เครื่องสักการะ หมายถึง เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยแบบอีสานของชาวบ้านปลาค้าว ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ ประกอบด้วย ขันหมากเบ็ง ขันกระหย่อง ต้นดอกผึ้ง ต้นดอกไม้ และ ต้นข้าวตอก
เครื่องสักการบูชาอีสานโบราณที่ใช้ในการสักการะบูชาพระในงานประเพณีสำคัญตามฮีตสิบสองของชาวอีสานที่นับถือศาสนาพุทธ โดยจะนำดอกไม้ ธูป เทียน มาจัดวางบนเครื่องสักการบูชาดังกล่าว ประกอบด้วย
1) ขันกะหย่อง สำหรับวางขันห้า ขันแปด (ดอกไม้ และเทียนตามจำนวนเป็นคู่) วางไว้ตรงกลางของเครื่องสักการบูชา
2) ขันหมากเบ็ง ทำด้วยใบตองกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยตานี เย็บขึ้นรูปทรงเจดีย์ ประกอบด้วย ดอกพุด หรือดอกมะลิ วางบนพานที่ทำด้วยไม้ไผ่ มี 1 คู่ วางไว้ข้างขันกะหย่อง 2 ข้าง
3) ต้นข้าวตอก เป็นข้าวเปลือกนำมาคั่วให้แตกเป็นเม็ดสีขาวและนำมาติดกับไม้ก้านมะพร้าวหลายก้านๆ ตกแต่งเป็นดอกสีขาวบูชาพระ
4) ต้นดอกผึ้ง นำผึ้งมาหล่อทำเป็นกลีบ เสียบกับก้านไม้ไผ่ที่สานเป็นรูป 6 แฉก ใส่ก้านแล้วนำมาเสียบรวมกันบนต้นกล้วย ตกแต่งเป็นรูปทรงพุ่มดอกบัว
5) ต้นดอกไม้ จะใช้ดอกดาวเรือง มาเสียบกับกันไม่ไผ่ที่สานเป็นรูป 6 แฉก ใส่ก้านแล้วนำไปเสียบรวมกันบนต้นกล้วย ตกแต่งเป็นรูปทรงพุ่มดอกบัว บูชาให้เจริญรุ่งเรือง
- ประวัติความเป็นมา
ชุมชนบ้านปลาค้าว ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ยังอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น โดยมี พระครูโพธิชัยสารวิมล เจ้าคณะตำบลปลาค้าว/ เจ้าอาวาสวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งชาวบ้านปลาค้าวและบ้านใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือเป็นผู้นำ นับว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอย่างแท้จริงแสดงให้เห็นความรักความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นอย่างดีเมื่อใกล้ถึงงานเทศกาลงานบุญชาวบ้านปลาค้าวจะมารวมกันที่วัดจะมีกิจกรรมหลายอย่าง ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเตรียมงาน งานกิจกรรมที่ทำอาทิเช่น ร้อยดอกไม้จากดอกไม้แห้งหรือดอกไม้สด ทำต้นผึ้งต้นดอก (ดอกไม้) ต้นข้าวตอก สาน ขันกะหย่อง (ที่ใส่ดอกไม้บูชาพระ) ทำขันหมากเบ็ง พานบายศรีซึ่งเป็นเครื่องสักการบูชาของสาวอีสาน และปัจจุบันหาดูได้ยากแล้วข้อมูลชุมชน
ชุมชนบ้านปลาค้าวเป็นชุมชนเก่าแก่ที่รักความสงบสุขมีความเข้มแข็งมีความสามัคคีกัน ทั้งผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการในท้องถิ่นและชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือช่วยเหลือกัน ชาวบ้านปลาค้าวเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นแม้จะเป็นที่มาจากต่างถิ่น ก็จะไม่มีการรังเกียจหรือแบ่งแยก มีไมตรีจิตดีมีความเป็นกันเอง เป็นกัลยาณมิตรกับบุคคลทั่วๆ ไป ในหมู่บ้านปลาค้าวไม่ค่อยมีเรื่องราวกันภายในหมู่บ้าน ถึงมีก็เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ถึงกับต้องขึ้นศาลเพื่อให้ไกล่เกลี่ย แต่สามารถที่จะคุยกันภายในหมู่บ้านได้
หมู่บ้านยังมีเศรษฐกิจดี ขยันทำมาหากินโดยสุจริตหนักเอาเบาสู้โดยภายในหมู่บ้านจะมีร้านค้าประกอบการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ร้านซ่อมรถยนต์ ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ร้านล้างรถยนต์ ร้านอาหาร ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ ร้านซ่อมแอร์ เป็นต้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก คนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งจะเห็นได้จากที่แต่ละครอบครัวนิยมที่จะส่งบุตรหลานให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นจนกระทั่งจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และที่สำคัญเมื่อเรียน จบแล้วจะกลับมาทำงานที่บ้าน ไม่ค่อยที่จะทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น หรือเมื่อไปทำงานที่อื่นก็จะกลับมาพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญขึ้น
