ชื่อผลิตภัณฑ์:ว่าวไทย
ชื่อผู้ประกอบการ:ชมรมฟื้นฟูของเก่าเล่นว่าวไทยไทย(องค์กรชุมชน) โดย นายชัยพัชร์ รัตนะเจริญพงษ์
ชุมชนคุณธรรม/ชุมชนเครือข่าย:ชุมชนคุณธรรมวัดสำโรง
ที่อยู่: ๒๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
หมายเลขโทรศัพท์:๐๘ ๙๒๕๕ ๐๑๗๙
การเล่นว่าวเป็นกีฬาที่นิยมกันทั่วโลก เชื่อกันว่ามีการทำว่าวขึ้นเมื่อ 400 ปี ก่อนคริสตกาลโดย มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานและเพื่อประโยชน์บางอย่าง สำหรับในประเทศไทยได้มีการเล่นว่าวกันมา ตั้งแต่ สมัยสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นว่าวยังเป็นที่นิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน "การเล่นว่าว” นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียนของเด็กๆ และการทำงานของผู้ปกครอง ได้เสริมสร้างกำลังกายให้แข็งแรง หรือลับสมองด้วยกติกาการแข่งขันสนุกๆ แล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ทำให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีน้ำใจนักกีฬากับผู้เล่นคนอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ไม่หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกม ที่สำคัญความประทับใจอันเกิดจากการเล่นว่าว อาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะจุดประกายให้เด็กๆ เกิดความสนใจ และก่อให้เกิดแรงบันดานใจในการอนุรักษ์
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยความรู้หลายศาสตร์ในการประดิษฐ์ เช่น ความชำนาญการช่าง การคำนวณ ศิลปะ และเทคนิคพิเศษเฉพาะตนซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนของผู้ประดิษฐว่าว นอกจากจะเป็นเครื่องการละเล่นพื้นบ้านแล้ว ว่าวไทย ยังสามารถนำมาดัดแปลงเป็นศิลปะประดิษฐ์และเป็นของตกแต่งบ้านได้อีกด้วย
วัสดุอุปกรณ์ในการทำว่าวไทยจะจะใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีอายุแก่ ถ้าจะทำว่าวจุฬาก็จะใช้ไม้ไผ่ที่มีอายุ 7 ปี จะได้ขนาดไม้ที่พอดี ถ้าใช้ไม้แก่ไปก็ไม่ดีจะกระด้าง ไม้อ่อนไปก็ไม่ดี ถ้าจะทำว่าวอีลุ้มอายุไม้ ประมาณ 3– 4 ปี จะทำว่าวอีลุ้ม กระดาษทำว่าวที่ดีที่สุดจะเป็นกระดาษฟาง กระดาษสา และกระดาษเงิน กระดาษทอง เอามาตอกเป็นรูปปลาตัวเล็ก ๆ เอาไว้แต่งว่าวจุฬาให้สวย แต่จริง ๆ แล้วแต่งเพื่อให้ว่าวมีกำลัง จะต้องผูกสักคลึงใช้กระดาษปลาติดให้มีกำลัง ให้ลมปะทะ ว่าวตัวใหญ่ ๆ จะไม่ขาด จะเป็นเหมือนตารางขึงเมื่อเวลาลมพัดข้างบนแรง ๆ กระดาษจะไม่ทะลุ
วัสดุต่อมาก็เป็นเชือก เชือกสำหรับผูกคอซุง เชือกสำหรับเล่นว่าว กระดาษเงินสำหรับผูกซับ แล้วก็แปะตีตาราง มีแป้งเปียกติดกระดาษ กาวลาเท็กซ์ นอกจากนี้ก็ยังมีตุ๊ดตู่ที่ตอกออกมาเป็นรู เป็นดอกไม้ เป็นรูปกลม ๆ ใช้สำหรับติดรูปปลากับตารางผูก ซึ่งว่าวจุฬาจะเรียกผูกสักติดตรงสี่เหลี่ยม ก็ยังมีกรรไกรตัดกระดาษ มีดสำหรับหลาวไม้ ซึ่งเมื่อเรามีวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะสามารถที่จะทำว่าวได้ทุกชนิดและก็สนุก
ขั้นตอนการทำเริ่มจากเลือกไม้ไผ่สีสุกมาตัดตามขนาดของว่าวที่ต้องการ แล้วก็ผ่าไม้ โกนไม้ที่ผ่าเป็นอัน ๆ ถ้าไม้ไผ่คดก็ต้องดัดให้ตรง โกนไม้ไห้ได้รูปร่าง ตรวจดูว่าไม้ไผ่มีมอดกินหรือเปล่า เมื่อได้ไม้ตามขนาดที่จะทำว่าวอะไรแล้ว ก็วัดสัดส่วนที่เราจะทำว่าว มีไม้โครงกลาง ไม้ปีก ซึ่งไม้ปีกจะยาวกว่าไม้โครงกลางนิดหน่อย หลาวจนได้ขนาด ต้องดีดดูว่ามันดีดกับลมได้ดี คือไม่ให้ไม้ใหญ่หรือเล็กเกินไป ส่วนหัวจะเล็กหน่อย ส่วนท้ายว่าวจะเรียวลงมาหน่อย ปีกไม้ก็ต้องหลาวให้ตรงกลางใหญ่ ปลายปีกเล็ก เอามาผูกกับไม้อกวางแล้วจับไม้วาง เอาไม้ปีกผูกกับไม้อกให้ต่ำกว่าจากหัวลงประมาณ 11.5ส่วนเสร็จแล้วผูกให้แน่น เอาเชือกผูกส่วนท้าย แล้วขึงมาตรงปลายปีก ขึง 2มุมขึ้นไป เชือกจะยาวประมาณ 33ส่วน ตรงหัวพอเอาลงมาตรงที่โค้งจะพอดี ถือว่าเป็นว่าวที่ทำแล้วขึ้นได้ดี รูปร่างว่าวที่มีลักษณะค่อนข้างสี่เหลี่ยมจะขึ้นง่าย ต่อมาก็ใช้กระดาษฟาง กระดาษสา กระดาษแก้ว ปะตามริม ตามเชือกด้วยแป้งเปียก ตรงภู่ก็ตัดกระดาษมาทำเป็นภู่ เมื่อแป้งเปียกแห้งก็ตัดกระดาษกลม ๆ หนาหน่อยติดตรงที่ผูกไม้ปีกกับไม้อก เอากระดาษแปะแล้วช่วงจากผูกอกกับปีกลงมาถึงก้นแบ่งครึ่ง แปะเป็นกระดาษกลม ๆ ไว้อีกหนึ่งอัน เพื่อจะเจาะคอซุงอันบนกับอันล่าง ซึ่งคอซุงยาวพอประมาณ ปลายหนึ่งผูกตรงไม้ผูกอันกลางกับปีก และปลายอีกอันหนึ่งก็ผูกวงกลมไว้ตรงกึ่งกลาง พอผูกแล้วไม้จะเป็นสายซุงขึ้นมา เมื่อเป็นสายซุงแล้วก็ กะให้เท่ากัน เส้นหน้ากับเส้นหลังให้เท่ากัน ก็เป็นอันเสร็จ เวลาจะเล่นก็เอาเชือกเล่นว่าว
เจาะคอซุง แล้วก็เอาไปขึ้นเล่น ถ้าให้เด็ก ๆ เล่นต้องต่อหางอีกนิดหน่อย ก็จะทำให้ว่าวขึ้นนิ่ง ไม่มีพยศ