ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 6° 51' 36.7081"
6.8601967
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 56' 47.4277"
99.9465077
เลขที่ : 193654
ขนมเต่า
เสนอโดย สตูล วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
อนุมัติโดย สตูล วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
จังหวัด : สตูล
0 471
รายละเอียด

ขนมเต่า : กูโก๊ย (龜 粿)

#ขนมอั่งกู ( 紅龜粿)

อั่งกู( 紅龜)แปลตรงตัวว่าเต่าแดง เป็นขนมมงคลที่มีความหมายดีทั้งสีสันและรูปทรง สีแดงเป็นสีแห่งโชคลาภ เต่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน เป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมจีนที่ติดตามผู้อพยพจากมณฑลฮกเกี้ยนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พบได้ตามเมืองต่างๆในช่องแคบมะละกา ตั้งแต่สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง สตูล กันตัง ไปจนถึงภูเก็ต เป็นมรดกวัฒนธรรมอาหารที่ยืนยงมั่นคงไม่เสื่อมคลาย ทุกวันนี้ยังหาซื้อ”ขนมอั่งกู”ได้ทุกๆเช้าที่ตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล

อั่งกูเป็นขนมสำคัญที่ขาดไม่ได้ทั้งในงานมงคลและอวมงคล และขาดไม่ได้บนโต๊ะเซ่นไหว้ในเทศกาล(節)ต่างๆตลอดปี อั่งกูทุกแห่งตลอดช่องแคบมะละกาทำด้วยวิธีเดียวกันหมด มีส่วนประกอบที่เป็นแป้งข้าวเหนียวกับน้ำกะทิที่ใส่สีแดงพอสวย นวดให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน และไส้ที่ทำจากถั่วทองนึ่งจนสุก* นำไปปั่นรวมกับน้ำตาลทรายและหัวกะทิ จากนั้นก็กวนไฟอ่อนๆจนแตะดูไม่ติดมือ รอให้เย็นตัวลงแล้วจึงปั้นไส้เป็นก้อนกลมๆพักไว้

เอกลักษณ์อั่งกูคือแม่พิมพ์ไม้แกะสลักรูปเต่าสวยงาม พิมพ์อั่งกูรุ่นเก่ามีหัวมีหางและมีสี่เท้า กลางกระดองเต่ามักแกะอักษรจีน 壽(ซิ่ว)แปลว่าอายุยืน เป็นนัยอวยพรให้ผู้รับประทานมีอายุยืน ขนมอั่งกูหากขาดแม่พิมพ์ไม้ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น "อั่งกู"

ขั้นตอนการทำถัดจากการนวดแป้งและปั้นไส้คือการแบ่งแป้งให้ได้ขนาดพอดีตัว นำแป้งมาห่อไส้ให้เป็นทรงกลมแล้วนำไปกดในแม่พิมพ์ กดตัวขนมกระชับแนบแม่พิมพ์ให้ทั่วเพื่อได้ลวดลายชัดเจน แล้วเคาะออกจากแม่พิมพ์ วางบนใบตองสดตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมใหญ่กว่าขนมเล็กน้อย ใบตองนี้ต้องทาน้ำมันพืชกันขนมติด

เรียงขนมในรังถึงและนึ่งในน้ำเดือดจนสุก นำออกมาพักไว้ รอจนเย็นลงแล้วจึงใช้กรรไกรตัดใบตองเป็นทรงรีพอดีกับขนม

ขนมเต่าหรืออั่งกูครองใจชาวสตูลมานาน ทุกวันนี้ยังมีช่างขนมหลายท่านทำขายทุกเช้าในตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล สายหน่อยก็หาซื้อได้ตามแผงขายขนมยามเช้าเยื้องคริสตจักรสตูล (ถนนสมันตประดิษฐ์) หรือแผงขนมบนถนนหัตถกรรมศึกษา (ถนนสายโรงพยาบาล)

ขนมหวานโบราณที่ยังอยู่ยั้งยืนยงเพราะมีดีที่สัมผัสหนึบหนับ และรสชาติที่ไม่หวานจนเลี่ยน เป็นขนมโบราณไม่กี่ชนิดที่ยังคงปรากฏบนโต๊ะอาหารเช้าของชาวสตูลได้ทุกๆวัน

