ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ว่า แม่ซื้อ (น.) เทวดา หรือ ผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก แม่วี ก็เรียก ตามตำนานความเชื่อดั้งเดิม ของคนไทยโบราณและได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวกับเด็กทารก "แม่ซื้อ" จึงหมายถึง เทวดาหรือผีที่คอยดูแลรักษาเด็กทารก โดยเชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล เพื่อปกปักรักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามปรากฏเรื่องเกี่ยวกับแม่ซื้อว่า มีอยู่ 7 นาง ตามประจำวันทั้ง ๗ มีทั้งแม่ซื้อที่อาศัยอยู่ในเมืองบน (เมืองสวรรค์) เมืองล่าง (เมืองดินหรือพื้นโลก) และกลางหน (กลางอากาศ) ส่วนในคัมภีร์ประถมจินดา ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในกลุ่มตำราแพทย์แผนไทยกล่าวว่า หากนำรกของเด็กทารกไปฝังไว้ ยังที่อยู่ของแม่ซื้อ จะทำให้แม่ซื้อรักใคร่ เอ็นดู ปกปักรักษา เล่นหยอกล้อด้วย หากไม่เช่นนั้น แม่ซื้อก็จะหลอกหลอนให้เด็กตกใจ ร้องไห้งอแง เจ็บไข้บ่อย ๆ ธรรมเนียมในสมัยโบราณจึงนิยมการเขียนภาพแม่ซื้อไว้เหนือศีรษะของเด็กแรกเกิด ในลักษณะที่เรียกว่า "งานกำมะลอ" โดยเขียนลายลงในผ้าขาวด้วยยางมะเดื่อและลงสีสันให้ถูกกับลักษณะรูปร่างหน้าตา สีอาภรณ์ (เสื้อผ้า) ของแม่ซื้อทุกตนเป็นสีทองทั้งหมด แต่มีสีกายที่แตกต่างไปตามแต่ละวัน
รายละเอียดของแม่ซื้อทั้งเจ็ดวัน มีรายละเอียดดังนี้ -วันอาทิตย์ชื่อว่า "วิจิตรมาวรรณ" มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง ถิ่นอาศัยอยู่บนจอมปลวก
-วันจันทร์ ชื่อว่า "วรรณนงคราญ" บางตำราว่า ชื่อ นางมัณพนานงคราญ มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล ถิ่นอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำ
-วันอังคาร ชื่อว่า "ยักษบริสุทธิ์" มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย)" ผิวกายสีชมพู ถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลเทพารักษ์
-วันพุธชื่อว่า "สามลทัศ" บางตำราว่าชื่อ นางสมุทชาต มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียวถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ
-วันพฤหัสบดี ชื่อว่า "กาโลทุกข์" มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน ถิ่นอาศัยอยู่ที่สระน้ำหรือบ่อน้ำใหญ่
-วันศุกร์ชื่อว่า "ยักษ์นงเยาว์" มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน ถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นไทรใหญ่
-วันเสาร์ชื่อว่า "เอกาไลย์" มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลพระภูมิ
ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ลักษณะของแม่ซื้อประจำในแต่ละวัน มีความสอดคล้องกับสีและสัตว์พาหนะของเทพนพเคราะห์ประจำวันทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นการนำเอาวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาฮินดูมาผสมผสานกับความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิม คือการนับถือผีในอุษาคเนย์
การประกอบพิธีทำขวัญบำบัดพิษแม่ซื้อหรือโบราณเรียกว่าเสียกบาล ผู้ทำพิธีจะทำกระทงขึ้นมา ๑ ใบจากหยวกกล้วย เรียกว่า "กระทงบัตรพลี" โดยในบัตรพลีนั้นแบ่งเป็นช่องใส่ของกินต่าง ๆ ทั้งคาวและหวาน เช่น ข้าว น้ำ ขนมต้ม กุ้งพล่า ปลา ฯลฯ และของที่ขาดไม่ได้เลยก็คือตุ๊กตาดินรูปผู้หญิงนั่งพับเพียบประคองเด็กอยู่ในตัก เจ้าพิธีจะเริ่มขั้นตอนที่เรียกว่า "แบ่งลูกผีลูกคน" โดยนำเด็กทารกมาใส่กระดังร่อน พร้อมกับกล่าวว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ” แล้วจะต้องให้ฝ่ายพ่อแม่เด็กขานรับว่าเป็นลูกตน เจ้าพิธีก็จะส่งลูกให้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวแก่แม่ซื้อ ให้รู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว แม่ซื้อจะได้ไม่มารบกวนอีก เมื่อเจ้าพิธีกล่าวคำในพิธีจบก็จะหักหัวตุ๊กตาให้หลุดออก เสมือนให้แม่ซื้อเอาไปเล่นแทนได้ เชื่อกันว่าทารกจะไม่เจ็บป่วยจากการรบกวนของแม่ซื้ออีก บางท่านจึงเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “เสียกบาล”เป็นการหลอกผี โดยให้ตุ๊กตานั้นเป็น “ขวัญหลอก” และตัวตายตัวแทนของเด็กซึ่งวัฒนธรรมลักษณะนี้มีมานานแล้วอย่างน้อย ก็ตั้งแต่สมัยทวารวดี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