ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 25' 8.8849"
16.4191347
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 20' 23.4398"
104.3398444
เลขที่ : 193149
ประเพณีฮีตสิบสองของชาวบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร
เสนอโดย มุกดาหาร วันที่ 3 กันยายน 2563
อนุมัติโดย มุกดาหาร วันที่ 3 กันยายน 2563
จังหวัด : มุกดาหาร
0 335
รายละเอียด

ชาวบ้านภูมีวัฒนธรรมในการใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียง นิยมปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวตามหน้าบ้าน หลังบ้าน และทุ่งนา ริมสระน้ำ ห้วย หนอง ทุกคนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เด็ก ๆ เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ มีกิจกรรมร่วมกันกับลูก ๆ คือ ตอนเช้าทำบุญใส่บาตรทั้งเด็กและผู้เฒ่าผู้แก่ ในวันพระขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ พ่อแม่จะร่วมกิจกรรมโดยจูงลูกหลานเข้าวัด เพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ฟังเทศน์ นอกนั้นก็มีกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ ตามประเพณีปฏิบัติ ฮีตสิบสอง ดังนี้

๑) เดือนอ้าย

ประเพณีบุญเข้ากรรม จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระภิกษุที่ได้กระทำความผิดพระธรรมวินัยระหว่างจำพรรษา ได้สารภาพความผิดของตนต่อหน้าสงฆ์ในโบสถ์และกำหนดคองเข้ากรรม เป็นเวลา ๓ วัน หรือ ๗ วัน สงฆ์เป็นผู้กำหนด สำหรับฆราวาสมีการทำบุญอุปฐากพระภิกษุ สามเณร ต้มน้ำร้อนน้ำชาจัดหาอาหาร ถือว่าได้อานิสงส์ยิ่ง และบางท่านก็พากันเลี้ยงผีแผน ผีฟ้า ผีบรรพบุรุษ ให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว งานนี้ชาวบ้านภูไม่ได้นำมาปฏิบัตินานแล้ว

ความหมาย เดือนอ้ายทางจันทรคติตรงกับเดือนธันวาคมทางสุริยคติ เปิดโอกาสให้พระภิกษุได้สารภาพสำนึกผิด จากการละเว้นหรือละเมิดศีล ๒๒๗ ข้อ ต่อหน้าสงฆ์ เพื่อฝึกการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น รู้สึกสำนึกผิดในความบกพร่องของตน กล้าพอที่จะสารภาพความผิดที่ตนได้กระทำลงไป ทั้งในที่ลับหรือที่แจ้ง เกิดความละอายเกรงกลัวต่อบาป ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒) เดือนยี่

ประเพณีบุญคูนลานพิธีกรรมนี้ได้สัมภาษณ์ สอบถามผู้รู้ทราบว่ามีการนำมาปฏิบัติโดยส่วนใหญ่ทำเป็นรายครัวเรือนที่มีรายได้ มีฐานะดีได้ผลผลิตข้าวต่อปีมาก เมื่อฟาดข้าวเสร็จก่อนที่จะลำเลียงเมล็ดข้าวขึ้นเก็บไว้ในเล้าในฉาง จะมีการทำบุญคูนลาน นิมนต์พระสงฆ์ ทำพิธีสู่ขวัญ สวดมนต์ยังความเป็นสิริมงคลในลานข้าว เจ้าของจะบอกแผ่บุญญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านร่วมทำบุญด้วย ปัจจุบันได้ถูกละเลยและไม่มีการปฏิบัติให้เห็นแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติเกี่ยวกับการเซ่นสรวงผีตาแฮะทำเป็นรายแต่ละครัวเรือน โดยใช้อาหารคาวหวาน เหล้า น้ำ ใบคูณ ใบยอ และมีฟ่อนข้าวมัดเล็ก ๆวางบนจอมกองข้าวที่ตีเสร็จใหม่ ๆ คนในครัวเรือนพร้อมญาติพี่น้องนั่งล้อมกองข้าวเปลือกบนลานร่วมพิธีการเซ่นสรวงผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวก็จะกล่าวบูชาพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงสุราอาหารผีไฮ่ผีนา(ผีตาแฮะ) ให้ปกป้องคุ้มครองและบันดาลให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

