะของนักเรียน โรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลประมาณ ๕-๖ โรง เข้าร่วมแห่ด้วยทุกปีขบวนหามเกี้ยวเจ้าพ่อผ่านไปถึงบ้านใครเจ้าของบ้านก็จะออกมาจุดธูปบูชา กลิ่นไม้จันทร์และควันธูปจะหอมฟุ้งตลบอบอวลไปทั่ว เสียงประทัด จะดังรัวอยู่มิขาด ซึ่งขบวนฟ้อนรำหรือการแสดงนั้น ก็จะหยุดแสดงให้ชมเป็นระยะ ๆ ไปตามสี่แยกหรือจุดที่สำคัญ ๆ ส่วนขบวนสิงโต ล่อโก๊ว ก็จะรัวฆ้อง กลอง ด้วยจังหวะ เร้าใจเข้าบ้านโน้นออกร้านนี้พร้อมกับรับ “อั้งเปา”มากบ้างน้อยบ้าง ติดมือเป็นรางวัลออกไป เพราะเขาถือว่าขบวนเหล่านี้เชิญเซียนหรือเทวดาเข้าบ้าน นำสิริมงคลและสวัสดีมีชัยมาให้ ทุกบ้านย่อมมีแก่ใจต้อนรับไม่รังเกียจ

ขบวนแห่เจ้าพ่อจะแห่ตั้งแต่เช้า เข้าไปยังตรอก ซอย และถนนเกือบทั้งตลาด จนเกือบประมาณเชิงพลบ ก็เป็นเวลาได้ฤกษ์ถึงศาลชั่วคราว เมื่อจะเชิญเข้าประทับยังศาล ผู้ที่หามเกี้ยวเจ้าพ่อจะต้องวิ่งเข้าไปยังศาล เมื่อพิธีกรอุ้มองค์เจ้าพ่อเข้าประทับยังศาลแล้ว ล่อโก๊ว สิงโต เองกอ ก็จะบรรเลง และแสดงถวายเจ้าพ่อเป็นการเอิกเกริก พร้อมกับเสียงประทัดก็ดังรัวขึ้นอย่างหูดับตับไหม้อีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธีแห่เจ้าพ่อแต่เพียงเท่านี้ รวมเวลาแล้วก็ตลอดทั้งวัน ผู้เข้าร่วมพิธีแห่จะทั้งสนุก และทั้งเหน็ดเหนื่อยไปตาม ๆ กัน แต่ทุกคนก็อิ่มใจ ภูมิใจ และสุขใจ

ครั้นพอถึงกลางคืน มีมหรสพให้ชมฟรี และเกมสนุกที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเป็นค่าบริการ เช่น ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ รถซิ่ง ยิงเป้า ก็จะเริ่มแสดง ประชันกันทั้งแสงและเสียง ใครใคร่ซื้อสินค้าอะไร จะกินอะไร ก็เชิญเลือกซื้อ ได้ตามอัธยาศัย ทางด้านศาลเจ้าพ่อนั้น บรรดา “เท่านั้ง”ก็จะเริ่มรายการประมูลของ ส่งเสียงประกาศแข่งเสียงงิ้ว ดูเป็นที่สนุกสนานครึกครื้น

สถานที่ตั้ง
ศาลเจ้าชั่วคราว สนามหน้าโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก “ราษฎร์อุทิศ”
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล ลำประดา อำเภอ บางมูลนาก จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
บุคคลอ้างอิง นางกมลลักษณ์ บัวจับ อีเมล์ fonpaoblex@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ Khun16599@gmail.com
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ซอย - ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร
โทรศัพท์ ๐๘๑ – ๘๗๔๒๘๑๑ โทรสาร 0 5661 2675
เว็บไซต์ http:province.culture.go.th/phichit/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่