โพนหรือตะโพนคือกลองทัดหรือกลองเพลของภาคกลาง เป็นดนตรีประเภทเครื่องตีในภาคใต้ มีไว้ประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า "คุมโพน" ใช้ตีประชันเสียงเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เรียกว่า "แข่งโพน" และนำไปเล่น "หลักโพน" โพนจะมีค่าเพียงใดขึ้นอยู่กับความนุ่มนวลและความดังของเสียง ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำตัวโพน (หรือ "หน่วยโพน") กับวิธีหุ้ม
การทำหน่วยโพน
หน่วยโพน ทำด้วยไม้ที่มีเนื้อเหนียว แข็ง ไม่แตกง่ายเช่น ไม้ขนุน ไม้พะยอม ไม้ตาลโตนด ฯลฯ โดยเลือกต้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ฟุตครึ่งเป็นอย่างน้อย ตัดไม้เป็นท่อนให้ความยาวพอ ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อนไม้หรือยาวกว่าเล็กน้อย นำมาถากด้านนอกให้มีลักษณะสอบหัวสอบท้าย แต่งผิวให้เรียบแล้วเจาะตามแนวยาวตรงจุดศูนย์กลางให้ทะลุ ทะลวงรูให้รูกว้างขึ้นขนาดอย่างน้อยพอกำหมัดล้วงได้ จากนั้นใช้เครื่องมือขุดแต่งภายในให้รูผายกว้างออกเป็นรูปกรวยทั้ง ๒ หน้าเรียกว่า "แต่งอกไก่" กะความหนาตรงปากโพนทั้ง ๒ หน้าประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ ใช้เหล็กกลมเจาะรูรอบปากทั้งสองเพื่อใส่ลูกสัก รูนี้จะเจาะห่างจากขอบปากเข้ามาราว ๒ นิ้ว และเจาะห่างกันราว ๑.๕ นิ้ว โดยเจาะให้ทะลุขนาดรูเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย เจาะรูที่กึ่งกลางโพนเอาเหล็กทำบ่วงร้อยสำหรับแขวน ต่อไปก็เตรียมอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการหุ้มโพนให้พร้อม ได้แก่
๑. ลูกสักทำด้วยไม้ไผ่ดงที่แก่จัด ตัดให้ด้านหนึ่งติดข้ออีกด้านหนึ่งวัดให้ได้ขนาดสั้นกว่ารัศมีปากโพนสัก ๑.๕ นิ้ว ผ่าเป็นซี่สี่เหลี่ยมจำนวนเท่ารูใส่ลูกสักที่เจาะไว้ เหลาให้กลม ด้านที่ติดข้อแต่งให้หน้าตัดโค้งมน บากหัวทำมุม ๙๐ องศา ตัดจากจุดบากราว ๑ นิ้ว ค่อยแต่งให้เรียว แล้วตากแดดไว้ให้แห้ง
๒. ปลอกหวายใช้สำหรับรัดหนังให้ตึงก่อนตอกลูกสัก ทำด้วยหวายเป็นขดกลมขนาดโตเท่าเส้นรอบวงของโพนบริเวณตัดเข้าไปจากรูใส่ลูกสัก
๓. หนังทุ้มใช้หนังวัวหรือหนังควายแล้วแต่ความเหมาะสมคือ ถ้าเป็นโพนขนาดใหญ่จะใช้หนังควาย เพราะผืนใหญ่และหนากว่าหนังวัว หนังต้องฟอกเสียก่อน การฟอกมีวิธีต่างๆ กัน เช่น นำหนังแช่น้ำในภาชนะ ทุบข่า รากต้นช้าพลูแล้วหมักไว้ ๒ วัน หนังที่นำมาหมักนี้ต้องขูดขนออกเสียก่อนและต้องใช้หนัง ๒ ผืน
๔.สถานที่วางโพนสำหรับหุ้มปักหลักไม้ขนาดสูง๑.๕ เมตร ๔ อัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างกว่าขนาดโพนเล็กน้อย บากหัวไม้ด้านในเป็นมุม ๙๐ องศาให้เสมอกัน (ถ้าบากไว้ก่อนก็ตอกให้เสมอกัน) เลื่อยหรือตัดไม้กระดานเป็นแผ่นกลมขนาดพอดีกับพื้นที่ระหว่างไม้หลักทั้ง ๔ วางปูลงบนรอยบาก เรียกกระดานนี้ว่า “แป้น” หรือ “พื้น”สำหรับเป็นที่วางโพน ห่างจากหลักไม้ทั้ง ๔ ออกไปราว ๒ เมตร ปักหลักวางราวโดยรอบ ราวจะสูงจากพื้นไม่เกินแนวแป้น และราวแต่ละอันจะตอกสกัดด้วยไม้ง่ามหรือเรียกว่า “สมอบก”อย่างแข็งแรง หาไม้คันชั่งขนาดเท่าข้อมือยาวราว ๒.๕ เมตร ไว้ ๓-๘ อัน และเชือกหวายสำหรับผูก และดึงหนังสักจำนวนหนึ่ง แต่ละเส้นยาวราว ๒ เมตร