๓) เดือน ๓

ประเพณีบุญกุ้มข้าว หรือบุญกองข้าวท้องถิ่นผู้ไทยในอำเภอหนองสูงได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันกำหนดเอาวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปีเป็นวันเปิดประตูเล้า สู่ขวัญข้าว เอาฝุ่นใส่นา ซึ่งบรรพบุรุษมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ฟ้าเริ่มเปิดประตูน้ำทำให้ฝนเริ่มตกสู่โลกมนุษย์ เป็นระยะเวลาที่ชาวไร่ชาวนาเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ โบราณกล่าวว่า โลกมีความอิ่มอุดมสมบูรณ์ถึงที่สุด คือเป็นวันที่กบไม่มีปาก นากไม่มีรูทวาร เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ กบไม่ต้องกิน นากไม่ต้องถ่าย เป็นอุดมฤกษ์ทุกอย่างที่สมบูรณ์ เป็นวันมหัศจรรย์จึงจัดพิธีกรรมขึ้น คือ ประเพณีสู่ขวัญข้าว เปิดประตูเล้าเอาฝุ่นใส่นา สร้างพิภพให้ชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ บูชาพระแม่โพสพ ด้วยดอกไม้ ธูปเทียน (ขันธ์ ๕) ผ้าผืนแพรวา ข้าวเหนียวนึ่ง ไข่ต้ม ขนม น้ำ เหล้าใบคูน ใบยอ น้ำหอม พร้อมฝ้ายผูกขวัญ เช้ายามโพล้เพล้เจ้าของเปิดประตูเล้า นำเครื่องประกอบพิธีวาง กล่าวสำนึกในบุญคุณของข้าว ขอให้มีผลผลิตเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป นำน้ำหอมประพรมบริเวณ และสิ่งของเครื่องใช้ ขอบคุณสัตว์พาหนะวัวควาย ที่ให้แรงงาน ขอให้ตกลูกเพิ่มแพร่หลายมากยิ่งขึ้น แล้วนำปุ๋ยคอกใส่แปลงนา ซ่อมแซมรักษาพัฒนาพื้นที่ และสุดท้ายมีการผูกข้อมือขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อ แม่และผู้มีพระคุณทั้งหลายจากนั้นในวันนี้ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกของตนไปรวมกันที่วัดจัดเป็นบุญกองข้าวในตอนเย็นมีการทำบุญตั้งบุญคุณ (พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์) โยงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวและบริเวณให้เกิดความเป็นสิริมงคล และมีกิจกรรมการแสดงมหรสพคบงันสนุกสนาน สร้างความสัมพันธ์ผูกพันด้วยการรำวงการกุศลหาเงินเพื่อเป็นปัจจัยในการทะนุบำรุงวัดวาอารามตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า เป็นเสร็จพิธี

๔) เดือน ๔

ทำบุญพระเวส (ผะเหวด) ฟังพระเทศน์มหาชาติเรื่องพระเวสสันดรชาดกเนื่องจากคัมภีร์พระมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ถ้าผู้ใดปรารถนาจะได้พบกับศาสนาของพระศรีอริยเมตไตยหรือเข้าถึงศาสนา ของพระองค์แล้ว จงอย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณะ ชี พราหมณ์อาจารย์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกแยกสามัคคีกัน และให้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกให้จบภายในวันเดียว ชาวบ้านภูมีการจัดบุญประเพณีนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างงานบุญ ได้จัดกิจกรรมทำบุญเพิ่มทุนปัจจัยเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น หย่อนบาตรสวรรค์ เสี่ยงทายภาพปฐมสมโภช ลำเสี่ยงทาย สอยดาว มีการประชาสัมพันธ์ดึงดูดผู้คนมาเที่ยวงานด้วยการจัดกิจกรรมแข่งบั้งไฟ และชมการจุดบั้งแสน จุดบั้งไฟล้าน พร้อมร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง และเชิญชมขบวนแห่บั้งไฟ รำเซิ้งบั้งไฟทีตื่นตาตื่นใจได้ครบภายในวันเดียวนับเป็นกุศโลบายหลายอย่างในประเพณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคีของคนในชุมชน เพราะมีกิจกรรมมากมายท่จะต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน ต้องมีผู้ร่วมปฏิบัติจัดหน้าที่ในแต่ละฝ่ายเป็นจำนวนมาก ในเวลาเที่ยงคืนก่อนการเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก พุทธศาสนิกชนร่วมพิธีการแห่ข้าวพันก้อนตามด้วยการฟังเทศน์มหาชาติกัณฑ์แรก ทศพร เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวกับการให้ทาน การไม่โลภมาก ร่วมงานบุญพระเวส บั้งไฟล้านบ้านภูได้ชูค่าคุณความดีของตน อนุโมทนา

