การทอผ้าจัดเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการมัดหมี่จึงเป็นการสื่อสารให้ผู้ฟังสามารถรับรู้ถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการมัดหมี่ว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้
1. ด่อง คือ การทำให้เส้นใยไหมอ่อนตัวเรียบนุ่มลงกว่าเดิม การด่องจะกระทำเฉพาะเส้นใยไหมเท่านั้น
2. ค้น คือ การจัดเรียงเส้นพุ่งให้มีความกว้างเท่ากับหน้าฟืมและมีความยาวตามที่ต้องการ
3. ลำหมี่ คือ การแบ่งจังหวะเส้นพุ่งที่ทำให้เกิดสายโดยการมัดย้อม หนึ่งลำหมี่จะประกอบด้วยเส้นใย 120 - 160 เส้น และจำนวนของเส้นใย ในหนึ่งลำจะมีจำนวนเป็นเลขคู่เสมอ
4. ขีนหมี่ คือ จังหวะที่เส้นใยเดินไขว้กันในโฮงหมี่ การนับจำนวนขีนให้นับระหว่างลำใดลำหนึ่งก็ได้ โดยนับด้านที่เส้นใยไขว้กัน
5. เส้นพุ่ง คือ เส้นใยที่ผ่านการมัดย้อมแล้ว หลังจากนั้นจะนำไปกวักและกรอเข้าหลอดต่อไป แต่ในกรณีที่ผ้าสีเดียวทั้งผืน เส้นพุ่งจะไม่ผ่านการมัดหมี่แต่จะย้อมด้วยสีที่ต้องการแล้วนำไปกรอเข้าหลอดเตรียมทอ
6. กวักไหม คือ การนำปอยไหมมาเข้ากงแล้วกวักไหมออกเพื่อให้ใยติดกันจนหมดปอย
7. กวักหมี่ คือ การนำปอยไหมที่ผ่านการมัดย้อมแล้วเข้ากง แล้วกวักออก เพื่อให้ได้เส้นใยติดต่อกันตลอดทั้งปอย
8. มัดหมี่ คือ การผูกเก็บลายสีพื้นไว้ก่อนที่จะย้อมครั้งต่อไป
9. โอบหมี่ คือ การมัดเก็บลายของสีย้อมครั้งที่หนึ่งเพื่อนำไปย้อมสีต่อไป
10. ถมหมี่ คือ การมัดเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ลวดลายที่สมบูรณ์และมีสีใหม่เพิ่มขึ้น
11. ปั้นหลอด คือ การนำเส้นใยที่ผ่านการกวักเรียบร้อยแล้วมากรอเข้าหลอดเตรียมไว้สำหรับที่จะนำไปทอต่อไป
12. เครือหูก คือ ส่วนที่เป็นด้ายเส้นยืนในการทอผ้ามัดหมี่
13. ค้นหูก คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมหรือด้ายมาทำเป็นเครือหูก
14. สืบหูก คือ กรรมวิธีที่นำเอาด้ายเส้นยืนที่ย้อมสีแล้ว ไปต่อเข้ากับกกหูก
15. กางหูก คือ การนำเอาเครือหูกที่สืบแล้วพร้อมฟืมและตะกอทั้งชุดมากางเข้ากับกี่เตรียมทอ