ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 12° 29' 2.3784"
12.4839940
ลองจิจูด (แวง) : E 102° 10' 4.715"
102.1679764
เลขที่ : 193810
ข้าวตังและการหุงข้าวกระทะเหล็กแบบโบราณ
เสนอโดย จันทบุรี วันที่ 14 มิถุนายน 2564
อนุมัติโดย จันทบุรี วันที่ 14 มิถุนายน 2564
จังหวัด : จันทบุรี
0 483
รายละเอียด

ในอดีตใช้ 'กระทะใบบัวการหุงข้าวด้วยกระทะใบบัวเป็นวิธีการหุงเพื่อให้ได้ข้าวเพียงพอสำหรับเลี้ยงคนจำนวนมาก มักจะเห็นในงานบุญที่เจ้าภาพเตรียมไว้สำหรับเลี้ยงแขกเหรื่อ นอกจากจะได้ข้าวสวยปริมาณตามต้องการแล้วยังมีข้าวตังติดก้นกระทะส่งกลิ่นหอมยั่วยวนน้ำลายไว้เป็นอาหารว่างได้ด้วย

ลุงสว่าง สังฆวัตร อายุ ๘๐ ปี [เกิดปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๘๒] ชาวบ้านหมู่ที่ ๒ บ้านตะปอนใหญ่ ตำบลตะปอน อำเภอขลุง กำลังสาละวนอยู่กับการตระเตรียมหุงข้าวบนกระทะใบใหญ่หลังจากก่อไฟด้วยฟืนลุกโชนแล้ว

"ตามความเข้าใจของคนสมัยก่อนที่เรียกต่อ ๆ กันมาว่ากระทะใบบัวไม่มีหู กระทะใบนี้เป็นกระทะเหล็กมีหู เป็นเหล็กหนาโบราณ ทั้งไม้พาย ตะหลิวด้ามไม้ ก็เป็นของเก่าแก่ในครัวที่วัดตะปอนใหญ่ที่ใช้ต่อ ๆ กันมา

น่าจะมีอายุเป็นร้อยปีแล้วนะ เพราะเห็นมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆที่วัดยังมีเตาก่อแบบโบราณยังใช้กันอยู่ ส่วนเตาอันนี้ก็มาทำขึ้นใหม่สำหรับไว้ใช้ออกงานต่าง ๆ"

เมื่อน้ำเดือดแล้ว ลุงสว่างเทข้าวสารลงในกระทะ

"ใบนี้หุงได้ประมาณ ๑๔ ลิตร ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงข้าวก็สุก" ลุงสว่างอธิบาย

ลุงฉลอง สนาท อายุ ๗๗ ปี [เกิดปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๘๕] ชาวบ้านหมู่ที่ ๑ บ้านตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง ทำหน้าที่ผู้ช่วยหยิบไม้พายกวนข้าวในกระทะ

ลุงสว่างหยิบกระบวยที่ทำมาจากขันอลูมิเนียมต่อด้ามไม้ยาวคอยบี้ข้าวที่จับตัวเป็นก้อนพร้อมกับตักเศษผงทิ้ง

รอจนน้ำเดือดอีกครั้ง ลุงสว่างใช้มือซ้ายจับด้ามบุ้งกี๋สานด้วยหวายกดลงไปในน้ำข้าว ส่วนมือขวาถือกระบวยตักน้ำในบุ้งกี๋ออกทิ้ง [เช็ดน้ำ] จนน้ำพร่องลงใกล้งวด ขณะที่ลุงฉลองยังใช้ไม้พายกวนข้าวจากก้นกระทะให้ขึ้นมาอยู่ข้างบนตลอดเวลา ลุงสว่างดึงดุ้นฟืนออกจากเตาให้เหลือเพียงถ่านในเตา ขั้นตอนนี้เรียกว่า 'ราไฟ'

สองมือเหี่ยวย่นแต่ยังแข็งแรงหยิบหม้ออลูมิเนียมใบเล็กที่ใส่น้ำยาข้าวตังกดวางลงในข้าวเป็นการอุ่นน้ำยาข้าวตังไปพร้อมกัน จากนั้นใช้ฝาครอบกระทะไว้เพื่อดงข้าว [อบ] ให้ระอุพร้อมที่จะสุก

ถึงขั้นตอนนี้ลุงทั้งสองรามือมีเวลานั่งพักคอย

การหุงข้าวด้วยกระทะขนาดใหญ่ด้วยเตาถ่านเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของคนโบราณเมื่อยังไม่มีไฟฟ้าใช้

ซึ่งต้องใช้แรงกายและความชำนาญในการกะเวลาของแต่ละขั้นตอนการหุง

ต่างจากสมัยนี้ที่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาดต่าง ๆ ให้เลือกใช้สำหรับหุงข้าวปริมาณตามความต้องการได้โดยสะดวก

"สมัยนี้ไม้ฟืนหายาก ไม่ค่อยมีใครหุงข้าวแบบนี้แล้ว สมัยก่อนเวลาเลี้ยงคนเป็นร้อยต้องหุงแบบนี้ มีข้าวตังเหลือให้กินอีก เมื่อก่อนไม่ค่อยมีอะไรกิน เดี๋ยวมีนี้ของกินเยอะแยะ" ลุงสว่างแจงระหว่างคอยข้าวสุก

เมื่อข้าวสุกแล้วจะส่งกลิ่นหอมที่คุ้นเคย ลุงฉลองเปิดฝาครอบออก ไอข้าวพวยพุ่งขึ้นมา แล้วหยิบหม้อใบเล็กออกมาจากกระทะ ลุงสว่างใช้ตะหลิวด้ามไม้ค่อย ๆ ตักข้าวใส่หม้ออลูมิเนียมสองใบ ที่เหลือก้นกระทะเป็นข้าวตัง ขณะที่ความร้อนจากเตายังระอุอยู่ ลุงสว่างตักน้ำยาข้าวตังราดลงไปที่ข้าวก้นกระทะ ส่งกลิ่นเรียกผู้คนมารุมล้อม พอได้ที่ลุงสว่างใช้ตะหลิวแซะข้าวตังตัดแบ่งแจกจ่ายให้ทั่วถึงกัน หลังจากเสร็จภารกิจ ลุงสว่างบอกว่า น้ำยาข้าวตังเป็นสูตรโบราณ "ส่วนผสมมีหัวกระเทียมปอกโขลกกับหัวหอม ผักชี ใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชก็ได้ตามใจชอบเคี่ยวไฟอ่อน ๆ เติมน้ำปลา น้ำตาลทรายหรือน้ำอ้อยจนละลายไม่ต้องให้เดือด"

สถานที่ตั้ง
วัดตะปอนใหญ่
หมู่ที่/หมู่บ้าน 2
ตำบล ตะปอน อำเภอ ขลุง จังหวัด จันทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
facebook ปราณ ปรีชญา (คนอาสาบันทึกจารึกแผ่นดิน)
บุคคลอ้างอิง ปราณ ปรีชญา (นามแฝง)
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี อีเมล์ chantaboon_culture@hotmail.com
อำเภอ เมืองจันทบุรี จังหวัด จันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000
โทรศัพท์ 039303298
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่