ความเป็นมา อัตลักษณ์ สาระคุณค่า
บ้านนาหินกอง หมู่ที่ ๘ ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าข่า หรือ บรู คำว่า “บรู”แปลว่าภูเขา ซึ่งมีถิ่นเดิมอยู่ในแขวงสุวรรณเขตแขวงสาลวัน และแขวงอัตบือ ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาได้อพยพมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ โดยอาศัยอยู่บริเวณตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง เป็นส่วนใหญ่ ชาวบรูเคยมีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สูงส่งมาก่อน มีความรู้ในการประดิษฐ์ของใช้ในการดำรงชีวิตเช่น การปั้นไหข่า การหล่อโลหะ(กลองมโหระทึก)นำหินมากรอฟันให้ราบเรียบ สวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ ของชาวบรู ชาวบรูดั้งเดิมผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยว มีผมม้ายาวประบ่า นิยมใช้ผ้าแดงผูกคล้องคอ หรือโพกศีรษะ เป็นเอกลักษณ์ ตามประวัติเล่าว่า เนื่องจากบรรพบุรุษชาวบรูได้ใช้ผ้าชุบเลือดสีแดงแนบติดกายไว้ก่อนสิ้นชีวิต ในการต่อสู้แย่งชิงถิ่นที่อยู่กับชาวผู้ไทยในอดีตในดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชาวบรูจึงถือว่าผ้าแดง เป็นเอกลักษณ์ของชาวบรูส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าซิ่นยาวถึงข้อเท้า เปลือยท่อนบนผู้ชายบรู เคยมีประวัติว่าเป็นนักรบที่ห้าวหาญ มีหน้าไม้ พร้อมลูกดอกอาบยาพิษยางน่อง เป็นอาวุธประจำกายจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นหมู่บ้าน ขนาด ๒๐ - ๓๐ หลังคาเรือน อาศัยหรือมักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่เป็นป่าเขา เพื่อสะดวกในการออกหาของป่า ล่าสัตว์ ในอดีตบ้านเรือนชาวบรูมีโครงสร้างง่าย ๆ เป็นบ้านชั้นเดียว หลังคา มุงด้วยหญ้าคา หรือใบตองกุง เสาทำจากจิกที่หาได้ในป่าท้องถิ่น พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ฝาบ้านจะแนบใบไม้ เพื่อกันแดด ลม ฝน การทำมาหากินจะทำบนที่ราบสูง จึงมีการปลูกข้าวไร่ ถั่ว ฝ้าย เป็นต้น
ความเชื่อดั้งเดิมนั้นชาวบรูมีความเชื่อและนับถือผีโดยเฉพาะเรื่องผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ตา จึงมีการบวงสรวงทุกปีในช่วงเดือนห้า โดยเชื่อว่าจะคุ้มครอง ปกปักรักษาหมู่บ้าน ลูกหลาน ทุกคนให้อยู่ดีมีสุข ต่อมาจึงมีการผสมผสานความเชื่อเรื่องผีกับศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน
พื้นที่ตำบลกกตูม มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและป่าดงดิบ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) จึงใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานอยู่ในเขตงานหรือจังหวัด ๓๓๓ และเป็นเขตที่เรียกว่า ฐานที่มั่นภูพานมีการสะสมกำลังและเคลื่อนไหว โดยการจัดตั้ง ฝังตัว ให้การศึกษาแก่ประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าว กลุ่มไทยบรูเข้าร่วมกับ พคท. เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ สมาชิก พคท. ได้เข้าปลุกระดมไทยบรูในตำบลกกตูมซึ่งเป็นชนเผ่าที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของตำบลกกตูมในขณะนั้น และไทยบรูได้เข้าร่วมกับ พคท. ไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๗๐ ด้วยหวังอยากให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงและมีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการดำเนินชีวิต ในขณะนั้น ขาดแคลนทุกอย่าง ถูกดูหมิ่น ดูแคลนในความเป็นชาวป่าชาวเขา ประกอบกับทางราชการไม่ได้เอาใจใส่ทุกข์สุขของชาวไทยบรูเท่าที่ควร การได้เข้าร่วมกับ พคท. นั้น ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีการลบหลู่ ดูหมิ่น และการปฏิบัติงานบางเขตมีการใช้ภาษาบรูเป็นภาษาในการสั่งงาน ในการปฏิบัติหน้าที่ไทยบรูจะรักษาระเบียบวินัยดีมาก