วิธีหุ้มโพน
วางโพนบนแป้น ยกหนังมาตัดให้ได้ผืนโตกว่าหน้าโพนโดยกะให้หนังเหลือจากหน้าโพนไว้มากๆ เอาหนังปิดลงบนหน้าโพนนั้น ดูให้หนังรอบๆ หน้าโพนห้อยลงพอๆ กัน ใช้เหล็กหรือปลายมีดแหลมเจาะหนังให้ทะลุเป็นรูเป็นคู่ๆ ห่างกันราว ๒-๓ นิ้ว ใช้ไม้สั้นๆ ขนาดดินสอดำ สอดรูแต่ละคู่ไว้ เสร็จแล้วใช้เชือกร้อยรูแต่ละคู่ผูกเป็นบ่วง
ดามยาวเสมอขอบแป้น ใช้ไม้คันชั่งสอดบ่วงขัดปลายไม้ด้านในไว้กับแป้นปลายไม้ด้านนอกดึงกดลงเอาเชือกผูกขีดไว้กับราวซึ่งมีสมอบกยึด การดึงไม้คันชั่งพยายามให้แต่ละอันดึงหนังตึงพอๆ กันจากนั้นตากลมทิ้งไว้ คอยชโลมน้ำและตีเป็นระยะๆ เพื่อให้หนังยืดตัว ทุกครั้งที่ชโลมน้ำและตีพยายามดึงไม้คันชั่งให้ดึงหนังให้ตึงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทำเช่นนี้ราว ๒-๓ วัน พอเห็นว่าหนังตึงได้ที่แล้ว ก็นำปลอกหวายสวมทับลงไป ตอกปลอกให้ลดต่ำอยู่ใต้ระดับรูลูกสัก ใช้เหล็กเจาะหนังตรงรูลูกสักให้ทะลุแล้วใส่ลูกสักให้ตะขอหงายขึ้นบน ตอกอัดลูกสักให้แน่นทุกรู ปลดไม้คันชั่งออก ตัดหนังระหว่างปลอกกับลูกสักโดยรอบ เอาหนังส่วนที่ตัดออก เป็นอันเสร็จการหุ้มโพนไป ๑ หน้า หน้าต่อไปก็หุ้มเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการ ถ้าจะวางตีก็ใส่ขา ๒ ขา โดยทำขาคล้ายซี่ฟากขนาดโตเท่าหัวแม่เท้า ๒ อัน ยาวกว่ากลองเล็กน้อยสอดเข้าใต้ปลอกด้านหนึ่งให้ห่างกันราว ๕ นิ้ว ปลายให้รวบ สอดที่ปลอกบน
แข่งโพน
การแข่งโพน แบ่งได้ ๒ อย่าง คือ
๑. การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน แข่งขันจนผู้ตีมืออ่อนหรือผู้ตีหมดแรงจึงจะตัดสินได้
๒. การแข่งเสียง การแข่งแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาสั้นๆ ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้การแข่งโพน ส่วนมากจะเริ่มในปลายเดือน ๑๐ และสิ้นสุดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันชักพระแข่งขันกันวันไหน สถานที่ใด แล้วแต่คู่แข่งขันจะตกลงกันและนิยมแข่งขันกันในเวลากลางคืน ถ้าหากมีโพนหลายคู่การแข่งขันจัดเป็นคู่ๆ โดยแต่ละฝ่ายใช้ผู้ตีคนเดียว โดยเริ่มจากการตีลองเสียงว่า โพนใบไหนเสียงใหญ่ และใบไหนเสียงเล็กกรรมการจัดไว้เป็น ๒ ชุด สำหรับควบคุมมิให้ผู้เข้าแข่งชันเปลี่ยนคนตีชุดหนึ่ง และเป็นกรรมการฟังเสียง ซึ่งมีราว ๓-๕ คน อีกชุดหนึ่ง กรรมการชุดหลังนี้จะอยู่ห่างจากที่ตีไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร เพื่อฟังเสียงและตัดสินว่า โพนลูกใดดังกว่ากัน
การเล่นหลักโพนจะมีคืนสำคัญอยู่คืนหนึ่ง คือคืนก่อนวันชักพระในวันออกพรรษา จะมีการแข่งขันถือเอาแพ้ชนะกันในคืนนั้น เมื่อแข่งขันแล้วฝ่ายใดแพ้จะเลี้ยงฝ่ายชนะด้วยอาหารคาวหวานในวัดของฝ่ายผู้แพ้ในวันแรม ๑ ค่ำ หลังพระกลับสู่วัดแล้ว เพื่อความสนุกสนานและสามัคคีกันทั้ง ๒ ฝ่าย