ประเพณีชนไข่แดง ในภาษาอาข่าเรียกว่า “ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อ่า เผ่ว” หลังพิธีอยู่กรรมเผาไร่หรือหลังจากทำสวนทำไร่เสร็จ ช่วงประมาณเดือนเมษายน จะมีการประกอบประเพณี “ขึ่มสึขึ่มมี้ อ่าเผ่ว” หมายถึง ประเพณีต้อนรับฤดูกาลใหม่ เรียกสั้นๆว่า “ปีใหม่ชนไข่อ่าข่า” หรือ “ปีใหม่ไข่แดง”
มีตำนานเล่าว่าประเพณี “ขึ่มสึขึ่มมี้ อ่าเผ่ว” คือช่วงเวลาที่ผู้นำวัฒนธรรมและหมอสวดพิธีกรรมได้ประชุมหารือเรื่องกฎจารีตพิธีกรรมของชนเผ่า โดยเริ่มตั้งแต่ข้างขึ้น 1 ค่ำ จนถึงข้างแรม 15 ค่ำต้องใช้เวลานานเป็นเดือนเพราะมีเนื้อหาด้านต่างๆ ในการดำเนินชีวิตมาเล่าสู่กันฟังถือเป็นเป็นการสังคยนาวัฒนธรรมในรอบปี และในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการประกอบประเพณีกรรมหลายอย่าง ทั้งการกราบไหว้บรรพบุรุษ การต้อนรับฤดูกาลใหม่ (ฤดูฝน) การฉลองตำแหน่งผู้นำวัฒนธรรมและการปกครองชุมชนและยังเป็นวันเด็กอาข่าอีกด้วย ในการประกอบพิธีกรรมจะมีการนำพืชจากธรรมชาติมาย้อมไข่ให้เป็นสีแดงให้เด็กนำไข่มาชนเล่นกัน และยังมีการจัดงานรื่นเริงภายในหมู่บ้าน มีการสังสรรค์ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย
ต่อมาประเพณี “ขึ่มสึขึ่มมี้ อ่าเผ่ว” หรือ ปีใหม่ชนไข่อาข่า ได้ถูกย่นเวลาเหลือเพียง 4-5 วันคาดว่าเหตุที่ย่นเวลาก็เพราะวิถีชีวิตชนเผ่าที่เปลี่ยนแปลงไป