บ้านปลาค้าวเป็นหมู่บ้านที่มีศรัทธาในตัวผู้นำทางศาสนาเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อวัดมีงานหรือเมื่อท่านเจ้าอาวาสขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับงานต่าง ๆ ก็จะมีชาวบ้านมาช่วยกัน
ทำอย่างขยันขันแข็งที่สำคัญชาวบ้านทุกคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมไม่ได้ขาด นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด โรงเรียน สถานีอนามัย โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลปลาค้าวพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อให้วัฒนธรรมประเพณี อันดีงามของชุมชนให้คงอยู่กับชุมชนตลอดไป
หมู่บ้านปลาค้าวยังมีวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ยังอนุรักษ์ไว้ได้แม้จะมีวัฒนธรรมอื่นๆ แทรกซึมเข้ามาลูกหลานก็ยังมีการสืบทอดไว้เรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสักการบูชา มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่มีการตั้งถิ่นฐานขึ้นเพราะบรรพบุรุษของชุมชนบ้านปลาค้าวอพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่จึงนำเอาวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้เข้ามาด้วย เครื่องสักการะเหล่านี้ประกอบด้วย ขันกะหย่อง ขันหมากเบ็ง ต้นดอกไม้ ต้นดอกผึ้ง ต้นเทียน
การนำเครื่องสักการบูชาทั้งห้าอย่างมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้นก็มีรูปแบบมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ และปัจจุบันก็ยังคงรักษารูปแบบนั้นไว้เช่นเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเครื่องสักการะและวิธีการนำไปใช้ ขันกะหย่อง ขันหมากเบ็งจะใช้ในทุกงานบุญและนำมาใช้ในการทำพิธีก่อน การท่องสรภัญญะ ต้นดอกไม้ ใช้ในงานบุญผะเวสและบุญเบิกบาน ต้นเทียน ใช้ในงานบุญเข้าพรรษา แต่จะมีเพิ่มขึ้นในส่วนของต้นดอกผึ้ง ใช้ในงานวันบุญมหาสงกรานต์ ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับให้กับญาติ ที่ล่วงลับไปแล้วและในกรณีที่ไปบนบานศาลกล่าวให้สำเร็จดังที่ตนมุ่งหวังเมื่อประสบผลสำเร็จตามที่ขอก็จะทำปราสาทดอกผึ้งไปถวายเป็นการแก้บน ส่วนเครื่องสักการะอื่นๆ ก็จะนำไปใช้ในวันธรรมสวนะ งานบุญ “ฮีตสิบสอง”
การมีอยู่ของเครื่องสักการะจึงเป็นดัชนีชี้วัดการมีส่วนร่วมของชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ในเวลาที่หมู่บ้านมีงานที่สำคัญๆ ก็จะมาช่วยเหลือกันด้วยความเต็มใจ ดังจะเห็นได้จากการที่คนเฒ่าคนแก่และคนในชุมชนนำมาวัดเพื่อเป็นเครื่องสักการะแด่พระสงฆ์และพระพุทธรูป การนำไปใช้เป็นเครื่องสักการะในงานประเพณีต่างๆ ของหมู่บ้าน ส่วนใหญ่นำไปใช้ในประเพณี “ฮีตสิบสอง”ซึ่งเป็นบุญของชาวอีสานที่มีทั้งหมดสิบสองบุญในแต่ละปี และจะใช้ในวันธรรมสวนะโดยจะนำไปใช้พร้อมกันทั้งห้าอย่าง
ลักษณะของเครื่องสักการบูชาอีสานวัดศรีโพธิ์ชัย
เครื่องสักการบูชาที่พบเห็นโดยทั่วไปที่ยังคงใช้ในแต่ละวัด แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ ของชาวอีสาน โดยวัดศรีโพธิ์ชัย ตำบลปลาค้าว มีเอกลักษณ์ของการทำเครื่องสักการบูชาอีสาน ตรงที่ ความสวยงาม มีความละเอียดอ่อนและรายละเอียดขององค์ประกอบเครื่องสักการะจะมีมากกว่าแห่งอื่น ทำให้เมื่อจัดวางรวมกันแล้ว มีความสวยงามสมบูรณ์ ส่งเสริมให้พิธีกรรมนั้น ๆ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เครื่องสักการบูชาอีสานของวัดศรีโพธิ์ชัย มีดังนี้