_____________________

#ความรู้ท้ายโพสต์

#ขนมเต่า หรือกูโก๊ย (龜 粿) ในวัฒนธรรมจีนช่องแคบโบราณมี 4สี แต่ละสีมีชื่อเรียกต่างกัน และใช้ในโอกาสต่างกัน นอกจากอั่งกูหรือเต่าแดงแล้ว เรายังมี แปะกู แชกู และ อุ๋ยกู

▪️แปะกู(白龜)ขนมเต่าสีขาว ใช้ในพิธีไหว้ศพ ก่อนเคลื่อนศพไปสุสาน เรียกพิธีนี้ว่าว่า "ป๊ายทีป๊ายเต่" (พิธีคารวะฟ้าดิน)

▪️แชกู(青龜 )ขนมเต่าสีฟ้า ใช้ในพิธีไหว้เนื่องในวันครบปีของการไว้ทุกข์ จะมีการตั้งโต๊ะเซ่นไหว้ยาวเหยียดนานเกือบทั้งวัน ถ้าผู้วายชนม์เป็นชาย จะไหว้แชกู และใช้เทียนสีฟ้า เรียกพิธีไหว้ครบปีว่า "ตุ๊ยหนี" ในพิธีตุ๊ยหนีนี้บุตรหลานจะเปลี่ยนชุดไว้ทุกข์จากสีขาวดำเป็นสีฟ้า (โทนสีฟ้า/น้ำเงิน/เขียว ) และจะแต่งกายด้วยโทนสีนี้ไปอีก 1ปี แล้วจึงทำพิธีออกทุกข์ (ตุ๊ยอั๋ง)

[กรณีที่ไว้ทุกข์เพียงร้อยวัน ตอนเช้าไหว้แชกู พร้อมกับเทียนสีฟ้า พอเลยเที่ยงจะยกถาดแชกูออกแล้วนำถาดอั่งกูมาเซ่นไหว้แทนพร้อมกับการเปลี่ยนเทียนจากเทียนสีฟ้าเป็นเทียนสีแดงแล้วออกทุกข์เลย ]

▪️อุ๋ยกู (黄龜)ขนมเต่าสีเหลือง ใช้ในพิธีไหว้ครบปี(ตุ๊ยหนี)ของการไว้ทุกข์ กรณีผู้วายชนม์เป็นหญิง จะไหว้อุ๋ยกูพร้อมเทียนสีเหลือง แต่การแต่งกายของบุตรหลานจะแต่งกายด้วยโทนสีฟ้า/น้ำเงิน/เขียว

[ในกรณีที่ไว้ทุกข์เพียง 100วันแล้วออกทุกข์เลย ตอนเช้าไหว้อุ๋ยกู พร้อมเทียนสีเหลือง พอเลยเที่ยงเปลี่ยนจากอุ๋ยกูเป็นอั่งกู และเปลี่ยนเทียนจากสีเหลืองเป็นเทียนแดง ]

▪️อั่งกูก้อนที่ปั้นกลมๆแต่ไม่ใส่ลงในแม่พิมพ์ เรียกว่า "อั่งอี๋" ใช้ในพิธีศพ เวลายกโลงออกจากบ้าน เรียกพิธีนี้ว่า "แตะเธีย" เป็นการขอบคุณสถานที่ (ดูภาพที่ 9และ 10 )

_____________________

*คือถั่วเขียวที่ลอกเปลือกออก มีลักษณะเป็นซีกมีสีเหลืองทอง จึงเรียกว่าถั่วทอง เวลาใช้ต้องแช่น้ำประมาณ2ชั่วโมง แล้วนำไปนึ่งให้สุก จากนั้นนำมาบดหรือปั่นให้ละเอียด

_____________________

หมายเหตุ : ผู้เขียนสะกดภาษาไทยของคำว่า "อั่งกู" ด้วยเสียงสามัญ "กู" เพราะคำนี้ไม่ได้ออกเสียงวรรณยุกต์ใดๆ เวลาพูดจีนเราออกเสียงว่า อั่ง กู แม้พูดภาษาไทยเราก็เรียกขนมนี้ด้วยเสียงเดียวกัน ไม่ได้เรียกว่า อั่ง กู๊ ซึ่งเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรีแต่อย่างใด

คำสำคัญ
ขนมเต่า
หมวดหมู่
ปราชญ์ชาวบ้าน
สถานที่ตั้ง
จังหวัด สตูล
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สาวศุภณิจ พัฒภูมิ อีเมล์ patapoom01@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่