ความเป็นมา ลาวครั่งเดิมอาศัยอยู่แถบเทือกเขา “ภูคัง” แขวงหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้คนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ลาวภูคัง” และต่อมาได้เพี้ยนเป็น “ลาวครั่ง” บางคนเรียก “ลาวเต่าเหลือง” เนื่องจากชอบอยู่อย่างอิสระและอดทน เหมือนเต่าภูเขาที่มีกระดองสีเหลือง ได้อพยพเข้ามาประเทศไทย ๒ ครั้ง คือ ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยได้อาศัยอยู่ตามจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง โดยจังหวัดสุพรรณบุรี ได้อาศัยอยู่ในอำเภอเดิมบางนางบวช และอำเภอด่านช้าง ความเชื่อ เมื่อลาวครั่งได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้วได้ทำความเชื่อด้านศาสนา และวิถีชีวิตด้านต่าง ๆ มาประพฤติปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเพณีแห่ธง เป็นต้น โดยมีความเชื่อว่าการแห่ธงเป็นการนำสิ่งของไปถวายพระพุทธเจ้า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ และเป็นการแสดงถึงชัยชนะต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่ได้เผชิญมาในรอบปีของการดำเนินชีวิต
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
อัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือการจัดทำธงนั้นจะทำจากผ้าทอเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือทำจากเสื่อ (สาด) และตกแต่งด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสวยงาม (ปัจจุบันบางหมู่บ้านไม่มีการทอผ้า ก็นิยมซื้อผ้าตามร้านค้าทั่วไป แล้วนำมาตกแต่งให้สวยงาม มีความกว้างและความยาวของธงมากน้อยขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้จัดทำ บางครั้งใช้ผ้าห่มหรือธนบัตรจัดทำเป็นธงก็มี) การจัดทำธงจะดำเนินการจัดทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และนิยมแห่ธงในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ โดยจะนำธงพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ แห่ไปรอบหมู่บ้าน แล้วนำไปถวายพระที่วัด และทำพิธียกธงตั้งไว้ในบริเวณวัด ๑ คืน พอรุ่งเช้าของวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีทำบุญเป็นอันเสร็จพิธีแห่ธงและสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ในปีนั้น
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคม จิตใจ วิธีการดำเนินชีวิตของชุมชน การจัดทำธงและอุปกรณ์ประกอบการแห่ธงนั้น นิยมรวมกลุ่มกันทำเป็นหมู่คณะ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมมีความสงบสุข เนื่องจากทุกคนมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน