ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 47' 16.4209"
19.7878947
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 13' 52.981"
100.2313836
เลขที่ : 192993
พระแสนแซ่
เสนอโดย เชียงราย วันที่ 13 กรกฎาคม 2563
อนุมัติโดย เชียงราย วันที่ 13 กรกฎาคม 2563
จังหวัด : เชียงราย
0 376
รายละเอียด

พระแสนแซ่ หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระเจ้าแสนแซ่ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในอำเภอขุนตาล ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานจตุรมุขขององค์พระธาตุแท่นคำ พระพุทธรูปที่สร้างเพื่อประดิษฐานหน้ามุขมีอยู่ทั้งหมด ๔ องค์ ประดิษฐานด้านละองค์ทั้ง ๔ ด้านของพระธาตุแท่นคำ ๓ องค์แรกเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ในบรรดาพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ มีเพียง ๑ องค์ ที่สร้างโดยไม่ใช้การหล่อโลหะทั้งองค์แต่ใช้ลิ่มสลักระหว่างข้อต่อ ข้อพับในองค์พระพุทธรูปจำนวนมากถึงแสนอัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของล้านนา ซึ่งเรียกพระที่สร้างโดยวิธีนี้ว่า พระแสนแซ่ ต่อมาพระพุทธรูปองค์ยืนได้ถูกขโมยไปหนึ่งองค์ เหลือเพียง ๓ องค์ องค์แรกคือ พระเจ้าแสนแซ่ สององค์ที่เหลือเรียกว่า พระเจ้าแสนทอง (ออกเสียงว่า แสนตอง) ทั้งสององค์ หลังจากที่องค์ยืนหายไปไม่นานนัก อีก ๓ องค์ที่เหลือก็ถูกขโมยหายไป แต่ชาวบ้านต้าได้ติดตามคืนมาได้ แล้วได้พิจารณาว่าหากประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุแท่นคำ ง่ายต่อการขโมย จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดอภัยภิมุข (วัดต้าหลวง ) ตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่ต่อมาได้เกิดข้าวยากหมากแพงฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงอัญเชิญพระทั้ง ๓ องค์กลับคืนประดิษฐาน ณ จตุรมุขของพระธาตุแท่นคำดังเดิม ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ต่อมาวัดพระธาตุแท่นคำเสื่อมโทรมเป็นวัดร้าง ชาวบ้านจึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดต้าอภัยภิมุขตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ จนถึงปัจจุบัน ที่กล่าวกันว่าพระเจ้าแสนแซ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะเมื่อเกิดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็จะอัญเชิญพระเจ้าแสนแซ่ขึ้นขบวนแห่รอบบ้านต้าแล้วด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธคุณและทิพยอำนาจของทวยเทพยดาที่ปกปักรักษาพระเจ้าแสนแซ่และพระธาตุแท่นคำก็จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกตามปกติ ในปัจจุบันทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ จะมีประเพณีการอัญเชิญพระเจ้าแสนแซ่ไปประดิษฐาน ณ ที่ว่าการอำเภอขุนตาล เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวขุนตาลได้กราบนมัสการได้โดยสะดวก ประกอบกับมีความเชื่อว่าด้วยอานุภาพแห่งองค์พระเจ้าแสนแซ่ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าในปีนั้นๆ ตกต้องตามฤดูกาล

ด้วยการที่พระเจ้าแสนแซ่ มีตำนานใบลานกล่าวว่าสร้างมานับพันปี แต่รอยจารฐานพระพุทธรูปซึ่งจารเป็นอักษรฝักขาม ระบุว่าสร้างใน ปี พ.ศ.๒๐๕๙ ถึงแม้เก่าแก่ไม่ถึงพันกว่าปีตามตำนาน แต่ก็สร้างมานานเกือบ ๕๐๐ ปี จึงเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวบ้านต้า และชาวขุนตาล รวมถึงประชาชนในอำเภอใกล้เคียง จึงมีการสร้างพระพุทธรูปแสนแซ่จำลององค์ใหญ่ประดิษฐาน ณ วัดดอยม่อนป่ายาง ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย นอกเหนือจากพระเจ้าแสนแซ่ซึ่งสร้างมาพร้อมๆ กับองค์พระธาตุแท่นคำแล้ว อำเภอขุนตาลยังมีพระเจ้าแสนแซ่อีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นสมบัติของวัดทุ่งศรีเกิด ตำบลยางฮอม ซึ่งขุดได้ที่บริเวณใต้ต้นไม้ยางหอม ในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านยางฮอมในปัจจุบัน พระเจ้าแสนแซ่องค์นี้เป็นพระพุทธรูปยืน สูงประมาณ ๒ ฟุต เนื้อทองสัมฤทธิ์ พระเกศขององค์พระถอดแยกออกเป็นชิ้นส่วนได้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวยางฮอมและชาวขุนตาลเฉกเช่นเดียวกับพระเจ้าแสนแซ่ที่วัดต้าอภัยภิมุข แต่คำว่า “พระแสนแซ่คู่บ้าน” นั้นหมายความถึงเฉพาะพระเจ้าแสนแซ่ที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดอภัยภิมุขนั่นเอง

วัดอภัยภิมุข (ต้าหลวง) นอกจากเป็นที่ประดิษฐานของพระแสนแซ่อันศักดิ์สิทธิ์ พระคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอขุนตาลแล้ว ภายในบริเวณวัดยังมีต้นโพธิ์ยักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงราย วัดเส้นรอบวงได้ถึง 11 เมตร 9 เซนติเมตร อีกด้วย

สถานที่ตั้ง
อุโบสถวัดอภัยภิมุข (ต้าหลวง)
เลขที่ 51/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 บ้านต้าหลวง ซอย - ถนน -
ตำบล ต้า อำเภอ ขุนตาล จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สิริรัตน์ โอภาพ อีเมล์ sirirat_kn@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่