โปงลางคือ ระนาดพื้นเมืองอีสาน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะทำ ทำนองและจังหวะไปพร้อมกัน ลูกระนาดทำจากไม้ท่อนขนาดลำแขน เป็นตัด กลึง และถากตกแต่งเทียบเสียงดนตรี โด , เร , มี , โซ , ลาเรียงเสียงลำดับจากต่ำไปสูงได้ ๑๒ ลูก ๑๓ ลูก หรือ ๑๔ ลูก แล้วนำมาร้อยผืนระนาดด้วยเชือกเส้นโตขนาดเท่ากับเชือกผูกวัว เวลาเล่นใช้แขวนเป็นแนวเฉียงลงมาทำมุมประมาณ ๖๐ องศากับพื้น ให้ด้านลูกใหญ่ เสียงทุ้มอยู่ตอนบนและด้านลูกเล็กสั้นและเสียงแหลมอยู่ตอนล่าง การเคาะโปงลางมักใช้ผู้เล่น ๒ คน คนเล่นทำนองเพลงจะเข้าเคาะทางด้านหน้าของผืนโปงลาง เรียกว่าเป็น “หมอเคาะ” อีกคนหนึ่งเข้าเคาะข้างขวามือของหมอเคาะ มีหน้าที่เคาะเสียงประสานและทำจังหวะเรียกเป็น “หมอเสิร์ฟ”
ภายหลังมาเมื่อลายแคนลายโปงลางถูกถ่ายทอดกันไปเป็นทอดๆ แบบเดียวกันกับเพลงพื้นเมืองทั้งหลาย บังเอิญมีนักดนตรีผู้หนึ่งเคาะระนาดเกราะลอ ทำนอง ลายโปงลางอยู่ในไร่ของเขา เพื่อนฝูงได้ยินเสียงเพลงอันไพเราะต่างก็ติดตามเสียงเพลงมาดู แล้วถามว่ากำลังตีอะไร หมอก็ตอบว่า กำลังตีลายโปงลาง คนฟังเพี้ยนไปว่ากำลังตีโปงลาง เครื่องดนตรีระนาดเกราะลอก็ได้รับการถ่ายทอดกันต่อๆ มาว่าคือ โปงลาง ฟังแล้ว ก็คล้าย ๆ ฟังนิทานเหมือนกัน
โรงเรียนเนินหัวโล้หนองยางพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนในเขตพื้นที่ของอำเภอ วังทรายพูน ได้สนับสนุนให้นักเรียนได้เล่นและแสดงการแสดงนี้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กนักเรียน โดยโรงเรียนเนินหัวโล้หนองยางพิทยาคม ตั้งอยู่ที่บ้านเนินหัวโล้ และบ้านหนองยาง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่อพยพมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่าร้อยละ ๙๕ ดังนั้น วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และการแสดงต่าง ๆ ของบ้านเนินหัวโล้หนองยาง จึงเป็นแบบภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ซึ่งโรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญว่า ถ้าไม่มีการถ่ายทอดให้กับเยาวชนวัฒนธธรรมประเพณีดังกล่าวอาจจะสูญหายไป จึงได้ฝึกเยาวชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวอีสานในหมู่บ้านฝึกรำเซิ้ง และมีการแสดงดนตรีโปงลางของโรงเรียน เนินหัวโล้หนองยางพิทยาคม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสืบมา
โดยในชุดของการแสดงเซิ้งโปงลาง จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ๘ ชิ้น คือ
- กลองทุ้ม
- กลองสี่
- พิณ
- แคน
- เบส
- โปงลาง
- ฉิ่ง
- ฉาบ
ติดต่อการแสดง:นายสมควร อัสโย โรงเรียนเนินหัวโล้หนองยางพิทยาคม
โทรศัพท์ ๐๕๖-๖๑๙๙๒๐ , ๐๘๖-๙๒๙๐๒๕๐