โขนสดบางกะจะ ตำนานการแสดงพื้นบ้าน มรดกทางวัฒนธรรมที่ขาดผู้สืบทอด
ชื่อโขนสด มาจาก 'หนังสด' การแสดงของชาวบ้านที่นำโขน หนังตะลุง ละครชาตรี ลิเก มาผสมผสานกัน พอความหมายของ 'หนังสด' สื่อในทางติดลบ จึงเลี่ยงมาใช้ 'โขนสด'
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่าหนังสด คือการมหรสพอย่างหนึ่ง ลักษณะคล้ายโขนแต่เดินเรื่องเร็วกว่า
ผู้แสดงสวมหัวโขนไม่ปิดคลุมใบหน้า ร้องและเจรจาเอง ใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบ, โขนสด ก็เรียก
โขนสดเป็นมหรสพของชาวบ้านที่เกิดจากการผสมผสานทางศิลปะการแสดงหลายอย่างเข้าด้วยกัน มีการแต่งองค์ทรงเครื่อง หรือ ‘ยืนเครื่อง’ แบบโขน มีการขับร้อง คำพากย์ คล้ายโขน ลิเก สำเนียงคล้ายเสียงร้องของโนราและหนังตะลุง การออกท่าทางในการแสดงคล้ายหนังตะลุงผสมกับโขน
มีท่าเต้นที่ก้มๆ เงย ๆ คล้ายท่าเชิดหนังตะลุง และทำท่าเต้นแบบโขน ใช้เครื่องดนตรีหลักในการให้จังหวะเช่นเดียวกับละครชาตรีแต่หนังสดหรือโขนสดจะลดแบบแผนที่ยุ่งยากลงทั้งท่ารำ เครื่องแต่งกาย และปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงแบบโขนชั้นสูงให้เรียบง่ายเป็นแบบชาวบ้าน เรื่องที่นิยมนำมาแสดงคือรามเกียรติ์ แต่มักจะเพิ่มเติม ดัดแปลงไปจากเดิม
การแสดงหนังสดหรือโขนสดมีปรากฏอยู่หลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเล่นกันแพร่หลายในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก อาทิ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี เป็นต้น ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีกำเนิดมาจากที่ไหน ใครเป็นคนต้นคิด
โขนสดถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน [Performing folk arts] เป็นของชาวบ้านสามัญชน!!!!!
โขนสดบางกะจะ อ.เมือง จันทบุรี มีถิ่นกำเนิดนอกพื้นที่ โดยชาวบางกะจะนำมาปรับเปลี่ยนเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผู้นำมาคือ ครูอ้อน หรือฉอ้อน ชูเจริญ ต.บางกะไชย อ.แหลมสิงห์ ก่อนย้ายมาทำสวนผลไม้ที่ ต.บางกะจะ ราวปี ๒๔๗๖ถึง ๒๔๘๔ ปัจจุบันมีลูกศิษย์สืบทอด จากชื่อ คณะศิษย์บันเทิงศิลป์ มาถึงรุ่นหลาน คือ จักรวาล มงคลสุข ในนาม คณะจักรวาลมงคลศิลป์ ปัจจุบันอยู่บ้านท่าใต้ ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่จ.จันทบุรี และมีโรงเรียนบางกะจะ ได้อนุรักษ์การแสดงโขนสดอยู่ถึงปัจจุบัน