ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 35' 37.4334"
15.5937315
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 21' 5.0785"
104.3514107
เลขที่ : 192991
นายคำบน กิจเกียรติ์ (หัวหน้าคณะหมอลำ อัศวินดาวรุ่ง)
เสนอโดย ยโสธร วันที่ 29 มิถุนายน 2563
อนุมัติโดย ยโสธร วันที่ 29 มิถุนายน 2563
จังหวัด : ยโสธร
0 551
รายละเอียด

ความเป็นมาของคณะหมอลำอัศวินดาวรุ่ง ก่อตั้งมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๙ มีผู้ก่อตั้งคณะคือ พ่อใหญ่ มี กิจเกียรติ ได้รวมตัวกันมีสมาชิก จำนวน ๑๕ คน ชื่อคณะอัศวินสองดาว เรื่องที่แสดง คือเรื่อง แก้วหน้าม้า ดาวเรือง ศรีทนมโนราห์ ขุนช้างขุนแผน ผาแดงนางไอ่ ย่ากินปิง ตัวละคร ประกอบด้วย ๑. นายนิยม ไชยช่วย แสดงเป็นขุนช้าง ๒. นายทองมี มาลัย แสดงเป็น ขุนแผน (เสียชีวิตแล้ว) ๓. นายคำบน กิจเกียรติ์ แสดงเป็น พลายงาม ๔. นางหนูเจียม แสดงเป็น นางวันทอง และพิมพิลาไลย ๕. นางทองใบ แสดงเป็น ลาวทอง ๖. นายบุญเรือง กาศักดิ์ แสดงเป็น พระพันวสา ฯลฯ นักดนตรี ๑. นายชาย จวนสาง หมอแคน ๒. นายสาง สรสิงห์ หมอแคน ๓. นายมี กิจเกียรติ์ หมอพิณ ฉิ่ง เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลองชุด กลองทอม การแสดงไม่มีชื่อเสียงเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๖ ได้เชิญ นาย ผ.รุ่งศิลป์ จากบ้านดงแคนใหญ่ ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร มาเป็นผู้ฝึกซ้อมคณะหมอลำ และได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็นคณะ อัศวินดาวรุ่ง การแสดง เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียง เรื่องที่ใช้แสดงคือ เรื่องขุนช้างขุนแผน โดยมี นายคำบน กิจเกียรติ์ เป็นตัวแสดงนำ นายมี กิจเกียรติ์ เป็นหัวหน้าวง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้แยกวงออกเป็น ๒ คณะ คือ คณะอัศวินดาวรุ่ง และคณะอีสานลำเพลิน ซึ่งได้ทำการแสดงอย่างต่อเนื่อง ประมาณ ๑๐ ครั้ง ต่อปี ปัจจุบันคณะอัศวินดาวรุ่งมีนักแสดงรุ่นใหม่เข้าร่วมแสดงหลายคน รับงานแสดงอย่างต่อเนื่อง ราคาเริ่มตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไป แล้วแต่ระยะทาง และกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ การแสดงหมอลำคณะอัศวินดาวรุ่ง สร้างความบันเทิงเป็นที่ประทับใจของผู้ชมในทุกรุ่น ของชุมชนตำบลแคนน้อย และชุมชนต่างถิ่นที่ได้รับชมการ ประเภทของหมอลำ "หมอ" คือผู้ชำนาญในกิจการต่างๆ เช่น หมอแคน คือผู้ชำนาญในการเป่าแคน หมอมอหรือหมอโหร คือผู้ชำนาญในการทำนายโชคชะตา หมอเอ็น คือผู้ชำนาญในการบีบนวดเส้นเอ็นตามร่างกาย หมอยา คือผู้ที่ชานาญในการใช้สมุนไพร หมอธรรม