ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 7° 37' 5.9999"
7.6183333
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 4' 23.9999"
100.0733333
เลขที่ : 194099
การเล่นของเด็ก : จุ้มจี้
เสนอโดย พัทลุง วันที่ 4 กันยายน 2564
อนุมัติโดย พัทลุง วันที่ 4 มกราคม 2566
จังหวัด : พัทลุง
0 1262
รายละเอียด

การเล่นของเด็ก : จุ้มจี้

การเล่นจุ้มจี้ หรือ การเล่นจ้ำจี้ของเด็กภาดกลางนั่นเอง การเล่นชนิดนี้ เป็นการเล่นเพื่อคัดออก เพื่อประโยชน์ในการเล่นชนิดอื่น ๆ เช่นจะเล่นซ่อนหา คนที่เหลือเป็นคนสุดท้าย จากการเล่นจุ้มจี้ จะเป็นผู้อยู่โยง เป็นต้น

ผู้เล่น

นิยมเล่นกันทั้งในหมู่เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง จำนวนผู้เล่นมีตั้งแต่สองคนขึ้นไป อย่างมากที่สุดมักไม่เกิน 6 หรือ 7 คน เพราะถ้าผู้เล่นมากเกินไป คนจี้จะไม่สามารถจี้มือผู้เล่นได้ครบทุกคน

สถานที่เล่น

เล่นได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ไม่ต้องอาศัยพื้นที่มากนัก

โอกาสที่เล่น

การเล่นชนิดนี้อาจจะเล่นเพื่อนำไปสู่การเล่นชนิดอื่น คือเพื่อตัดสินว่า ใครจะได้มีโอกาสเล่นก่อนโดยถือเกณฑ์ว่า ผู้ที่ถูกจี้ออกก่อนจะได้เล่นก่อน ส่วนผู้ที่เหลือเป็นคนสุดท้ายจะเป็นผู้เล่นหลังสุด นอกจากจะเล่นเพื่อเป็นการตัดสินในลักษณะดังกล่าว ยังเล่นเพื่อแพ้ชนะในเกมส์การเล่นชนิดนี้เองด้วย นิยมเล่นกันเมื่อมีเวลาว่าง จะเป็นเวลาใดก็ได้

วิธีเล่น

ก่อนจะเริ่มเล่น ผู้เล่นต้องหาตัวผู้จุ้มจี้ก่อน อาจจะใช้วิธีชันชี หรือจับไม้สั้นไม้ยาวก็ได้ เมื่อได้คนจุ้มจี้แล้ว ผู้เล่นทุกคนมานั่งล้อมวง คว่ำฝ่ามือทั้งสองข้างวางบนพื้นข้างหน้า ห่างจากตัวพอประมาณ ไม่วางทับบนมือคนอื่นต่อจากนั้นตัวผู้จุ้มจี้ ก็ใช้นิ้วชี้มือขวา จี้ลงบนหลังมือของตน แล้วจี้หลังมือของผู้ร่วมเล่นซึ่งนั่งอยู่ทางซ้ายมือผู้จุ้มจี้เป็นลำดับไป ถ้าผู้จุ้มจี้ถนัดซ้ายก็เวียนไปขวามือของตนเรื่อย ๆ เวียนเป็นวงกลมจนกลับมาถึงมือของตัวผู้จุ้มจี้เอง ขณะที่จุ้มไปนั้นจะต้องร้องเพลงประกอบไปด้วย เมื่อเพลงจบลงและผู้จุ้มจี้ไปลงที่มือของใครผู้นั้นก็ยกมือที่ถูกจี้ออกไป แม้จะจี้ลงบนมือผู้จุ้มจี้เอง ผู้จุ้มจี้ก็ต้องยกมือออกด้วย ถ้าเป็นการเล่นเพื่อนำไปสู่การเล่นชนิดอื่น คนที่เหลือเป็นคนสุดท้ายจะเป็นผู้แพ้ จะต้องเป็นผู้ได้เล่นหลังสุดหรืออาจจะต้องเป็นม้าให้เขาขี่ แต่ถ้าเป็นการเล่นในเกมส์ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้เล่นเพื่อการเล่น ชนิดอื่น ผู้ที่เหลือในวงคนสุดท้าย คือผู้ชนะ เพลงที่ร้องประกอบการเล่นชนิดนี้มีอยู่มากมาย แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ที่รวบรวมได้มีดังนี้