๕) เดือน ๕

จัดงานประเพณีสงกรานต์ หรือสรงน้ำพระ ชาวบ้านภูจะเริ่มการละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ ๑๒ - ๑๕ เมษายน ของทุก ๆปี ในวันที่ ๑๔ มีการจัดขบวนแห่พระพุทธรูปรอบหมู่บ้านและ จัดผ้าป่ารวมรุ่นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านภู แต่ละรุ่นจัดทำต้นผ้าป่าร่วมกับขบวนการแห่สรงน้ำพระในคราวเดียวกันนี้ ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านภูตั้งแต่รุ่น ๒๕๐๐ เป็นต้นมา อยู่ที่ไหนถ้าไม่ไกลเกินจะเดินทางกลับบ้านร่วมงานผ้าป่ารุ่น นับเป็นกิจกรรมวันรวมญาติได้คุ้มค่าสามัคคีมีพรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมสนุกสนาน เฮฮา ในคืนของวันที่ ๑๓ เมษายน คนบ้านภูจะจัดงานบายศรีสู่ขวัญ เลี้ยงข้าวพาแลง กินแกงกะบั้ง และแสดงศิลปะพื้นบ้านงานโฮมสเตย์ทุกรายการต้อนรับคณะผ้าป่า

๖) เดือน ๖

บุญประเพณีทางศาสนา วันสำคัญวิสาขบูชา วันเพ็ญ เดือน ๖ วันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในตอนช้ามีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์และ ทำกิจกรรมความดีต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา ตอนเย็นร่วมสวดมนต์ไหว้พระนั่งวิปัสสนากรรมมัฏฐาน ที่วัดศรีนันทารามบ้านภู เจ้าอาวาส คือพระครูนันทสารโสภิตจัดพิธีสิริมงคลสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบปฏิบัติกิจกรรมเช่นนี้มานานหลายปีแล้ว

๗) เดือน ๗

ทำบุญซำฮะ (ล้าง) เป็นพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษผู้ที่พาสร้างบ้านแปลงเมืองจนปัจจุบันรุ่งเรืองเปรื่องชื่อลือไกล ไทบ้านภูอยู่ที่ไหน ๆ ใกล้ หรือไกลพากันได้ศักดิ์ได้ศรีเป็นที่เชื่อมั่นในคุณงามความดีได้บารมีชื่อเสียงของไทบ้านคุ้มครองผู้คนเขาพากันยกย่องในความสามัคคี พิธีทำบุญซำฮะใช้สถานที่ใจกลางหมู่บ้านเป็นที่ประกอบการ รวมแฮ่ รวมทราย จัดฝ้ายบุญคุณ (สายสิญจน์)พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และใช้บทสวดปราบมารขับไล่ผีฮ้ายออกจากบ้านจากเมืองถึงเวลาตอนเช้าถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วนำหินกรวด ดินทรายน้ำพระพุทธมนต์ ไปประโปรยตามสถานที่อยู่อาศัยของใครของเราเป็นเสร็จพิธี

๘) เดือน ๘

บุญเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่ตอนเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน๘ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันเกิดพระรัตนตรัย ได้แก่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล วันนี้พุทธศาสนิกชนพากันทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายเทียนจำนำพรรษาและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแด่พระภิกษุ สามเณร ตอนเย็นมีการเวียนเทียน สวดมนต์ไหว้พระ และสวดมนต์อิติปิโส ๑๐๘ จบและในวันแรม ๑ ค่ำเป็นวันเข้าพรรษา พระภิกษุ สามเณรจะปวารณาอยู่จำพรรษา ครบ ๓ เดือน

๙) เดือน ๙

บุญข้าวประดับดินเป็นความเชื่อของชาวบ้านว่า คืนที่เดือนเก้าดับ เป็นวันที่ประตูนรกเปิดในวันแรม ๑๓ ค่ำชาวบ้านจึงได้ทำอาหารคาวหวานจัดหาน้ำอ้อยน้ำตาลผลไม้ เพื่อจัดทำเลียงกันในครอบครัว และไว้ทำบุญถวายพระภิกษุสามเณร ส่วนที่จะอุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับใช้ห่อด้วยใบตองกล้วยมีอาหารคาวหวาน หมากพลุบุหรี่ใส่กระทงเล็ก ๆแล้วเย็บรวมกันไว้เป็นเครื่องเซ่น พอเช้ามืดของวันแรม ๑๔ ค่ำก็จะนำไปเซ่นวางไว้ตามพื้น โคนต้นไม้ รอบๆ สิมเก่าบ้างตามอุปนิสัยของแต่ละคนแล้วบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาของผลบุญ และตั้งแต่เวลาประมาณ ๔-๖ นาฬิกา ชาวบ้านภูทุกครัวเรือนจะยกสำรับอาหารที่จัดตกแต่งไว้พร้อมนำไปวางบริเวณอาสน์สงฆ์รอถวายพระภิกษุสามเณร เมื่อไหว้พระรับศีลแล้วชาวบ้านทุกวัยชายหญิงล้วน แต่งกายชุดสวยในมือถือขันหรือกระติบข้าวพากันยืนแถวเรียงรายรอบอุโบสถรอใส่บาตร เป็นภาพความพร้อมเพรียงในการทำบุญข้าวประดับดิน วันนี้มีการฟังเทศน์ตลอดวันหลายกลุ่มพากันทำกัณฑ์หลอนส่งเสียงแห่ต้นกัณฑ์นำไปถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ที่วัดเป็นระยะ ๆ