คือผู้ที่ชำนาญในการใช้วิชา(ธรรม)ในทางไสยศาตร์ หมอสูตร คือ ผู้ชำนาญในการทำพิธีสูตรต่างๆ เช่น สูตรขวัญ หมอมวย คือผู้ชำนาญในการใช้วิชามวย "ลำ" คือการขับร้องด้วยทำนองและภาษาถิ่นอีสานอย่างมีศิลป์ โดยมีแคนเป็นเสียงดนตรีหลักประกอบการขับร้อง ดังนั้น "หมอลำ" จึงหมายถึง ผู้ที่ชำนาญในการร้องเพลงด้วยภาษาถิ่นอีสานประกอบเสียงดนตรีพื้นบ้านแคน ประเภทของหมอลำ ๑. หมอลำพื้น ๒. หมอลำกลอน ๓. หมอลำหมู่ ๔. หมอลำเพลิน ๕ .หมอลำผีฟ้า ๑. .หมอลำพื้น หมอลำพื้น เป็นหมอลำที่เก่าแก่ที่สุดในประเภทหมอลำที่ใช้เพื่อความบันเทิง ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าหมอลำพื้นเกิดขึ้นเมื่อใด แต่บางคนสันนิษฐานว่าหมอลำพื้นเกิดมีในภาคอีสานตั้งแต่สมัยคนอีสานแรกรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามา ดังเป็นเรื่องชาดกต่างๆ ลำพื้นบางทีเรียกว่า "ลำเรื่อง" คำว่า "พื้น" หรือ "เรื่อง" หมายความว่า "นิทาน" หรือ "เรื่องราว" ดังนั้น "ลำพื้น" จึงหมายถึง "ลำที่เป็นเรื่องราว หรือเป็นเรื่องเล่าในสมัยก่อนลำพื้นเป็นที่นิยมกันมาก ทุกๆหมู่บ้านมักจะว่าจ้างหมอลำพื้นมาลำในงานเทศกาลต่างๆ หมอลำพื้นจะใส่เสื้อและกางเกงขายาวสีขาว และลำเรื่องชาดก เวทีที่ใช้ลำจะใช้บนพื้นหรือเป็นเวทียกพื้นเล็กๆ ซึ่งล้อมรอบด้วยผู้ฟังตั้งแต่เวลาสองทุ่มจนถึงหกโมงเช้า ค่าจ้างของหมอลำพื้นขึ้นอยู่กับระยะทางที่หมอลำจะต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านของตนถึงหมู่บ้านที่จะไปลำ และเวลาที่จะไปลำว่านานแค่ไหน ส่วนมากหมอลำพื้นจะเป็นผู้ชาย เพราะเหตุว่าผู้ชายมีโอกาสที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนจากพระที่วัด ผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้าใกล้พระ ฉะนั้นผู้หญิงจึงหมดโอกาสที่จะเรียนเขียนและอ่านได้ ส่วนเหตุผลข้ออื่น เช่น ผู้หญิงไม่ควรทำงานอื่นนอกจากการเป็นแม่บ้านเท่านั้น และในขณะเดียวกัน เด็กสาวที่นับว่าเป็นกุลสตรีนั้นก็ไม่ควรที่จะปรากฏตัวต่อสาธารณชนเช่นกัน ดนตรีที่ใช้ประกอบลำพื้น คือ แคน ลายใหญ่ คือลายที่ใช้เป่าประกอบการลำพื้น ลายนี้เป็นลายแคนเก่าแก่ทีมีจังหวะช้า ส่วนหมอลำนั้นจะลำในสองจังหวะ คือ ช้าและเศร้า กับจังหวะเร็วและเร่งร้อน จังหวะช้าใช้ลำช่วงที่มีท้องเรื่องเศร้า และจังหวะเร็วใช้ลำช่วงที่กล่าวถึงการท่องเที่ยวหรือการที่ไม่มีความเดือดร้อนใดๆ เรื่องที่หมอลำพื้นชอบลำ คือ ท้าวการะเกด ท้าวสีธน นางแตงอ่อน และนางสิบสอง และท้าวหมาหยุย ซึ่งล้วนแต่เป็นชาดก ๒. หมอลำกลอน หมอลำกลอน เป็นกลอน หมายถึง บทร้อยกรองต่างๆ เช่น โคลง.