ประวัติความเป็นมา
วัดศรีศรัทธาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับวัดกำแพงดิน ณ หมู่บ้านคลองพันจอ เลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๖ ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา เดิมชื่อว่า “วัดจอบัณฑิต” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ จากความศรัทธาของชาวบ้านกำแพงดิน ที่ต้องการให้มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ในอดีตวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตหาดกรวด อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แต่ในปี ๒๔๘๑ จังหวัดพิจิตรได้ขยายเขตการปกครอง โดยเพิ่มเป็นอำเภอสามง่าม ขึ้นอีกหนึ่งอำเภอ วัดศรีศรัทธาราม จึงตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามง่าม นับแต่นั้นมา กระทั้ง พ.ศ. ๒๕๐๒ พระอาจารย์เนียม เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัด เป็น “วัดศรีศรัทธาราม” และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนนับแต่นั้นมา
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ประชาชนในหมู่บ้านได้พร้อมใจกันสร้างอุโบสถ์ขึ้นโดยได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต ในปีถัดมา และได้ย้ายเสนาสนะ มาหลายหนเพราะเกิดภัยธรรมชาติ คือ อุทกภัยทำให้กุฏิเสียหาย เนื่องจากตั้งอยู่ริมน้ำเกินไป ปัจจุบันได้ย้ายเสนาสนะเกือบทั้งหมด เช่น ศาลาการเปรียญและหมู่กุฏิ เหลือไว้เพียงอุโบสถและเมรุ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์
หลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๒ นิ้ว สูง ๙๐ นิ้ว เป็นพระประธานในอุโบสถ์ ทั่วทั้งองค์เป็นสดำ จึงได้นามว่า หลวงพ่อดำ
หลวงพ่อบุญลือเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๒๒ นิ้วครึ่ง สูง ๓๓ นิ้วครึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมา โดยในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ มีผู้อัญเชิญมาจากวัดโคกสกุต อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และได้สถิติอยู่คู่วัดตลอดมา เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน เชื่อกันวาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์ในเรื่องฟ้าฝน เมื่อชาวบ้านจะจัดงานอะไรมักจะมาบนบานหลวงพ่อไม่ให้ฝนตก และประชาชนมาบูชาและนับถือกันเป็นจำนวนมาก
หลวงพ่อบุญมีเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๕ นิ้ว สูง ๓๙ นิ้ว โดยตามี-ยายอยู่ ได้สร้างถวาย ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖
ลำดับเจ้าอาวาส
๑. พระดี พ.ศ. ๒๔๖๗ (รักษาการ)
๒. พระเจริญ - (รักษาการ)
๓. พระเปา – (รักษาการ)
๔. พระอั๋น - (รักษาการ)
๕. พระปลีม พ.ศ. ๒๔๙๙ – พ.ศ. ๒๕๐๑
๖. พระเนียม พ.ศ. ๒๕๐๒ – พ.ศ. ๒๕๐๖
๗. พระโพธิ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ – พ.ศ. ๒๕๑๒
๘. พระทองย้อย พ.ศ. ๒๕๑๓ – พ.ศ. ๒๕๑๙ (รักษาการ)
๙. พระเจือ ขวัญดง พ.ศ. ๒๕๒๐ – พ.ศ. ๒๕๒๒
๑๐. พระเล็ก โกสิงห์ พ.ศ. ๒๕๒๓ – พ.ศ. ๒๕๒๖ (รักษาการ)
๑๑. พระหรั่ง อชิโต พ.ศ. ๒๕๒๗ – พ.ศ. ๒๕๓๒ (รักษาการ)