จนบางคนได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้นำและผู้บังคับบัญชา การเข้าร่วมปฏิวัติทุกคนจะได้รับการศึกษาแนวความคิดลัทธิมาร์ก นโยบายพรรคต้องเรียนเพื่อให้เขียนและอ่านได้ ต่อมาฝ่ายรัฐบาลใช้นโยบายแยกปลา ออกจากน้ำ คือตัดกำลังไม่ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งอยู่บนภูเขาและป่าทึบ ได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนจากประชาชนด้านเสบียงอาหารและข้อมูลข่าวสาร โดยแยกประชาชนไปอยู่ที่นิคมสร้างตนคำสร้อย (บ้านร่มเกล้าในปัจจุบัน) ทำให้ชาวบรูส่วนหนึ่งหนีเข้าร่วมกับ พคท. นอกจากอพยพประชาชนออกจากถิ่นเดิมแล้ว ทางการได้จุดไฟเผาบ้านเรือน เพื่อป้องกันและตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามเข้ามาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งถือว่า เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งหมู่บ้านที่ถูกเผา คือบ้านนาหินกอง ตำบลกกตูม สร้างความเจ็บปวด และสะเทือนใจต่อชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเข้าป่าแล้วในช่วงค่ำคืนหรือว่างเว้นภารกิจชาวไทยบรูก็จะมีการ ร้องรำ ทำเพลง และจัดการแสดง เพื่อผ่อนคลายความทุกข์โศก และระหว่างร่ายรำก็จะมีการร้องบทกลอนที่ย้ำถึงประวัติศาสตร์วิถีชีวิตของไทยบรู ซึ่ง นายวัต กุลบุญมา เป็นผู้แต่งไว้ มีใจความว่า
“เรานาหินกอง บ้านปากช่อง คำผักกูด สานแว้ นาโคกกุง บ้านพ่อเมืองแม่ พวกเราที่แท้เป็นชนไทยบรู อาศัยอยู่ตามเขาภูพาน แสนทุกข์ทรมานแต่พวกเราอยู่ได้ ยามใดเศรษฐกิจฝืดเคือง เราเผ่าตองเหลือง กินเผือกกินมัน ถึงแม้หมู่บ้านถูกเผา แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังพัฒนา สืบทอดประเพณีไทย อนุรักษ์ประเพณีไว้ ในหลวงห่วงใย ปวงเราชนชาวดอย หยอดข้าวก็ได้ เกี่ยวข้าวก็เป็น ตอนเย็นเย็นมาตำข้าวนำกัน”
ปัจจุบันนี้ ความเจริญทางด้านต่าง ๆ ได้เข้ามาในชุมชนของชาวบรู ได้ทำให้วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบรูเริ่มเปลี่ยนไป ชาวไทยบรูบ้านนาหินกองเห็นว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ เป็นไปเช่นนี้เรื่อย ๆ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตที่ดีงามของไทยบรูคงสูญหายไปจากชุมชนและลูกหลานไทยบรู คงไม่มีเอกลักษณ์ใดที่จะแสดงถึงความภาคภูมิใจที่เป็นไทยบรูจึงได้รวมกลุ่มกันจัดการแสดงวิถีชีวิตไทยบรูขึ้น โดยใช้ชื่อการแสดงว่า “ระบำหยอดข้าว”
ความโดดเด่น/ความเป็นเอกลักษณ์
การแสดงระบำหยอดข้าว ของชนเผ่าข่า หรือ บรู นักแสดงจะเป็นชาวบรูโดยกำเนิด อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นของดั้งเดิมที่ยังไม่ประยุกต์หรือดัดแปลง และภาษาถิ่นไทยบรูที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่
องค์ประกอบที่บ่งบอกให้เห็นคุณลักษณะของศิลปะการแสดง
- เครื่องดนตรี จำนวน ๓ ชิ้น ประกอบด้วย พิณ แคนและกลองหาง
- ผู้แสดง จำนวน ๒๕ คน
รูปแบบการแสดง วิธีการแสดง
เป็นการแสดงเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตที่อยู่ในป่าเขา ซึ่งไม่มีพื้นที่ราบในการทำนา ชาวไทยบรูจึงปลูกข้าว บริเวณที่เป็นไหล่เขา พื้นที่ลาดเอียง ที่เรียกว่า ปลูกข้าว ไร่ ซึ่งกว่าจะเป็นข้าวสารต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับการแสดง คือ
- การหยอดข้าว หรือปลูกข้าวโดยการหยอดเมล็ด
- ระบำเกี่ยวข้าว
- ตำข้าว ตามขั้นตอน การตำข้าวซ้อมมือ คือตำข้าว ฝัดข้าว กะไซ้ข้าว
- เพลงชนเผ่า คือเพลงภาษาบรู ผู้ไทย
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนเทศบาลตำบลกกตูม โรงเรียนบ้านนาหินกอง
การสืบสาน บ่มเพาะ ถ่ายทอดศิลปะการแสดงได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดง ให้กับนักเรียนโรงบ้านนาหินกอง มีศักยภาพและความพร้อมที่จะการแสดงในทุกโอกาส