ร่าย หรือ กาพย์กลอน "หมอลำกลอน" ตามรูปศัพท์แล้ว หมายถึง หมอลำที่ลำโดยใช้บทกลอน ซึ่งความจริงแล้วหมอลำกลอนล้วนแต่ใช้กาพย์กลอนเป็นบทลำทั้งสิ้น ที่ได้ชื่อว่าเป็น "หมอลำกลอน" นั้นก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างหมอลำพื้น ซึ่งปรากฏว่าหมอลำสองชนิดนี้ในขณะเดียวกัน หมอลำกลอนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในขณะที่หมอลำพื้นได้ค่อยๆสูญหายไป หมอลำพื้นกับหมอลำกลอนแตกต่างกันตรงที่ หมอลำพื้นเป็นการลำเดี่ยว และลำเป็นนิทาน ส่วนลำกลอนเป็นการลำสองคนลักษณะโต้ตอบกัน อาจเป็นไปได้ว่าการลำกลอนได้พัฒนามาสองทางคือจากลำ โจทย์แก้ ซึ่งเป็นการลำแบบตอบคำถาม อย่างที่สองคือ "ลำเกี้ยว" ซึ่งเป็นการลำในทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่าง หญิง-ชาย ๓ .หมอลำหมู่ หมอลำหมู่ เป็นลำหมู่ ตามรูปศัพท์ หมายถึงการร้องเป็นหมู่ ความจริงลำหมู่เป็นการแสดงของกลุ่มศิลปินหมอลำหมู่ การลำหมู่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อประมาณ ๕๐ – ๖๐ ปี สิ่งที่เกิดมาก่อนลำหมู่คือ ลำพื้นและลิเก ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวไทย ในภาคกลาง ลำหมู่ได้แบบอย่างการแต่งกายมาจากลิเก และได้แบบอย่างการลำมาจาการลำพื้นและลำกลอน คณะหมอลำหมู่ประกอบด้วยคน ๑๕ – ๓๐ คน ตัวละครประกอบด้วย พระราชา พระราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิง คนใช้ พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว ฤาษี เทวดา และภูตผี คนใช้ปกติจะแสดงเป็นตัวตลกด้วยหมอลำ แต่ละคนจะสวมใส่เครื่องตามบทบาทในท้องเรื่อง โดยปกติตัวตลกจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ผิดแผกแหวกแนวจากคนอื่นๆ บางทีจะแต่งชุดเป็นตำรวจ แต่การแต่งนั้นไม่ได้เหมือนตำรวจจริงๆ เขาอาจมีเครื่องประดับที่มีขีดอะไรต่อมิอะไรมากมาย หรือไม่ก็ติดขีดกลับหัวกลับหางอย่างนี้ เป็นต้น ตัวตลกบางทีก็แต่งแต้มหน้าด้วยสีสันฉูดฉาด บางทีตัวตลกจะเตี้ย ผอมสูง หรืออ้วนผิดปกติไป บางทีตัวตลกผู้ชายจะใช้สิ่งของเสื้อผ้าหนุนท้องเข้าไปให้แลดูเหมือนผู้หญิงท้องแก่ก็มี ส่วนมากเรื่องที่จะลำในหมอลำหมู่จะเป็นเรื่องที่ หมอลำพื้นนิยมใช้ลำกันซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้มาจากนิทางชาดกของภาคอีสาน ข้อใหญ่ใจความของเรื่อง มุ่งที่จะสั่งสอนคนให้ทำดี ได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่มีใครหลีกพ้นกรรมที่ก่อไว้ และให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร แต่ให้ระเวรด้วยการทำความดี นิทานทุกๆเรื่องมักจะเริ่มต้นด้วยคนที่ทำดี แต่ต้องตกไปอยู่ในห้วงอันตราย จากการกระทำของคนชั่ว แล้วเรื่องราวก็ดำเนินต่อไประหว่างคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มคนดีและคนชั่ว