ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 32' 29.5087"
8.5415302
ลองจิจูด (แวง) : E 98° 38' 17.0153"
98.6380598
เลขที่ : 192816
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
เสนอโดย พังงา วันที่ 29 เมษายน 2563
อนุมัติโดย พังงา วันที่ 29 เมษายน 2563
จังหวัด : พังงา
0 513
รายละเอียด

ความสำคัญ

คำว่า "แห่ผ้า” คือการนำผ้าที่เย็บเป็นผืนยาวติดต่อกันมาแห่แหน ส่วน "ขึ้นธาตุ” คือการนำผ้านั้นไปโอบรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่วัดพระบรมธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ปีละ ๒ ครั้ง คือวันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน ๓) และวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน ๖) ผ้าที่นำมาขึ้นธาตุแต่เดิมเรียกว่า "พระบฎ” หรือ "พระบท” (บ้างเรียกพระบฐ หรือพระบต) ซึ่งก็คือรูปพระพุทธเจ้าที่เขียนหรือพิมพ์บนแผ่นผ้า จิตรกรไทยโบราณมักเขียนภาพพระพุทธเจ้าขึ้นไว้บูชาแทนรูปปฏิมากรรม ภาพพระบฎโบราณมักเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนบนแท่นดอกบัว มีพระอัครสาวกยืนประนมมือสองข้างพระบฎรุ่นหลังอาจเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังเดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นเมื่อเขียนหรือวาดแถบผ้าเป็นพระบฎแล้ว ก็นิมนต์พระภิกษุไปสวดพระพุทธมนต์ทำพิธีฉลองสมโภชหนึ่งวัน รุ่งขึ้นพอได้เวลากำหนดซึ่งจะต้องเป็นเวลาก่อนเพล ก็จะตั้งขบวนแห่แหนไปพระบรมธาตุ มีเครื่องประโคมแห่แหนเคลื่อนขบวนเป็นทักษิณาวรรตองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ ก่อนแล้วจึงนำขึ้นไปโอบพันพร้อม ๆ กับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์ไปรออยู่ ณ พระวิหารตีนพระธาตุ พระสงฆ์จะสวดอภยปริตรและชยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมูคณะผู้ศรัทธา จากนั้นถวายภัตตาหารเพล ปัจจัยและบริขารอื่น ๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยวิธีสลากภัต ปัจจุบันด้วยภาวะเศรษฐกิจ กอรปกับการหาช่างเขียนพระบฎที่มีฝีมือดีและเขียนด้วยความศรัทธานั้นหายาก พุทธศาสนิกชนจึงตัดพิธีกรรมบางอย่างออกไป ดังนั้นทุกวันนี้การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงไม่มีสำรับกับข้าวคาวหวาน ไม่มีกระจาดสลากภัตร่วมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ ผ้าที่ใช้ก็เป็นผ้าสี่เหลี่ยม เช่น สีขาว สีแดง สีเหลือง นำไปแห่แหนกระทำทักษิณาวรรตองค์เจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำเข้าสู่พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์ หรือวิหารพระทรงม้า ทางขึ้นลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ อยู่ในวิหารนี้ เจ้าหน้าที่ของวัดจะยอมให้ผู้อาวุโสในขบวนเพียง ๒-๓ คน เท่านั้นสมทบกับคนงานนำผ้าไปพันโอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อว่าการทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูป การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการกราบไหว้บูชาต่อพระพักตร์ของพระพุทธองค์เช่นเดียวกันการที่ชาวนครศรีธรรมราช นำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ย่อมถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนพระพุทธเจ้าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระ พุทธองค์

พิธีกรรม

๑. การเตรียมผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่นำขึ้นห่มพระธาตุมักจะนิยมใช้สีขาว เหลือง และแดง พุทธศาสนิกชนคนใดต้องการห่มผ้าพระธาตุ จะเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความต้องการของตน แต่ส่วนมากจะนำผ้ามาเย็บต่อกัน ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้ หากใครต้องการทำบุญร่วมด้วยก็จะบริจาคเงินสมทบ การตกแต่งผ้าห่มพระธาตุ บางคนประดิษฐ์ตกแต่งชายขอบผ้าประดับด้วยริบบิ้น พู่ห้อย แพรพรรณ ลวดลายดอกไม้สวยงาม แต่ผ้าห่มพระธาตุผืนพิเศษ จะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนยาว โดยช่างผู้ชำนาญเขียนภาพ แสดงให้เห็นความถึงความตั้งใจ ความมานะ พยายาม ในการทำผ้าพระบฏขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่ในปัจจุบันผ้าห่มพระธาตุส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนยาวเรียบ ๆ ธรรมดา

๒. การจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุและการถวายผ้า ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุมาจากหลายทิศหลายทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง ใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใด ก็ได้ตามสะดวกตลอดทั้งวันจึงมีขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุโดยมิได้ขาด และมักจะมีดนตรีนำหน้าขบวนเครื่องดนตรีมีเพียงน้อยชิ้น ส่วนมากแทบทุกคณะจะมีคณะกลองยาวเป็นดนตรีนำขบวน ซึ่งบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เดินสะดวกขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะยืนแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนทูนชูผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าจึงควรแก่การบูชาจะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้โดยเด็ดขาดวิธีการถวายผ้าพระบฏ เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารแล้ว จะทำพิธีถวายผ้าพระบฏเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีหัวหน้าคณะกล่าวนำผู้ร่วมขบวนว่าตามพร้อมกัน

๓. การนำผ้าขึ้นห่มพระธาตุ หลังจากทุกคนกล่าวคำถวายผ้าพระบฏเรียบร้อยแล้วจะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทรงม้า (พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์) ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ตอนนี้ผู้ที่ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียง ๓-๔ คน สมทบกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฏขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ไม่สามารถขึ้นไปบนกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวนเพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าใต้ลานกำแพงแก้วในฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่หาก ขึ้นไปเดินบนลานจะไม่เป็นการสมควร

สาระแก่นแท้ของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

ความศรัทธาในพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนิกชนมีจิตใจแน่วแน่ที่จะบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ปีหนึ่งจะต้องมาห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์ครั้งหนึ่งไม่ให้ขาด ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้

๑. แสดงให้เห็นลักษณะของชาวนครศรีธรรมราช ที่ยึดมั่นอยู่ในพุทธศาสนา การทำบุญเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเพราะมีความประสงค์จะอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า

๒. แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ จึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน

สถานที่ตั้ง
อำเภอ ทับปุด จังหวัด พังงา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่