"จุ้มจี้จุ้มปุด จุ้มแม่สีพุด จุ้มใบหร้าหร้า พุทราเป็นดอก หมากงอกเป็นใบ พุ้งพิ้งลงไป ว่ายน้ำตุกติก"

"จุ้มจี้จุ้มปุด จุ้มแม่ลีพุด จุ้มแม่ลัดดา พุทราเป็นดอก หมากงอกเป็นใบ พุ้งพิ้งลงไป ว่ายน้ำตุกติก"

"จุ้มจี้จุ้มจวด พาลูกไปบวช ไปวัดไปวา พอลึกออกมา ตุ๊กตาพุงป่อง"

"จุ้มจี้จุ้มจวด พาลูกไปบวช ถึงวัดถึงวา พอลึกออกมา ตุ๊กตาพุงป่อง ทำท่าไหว้ก็อง พุงป่องตาเหล่ ทำท่าจับเข้ เข้ขบไขด้วน"

"จุ้มจี้จุ้มจวด พาลูกไปบวช ถึงวัดถึงวา พอสึกออกมา ตุ๊กตาเทิงหว่อม"

"จุ้มจี้จุ้มจวด จุ้มหนวดแมงวัน แมงภู่จับจันทร์ แมงวันจับผลุ้ง ฉีกใบตองมารองข้าวแขก น้ำเต้าแตกแหกดังโผลง ช้างเข้าโรง อีโมงเฉ้ง แม่ไก่ฟัก ร้องก๊อกก๊อก ทิ่มคางคก ยกออกยกออก"

"จุ้มจี้จุ้มจน จุ้มยนคนแก่ เด็กชายขี้แพ้ ลักแลเด็กหญิง คดข้าวใส่ถาด นางนาฎเล่นกล ออกไปสักคน นางเพื่อนเราเหย""จุ้มจี้จุ้มเจ้า ช้างเข้ากอไผ่ ข้างน้อยช้างใหญ่ ช้างเพชรภูธร นางนาฎเดินก่อน เป็นเลขเป็นศร นางสมรท้องตูม"

ข้อสังเกตุ

ในปัจจุบันนี้ยังพอจะหาดูการเล่นชนิดนี้อยู่ได้บ้างในหมู่เด็กผู้หญิง แต่ก็เหลือน้อยเต็มที ดาดว่าอีกในไม่ช้าคงจะหาดูอีกไม่ได้ และบทร้องประกอบการเล่นชนิดนี้ ดูเหมือนแต่เดิมมีบทร้องจุ้มจี้มากมาย แต่เดี๋ยวนี้มีเหลืออยู่เพียงไม่กี่บท

ข้อคิดเห็น

การเล่นชนิดนี้จะช่วยให้เด็กที่เล่นได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินและความบันเทิงใจเป็นประการสำคัญ

คำสำคัญ
จุ้มจี้
หมวดหมู่
อื่นๆ
สถานที่ตั้ง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
ถนน ราเมศวร์
ตำบล คูหาสวรรค์ อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
การเล่นของเด็กภาคใต้ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (2528). กรุงเทพ.ห้างหุ้นส่วนจ
บุคคลอ้างอิง นางสาวจำลองลักษณ์ รอดเนียม อีเมล์ culture-phatthalung@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
ถนน ราเมศวร์
ตำบล คูหาสวรรค์ อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง รหัสไปรษณีย์ 93000
โทรศัพท์ ๐๗๔๖๑๗๙๕๘ โทรสาร ๐๗๔๖๑๗๙๕๙
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/phatthalung/main.php?filename=index
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่