บางครั้งเทวดาหรือพระอินทร์จำต้องลงมาช่วยฝ่ายคนดี ถ้าเห็นว่าฝ่ายนี้เพลี่ยงพล้ำจริงๆ แต่บั้นปลายของเรื่องคนดีจะเป็นผู้ชนะคนชั่วจะถูกลงโทษ คนดีจะถูกบำเหน็จรางวัล หมอลำหมู่จะแสดงบนเวทีที่มีความกว้างประมาณ เมตร ลึก ๕ เมตร และสูง ๒ เมตร เวทีมักจะตั้งอยู่มุมใดมุมหนึ่งของพื้นโล่ง ซึ่งปกติจะเป็นที่ภายในวัด เวทีจะแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยผ้าฉากหรือฉากไม้ส่วนหน้าจะเป็นเวทีแสดง ส่วนด้านหลังจะเป็นห้องพักและห้องแต่งตัวมีประตูสองข้างของม่านที่กั้น แบ่งเวทีเพื่อใช้เป็นที่เข้าออกของผู้แสดง ทางออกอยู่ทางด้านซ้ายของคนดูและทางเข้าอยู่ประตูด้านขวา คนเป่าแคนจะอยู่ข้างๆประตูทางออกด้านซ้ายหรือด้านหลังของฉากเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบลำหมู่คือ แคน แต่ปัจจุบันหมอลำส่วนมากใช้เครื่องดนตรีฝรั่ง เช่น กลองชุด ทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน หรือกีตาร์ แต่เครื่องดนตรีฝรั่งพวกนี้จะใช้ประกอบเครื่องดนตรีลูกทุ่งมากกว่าประกอบหมอลำหมู่ ดังนั้น แคนก็ยังเป็นเครื่องดนตรีสำหรับประกอบการ"ลำ"อยู่ดี ลายแคนที่ใช้ประกอบลำหมู่ ส่วนมากใช้ลายใหญ่ ซึ่งช้าและเศร้า หรือลายน้อยซึ่งช้าและเศร้าเช่นกันแต่คนละระดับเสียง อย่างไรก็ตามในฉากที่มีการฟ้อนรำ หรือ สนุกสนานหมอลำหมู่จะลำเต้ยซึ่งเป็นเพลงรักสั้นๆหมอแคนก็จะเป่าลาย "ลำเต้ย" ซึ่งได้แก่เต้ยโขง เต้ยพม่า เต้ยธรรมดา และเต้ยหัวโนนตาล ๔. หมอลำเพลิน หมอลำเพลิน เป็นหมอลำหมู่อีกประเภทหนึ่ง เป็นการแสดงที่แสดงเป็นคณะ เรื่องที่จะแสดงเป็นเรื่องอะไรก็ได้รวมทั้งเรื่องที่หมอลำหมู่แสดง ส่วนข้อแตกต่างระหว่างหมอลำหมู่กับหมอลำเพลิน คือ ๑. ในหมอลำหมู่ผู้แสดงฝ่ายหญิงทุกคนจะแต่งชุดด้วยผ้าซิ่นแบบพื้นบ้านอีสาน หรือไม่ก็ชุดไทย แต่ลำเพลินฝ่ายหญิงจะนุ่งกระโปรงแบบฝรั่ง ๒. ในลำเพลินนอกจากแคนแล้วยังมีพิณเป็นเครื่องดนตรีประกอบด้วย ๓. ในลำเพลินจะมีจังหวะการลำที่เรียกว่า "ลำเพลิน" ซึ่งหมายถึงจังหวะสนุกสนานอัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)ถึงแม้ว่าลำเพลินจะเข้ามามีบทบาทพร้อมๆกับลำหมู่ก็ตาม แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าลำหมู่ จนเมื่อประมาณสิบปีก่อน ลำเพลินจึงกลายมาเป็นที่นิยมของคนทั่วไป และเป็นที่น่าสนใจว่าการฝึกซ้อมที่จะเป็นหมอลำเพลินนั้นง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการเป็นหมอลำหมู่ กล่าวคือ ๑) ลำเพลินจะใช้เวลาฝึกหัดเพียงหกเดือนก็สามารถออกแสดงในงานต่างๆได้ ผิดกับหมอลำหมู่ที่ต้องใช้เวลาฝึกหัดตั้งแต่สองถึงห้าปีจึงสามารถเป็นหมอลำหมู่ที่ดีได้ ๒) การแสดงลำเพลิน