การแสดงแสง เสียงตำนานสงครามปราบฮ่อ เป็นการแสดงที่ชมรมนาฏศิลป์หนองคาย นำนักแสดงกว่า ๓๐๐ คน ทั้งนักแสดงกิตติมศักดิ์ในจังหวัด นักเรียน นักศึกษา โดยการสนับสนุนงบประมาณกว่า ๓ ล้านบาท จาก อบจ.หนองคาย เขียนบทและกำกับการแสดงโดยนายยอดยิ่ง ราชตั้งใจ นักวิชาการจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย โดยเป็นการเล่าเรื่องตั้งแต่การเกิดกบฏชาวจีนฮ่อ หรือ ไท่ผิง สมัยพระนางซูสีไทเฮา กระจัดกระจายจากประเทศจีนไปตามหัวเมืองต่างๆ และประพฤติตัวเป็นกองโจรมาตีเมืองเชียงขวางและทุ่งเชียงคำ เมืองหลวงพระบาง ชาวเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และเตรียมยกทัพมาตีเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่ผู้ที่รักษาเมืองแทนกลับปล่อยทิ้งราษฎร หลบหนีเอาตัวรอด ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบข่าวศึกฮ่อยกทัพเข้ามาตีเมืองหนองคาย จึงทรงมีพระบรมราชโองการ ให้พระยามหาอำมาตย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคาย ปราบพวกฮ่อ จนพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป เพื่อให้การปราบฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้“กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” คุมกองทัพ ขึ้นไปสมทบกับอาสาสมัครจากเมืองหนองคาย กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนฮ่อแตกหนีไป กองทัพจึงได้ยกกองทัพกลับเมืองหนองคาย
เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรมกองต่างๆ ที่เสียสละชีพเพื่อชาติในครั้งนั้น