๑๐) เดือน ๑๐

บุญห่อข้าวสาก พิธีทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ใส่ห่อ ส่วนใหญ่ ห่อด้วยใบตองเอาไว้แต่เช้ามืด ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ตอนเช้าจะเตรียมข้าว ขนมนมเนยและยกสำรับอาหารไปวัด วางสำรับอาหารไว้บริเวณของอาสน์สงฆ์ ไหว้พระรับศีลแล้วไปจึงยืนเรียงแถวรอใส่บาตร ทำเช่นเดียวกันกับบุญข้าวประดับดิน พอตอนสายจวนเพลจึงนำห่อข้าวสากที่เตรียมไว้แล้วไปวัดอีกครั้ง เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร โดยการถวายใช้วีการจับสลากมีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากตลอดวัน

๑๑) เดือน ๑๑

บุญออกพรรษา การจัดงานบุญออกพรรษาชาวบ้านภูจะเตรียมการจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ ที่จำเป็นในงาน เช่น น้ำมันมะพร้าว ผลตูมกา ธูป เทียน ประทีป โคมไฟสร้างห้างประทีปรอไว้ งานจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ รวม ๓ วัน ๓ คืน ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร และในแต่ละคืนชาวบ้านจะทำการจุดประทีป โคมไฟ ไหว้พระ ฟังเทศน์ แห่ผ้าจำนำพรรษา จัดกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ ตามแต่จะพากันคิดขึ้นมา ให้เกิดความสนุกสนานฉลองงานออกพรรษา ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ของคนในชุมชน

๑๒) เดือน ๑๒

เทศกาลบุญกฐิน ชาวบ้านภูจะมีส่วนร่วมในการจัดบุญกฐิน เพื่อทอดถวายจำนวน ๒ วัด และ ๑ สำนักสงฆ์ ได้แก่ วัดศรีนันทาราม วัดพุทธคีรี และสำนักสงฆ์ถ้ำกะพุงวัดศรีนันทาราม และวัดพุทธคีรีในแต่ละปีนั้น จะมีเจ้าภาพจองกฐินไว้ล่วงหน้า ซึ่งประเพณีนิยมทำเป็นกฐินสามัคคี ให้โอกาสทุกคนได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเป็นกอง ๆ ปัจจุบันสร้างค่านิยมใหม่ร่วมใจกันตั้งกองกฐินอยู่ในศาลาการเปรียญของวัด จัดฉลองกฐินด้วยและมีการนิมนต์พระนักเทศน์มาให้ชาวบ้านได้รับฟังตลอดคืน ในตอนเช้ามีการทำพิธีถวายโดยไม่ต้องมีขบวนแห่ใด ๆซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และบ้านภูเป็นสถานที่จัดบุญจุลกฐิน(กฐินแล่น) ถือเป็นนโยบายของการท่องเที่ยวของสมาคมอุตสาหกรมท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหารจุลกฐินมีการเตรียมตัวอยู่มาก ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกฝ้ายในช่วงเดือนพฤษภาคม วันงานพราหมณ์จะทำพิธีเก็บดอกฝ้าย แล้วนำดอกฝ้ายไปสู่ขั้นตอนการแปรรูปต่าง ๆจนออกมาเป็นผืนผ้าให้เสร็จภายในวันเดียวจึงจะสมบูรณ์ ได้อานิสงส์มาก ซึ่งชาวบ้านภูจัดงานปั่นฝ้ายสายบุญจุลกฐินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหารเป็นประจำทุกปี งานจะมีขึ้นใน วันที่ ๑๐-๑๑ พฤศจิกายน ทอดที่วัดถ้ำกะพุง เชิงเขาภูผาขาว

สถานที่ตั้ง
บ้านภู
ตำบล บ้านเป้า อำเภอ หนองสูง จังหวัด มุกดาหาร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง วารุณี ทวีพัฒน์ อีเมล์ culture.mukdahan@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร
จังหวัด มุกดาหาร
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่