ผู้ลำฝ่ายหญิงจะนุ่งกระโปรงสั้นๆที่เปิดวับๆแวมๆเพื่อโชว์อวดความสวยงามของร่างกาย และผู้ชมก็ชอบที่จะชมความงามของเรือนร่างของหมอลำด้วย ตรงข้ามกับหมอลำหมู่ที่ต้องนุ่งห่มด้วยผ้าชิ้นยาวปกปิดร่างกายไว้เสียส่วนมาก ๓) ทำนองของลำเพลินเป็นทำนองโลดโผน ตื่นเต้นเร้าใจ ประกอบทั้งเครื่องดนตรี แคน พิณ และกลองชุด ทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆการแสดงหมอลำเพลิน นอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมแล้วยัง เป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีอารยธรรมและความเจริญงอกงามของคนในท้องถิ่น ซึ่งสามารถจำแนกคุณค่าของการแสดงพื้นเมืองเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ ๑. คุณค่าด้านความบันเทิง ความเจริญเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการแสดงทุกประเภท เพราะการแสดงพื้นเมืองทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินทั้งจากลีลาท่าทางของผู้แสดง ความวิจิตรงดงามของเครื่องแต่งกาย ความงามสวยงามของฉาก ๒. คุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรม การแสดงพื้นเมืองเป็นศูนย์รวมของงามศิลป์หลากหลายสาขา เช่น ดุริยางค์ศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ มัณฑนศิลป์ วิจิตรศิลป์ และขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงามของท้องถิ่น ๓. คุณค่าด้านจริยธรรม เนื้อเรื่องของการแสดงส่วนใหญ่จะสะท้อน คติธรรมค่านิยมทางพุทธศาสนา การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม ๔. คุณค่าด้านความคิด การแสดง และการละเล่นพื้นเมืองหลายประเภท เป็นการแสดงความสามารถด้านคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ สอดแทรกคติสอนใจ และแนวคิดที่เป็นประโยชน์ ๕. คุณค่าด้านการศึกษา การแสดงพื้นเมืองของภาคต่างๆ ก่อให้ประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันการแสดงพื้นเมืองของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภาค ได้รับการศึกษาค้นคว้า เพื่อเป็นหลักฐาน ในการอนุรักษ์ และสืบทอดการแสดงพื้นเมืองของไทยไว้เป็นมรดกประจำท้องถิ่น และประจำชาติสืบไป นอกจากนี้ได้มีการดัดแปลง และสร้างสรรค์การแสดงพื้นเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งลีลาท่ารำ และการแต่งกายเพื่อให้สวยงามและสอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งได้แสดงให้เห็นต่อไป

หมวดหมู่
ศิลปิน
สถานที่ตั้ง
เลขที่ ๙๐ หมู่ที่/หมู่บ้าน
ตำบล แคนน้อย อำเภอ คำเขื่อนแก้ว จังหวัด ยโสธร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง ธีร์วรา ดาวัลย์ อีเมล์ morcanubon@gmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่