๑๒. พระอธิการสุริน กตสาโร พ.ศ. ๒๕๓๓ – พ.ศ. ๒๕๔๒
๑๓. พระครูวิทิตศรัทธาโสภณ ธเนศร์ ฐิตญาโณ พ.ศ. ๒๕๔๓
๑๔. พระใบฎีกานที ธีรปญฺโญ ปัจจุบัน
โบสถ์จระเข้
วัดศรีศรัทธาราม จ.พิจิตร เป็นโบสถ์หลังใหญ่ โดยทาสีขาวทั้งหลัง และเมื่อเดินขึ้นบันไดก็จะพบว่า บริเวณทางขึ้นหน้าโบสถ์จะมีรูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่นอนขนาบข้างบันได 2 ตัว ส่วนบริเวณราวบันไดทั้ง 2 ข้าง จะมีรูปปั้นจระเข้กำลังกลืนกินนรีนอนอยู่อีก 4 ตัว
นอกจากนี้ ที่ราวบันไดทางขึ้นเข้าไปภายในโบสถ์ จะมีจระเข้กำลังกลืนกินรีอยู่อีก 6 ตัว โดยที่ระหว่างบันไดทางเข้าโบสถ์จะมีรูปปั้นจระเข้นอนอ้าปากอยู่ 2 ตัว โดยหางจะชี้ฟ้าขึ้นไปบนเสาหลังคาโบสถ์ ส่วนที่บริเวณด้านหลังโบสถ์มีรูปปั้นจระเข้นอนอ้าปากหางชี้ฟ้าอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อนับรวมจระเข้ทั้งหมดพบว่ามีจำนวนถึง 22 ตัว ซึ่งรูปปั้นจระเข้นอกจากจะดูแปลกตาแล้วยังมีความสายงามเป็นธรรมชาติอีกด้วย
ภายในโบสถ์มีหลวงพ่อดำ เป็นพระประธาน ภาพวาดผนังภายในโบสถ์จระเข้ หรือโบสถ์สีขาว ที่มีภาพวาดด้วยลวดลายลงสีสวยงาม เป็นภาพที่เล่าเรื่องในวรรณคดีเรื่องไกรทอง ชาละวัน ที่เป็นตำนานของ จ.พิจิตร ที่ไกรทองชาวเมืองนนทบุรี หมอจระเข้ชื่อดังไปปราบ พญาชาละวัน ที่คาบตะเภาแก้ว ตะเภาทอง ลูกสาวเจ้าเมืองพิจิตรลงไปในถ้ำ เมื่อไกรทองปราบพญาลาชาละวันได้แล้วก็ได้นางเลื่อมลายวรรณ และวิมาลา จระเข้สาว เมียพญาชาละวันมาเป็นเมียอีกด้วย ตามตำนานที่เล่าขานสืบกันมา
แต่ที่สะดุดตานักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่พบในภาพวาดฝาผนังในโบสถ์นั้น เป็นภาพที่ช่างได้วาดภาพจระเข้สาวหลายอิริยาบถ มีทั้งใส่เสื้อผ้า และโชว์หน้าอก ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยววิพากษ์วิจารณ์ว่า แบบนี้นี่เองที่ไกรทองต้องเอาจระเข้มาทำเมีย
พระใบฎีกานที ธีรปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดศรีศรัทธาราม เปิดเผยว่า ทางวัดได้พัฒนาและก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ภายในวัดให้เป็นที่สนใจ เพื่อดึงดูดพุทธศาสนิกชนให้เข้าวัดฟังธรรม โดยเฉพาะเยาวชนและคนรุ่นใหม่ และจะทำให้วัดเป็นวัด 4G ทันสมัย โดยการก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ให้เป็นที่สนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ได้ด้วย เช่น รอบโบสถ์จระเข้จะภาพวาดของโดราเอมอน มีเครื่องฝัดข้าวโบราณ เกวียนโบราณ ฯลฯ ส่วนภายในโบสถ์ก็มีภาพวาดการเล่าเรื่องตำนานชาละวัน ส่วนที่มีภาพจระเข้เพศหญิงนั้น เป็นจินตนาการของช่างที่ทางวัดจ้างมาวาด
หากหันหน้าเข้าหาพระประธานจะพบว่า บริเวณหน้าต่างคู่แรกด้านซ้ายมือจะมีลายรดน้ำประณีตศิลป์ของไทยบอกเล่าเรื่องราวราศีเกิดตามปีนักษัตร แต่แทนที่จะเป็นภาพเทวดาขี่หนู กลับปรากฏลวดลายเป็นเทวดาขี่มิกกี้เมาส์ ที่ผ่านการลงรักปิดทองอย่างสวยงาม
นอกจากนี้วัดศรีศรัทธาราม ยังเป็นสถานที่จัดงานประเพณีแข่งเรือยาว ช่วงเดือนกันยายน ของทุกๆ ปี สร้างความรักความสามัคคีในชุม และกระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดชุมชนวัดศรีศรัทธาราม เป็นชุมชนคุณธรรม อีกด้วย