ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 55' 24.7303"
13.9235362
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 23' 40.9618"
100.3947116
เลขที่ : 195654
เทศบาลเมืองบางบัวทอง
เสนอโดย นนทบุรี วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย นนทบุรี วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : นนทบุรี
0 337
รายละเอียด

ขุนพิทักษ์ปทุมมาศ (สิงโต สามวัง)พร้อมมิตรสหาย และคหบดีในอำเภอบางบัวทอง ได้เสนอทางราชการ ขอจัดตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทอง กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ชุมชนตลาดบางบัวทองเป็นเทศบาลเมือง บางบัวทอง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2480 เพื่อจัดการบริหารชุมชนตลาดบางบัวทองให้มีความเจริญ ก้าวหน้าทั้งทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม ขุนพิทักษ์ปทุมมาศได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศ มนตรีคนแรกของเทศบาลเมืองบางบัวทอง โดยมี ม.ล.แจ่ม อิศรางกูล และนายเลี้ยง ทองไฮ้ เป็นเทศมนตรี

บางบัวทองชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินทองสองส่วนคือ บริเวณคลองอ้อม ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทองในปัจจุบัน โดยทางด้านทิศเหนือของบ้านบ้างรักใหญ่ได้ขุดเชื่อมกับคลองบางบัวทอง มีผู้คนอยู่อาศัยตลอดสองฝั่งคลอง โดยส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวนา เป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนที่สอง คือ ด้านทิศเหนือของคลองอ้อม และทางด้านทิศตะวันตกของคลองบางบัวทอง เดิมพื้นที่นี้เป็นผืนป่าใหญ่

ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระกรุณาส่งเสริมให้ราษฏรเพื่มพื้นที่ทำนาให้ราษฏรขุดคลองและจับจองพัฒนาที่ดินสองฝั่งคลองขุดให้เป็น พื้นที่ทำนาทำไร่ได้การบุกเบิกของพื้นที่ได้เริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช 2433 เมื่อพระราชาภิมณฑ์ (เพ็ง) ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ ขุดคลองตั้งแต่ทุ่งบางบัวทอง แขวงเมืองนนทบุรีออกไปยังทุ่งบางปลา บางภาษี แขวงเมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ทำให้ที่ดินสองฝั่งคลองเป็นแผ่นดินทอง มีผู้คนหลายเชื้อสายทั้่งไทย มอญ มุสลิม หลั่งไหลเข้าจับจองพื้นที่สองฝั่งคลอง เพื่อทำนา ไร่สวน อีกทั้งต่อมามีชาวจีนและญวนเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำการค้าขาย คนที่ไม่สามารถจับจองพื้นที่ทำ เรือกสวนไร่นาก็เข้ามาค้าขายและรับจ้างก่อสร้าง มีการแลกเปลี่ยนค้าขาย เกิดเป็นตลาดค้าข้าวและผักที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอนนทบุรี เป็นผลให้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นอำเภอบางบัวทอง เริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 121 ตรงกับปีพุทธศักราช 2445

เทศบาลเมืองบางบัวทองในอดีตความทรงจำของบางบัวทองในอดีต อยู่ในห้วงความรู้สึก มากไปด้วยความรักและความผูกพันกับเมืองบางบัวทองอย่างเต็มเปี่ยม ถูกถ่ายทอดผ่านคุณไพรันต์ สุขมะโน บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของท้องถิ่นบางบัวทองเป็นอย่างดี เล่าให้ฟังว่า "ผมเป็นคนบางบัวทองโดยกำเนิด มีความใกล้ชิดและความผูกพันกับเทศบาล เมืองบางบัวทองเพราะได้เห็นความผูกพันมาตั้งแต่จำความได้จนปัจจุบัน คุณตาของผม ขุนพิทักษ์ปทุมมาศ หรือนายสิงโต สามวัง หรือชาวบ้านรู้จักกันในชื่อว่า "กำนันโตสามวัง" เป็นกำนันตำบลโสนลอย ดูแลพื้นที่ตำบลโสนลอย ตำบาลบางบัวทอง ทำให้เป็นที่รู้จัก ไว้วางใจแก่ชาวบางบัวทอง ก่อนที่ท่านจะมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง"น้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ ได้ถูกถ่ายทอดต่อว่า "ในคราวที่พระยาพหลพลพยุหเสนา และคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่บางบัวทอง เพื่อมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศประกวดพันธ์ุข้าว เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำ ให้บางบัวทองมีความเจริญขึ้น เพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้เดินทางมาบางบัวทอง คนจึงพูดว่า ช้างเหยียบนา พระยาเหยีบเหมือง ด้วยความคิด ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของคุณตา และคนบางบัวทองที่คิดจะพัฒนาและสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนบางบัวทองอย่างจริงจังจึงทำให้เกิดการรวมตัวในการเสนอทางราชการเพื่อขอจัดตั้งเทศบาล

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2480 อาจเป็นเพราะบางบัวทองเป็นเมืองที่มี ความอุดมสมบูรณ์ มีการค้าขายทำให้เศรษฐกิจของบางบัวทองในช่วงเวลาในขณะนั้นดี รวมทั้งตาของผมเป็นที่รู้จักของผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนทำให้เทศบาล เมืองบางบัวทองได้เป็นเทศบาลเมืองในทันที แทนที่จะเป็นสุขาภิบาล หรือเทศบาลตำบลก่อน และได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็นนายกเทศมนตรี เมืองบางบัวทอง มี ม.ล. แจ่ม อิศรางกูล และนายเลี้ยง ทองไฮ้ เป็นเทศมนตรี เป็นคณะเทศมนตรีชุดแรกของเทศบาลเมืองบางบัวทอง"

จากคำบอกเล่าของคุณไพรัตน์ นับแต่จำความได้จนตอนนี้ก็เป็นเวลา 59 ปี ได้พบเห็นเมืองบางบัวทองว่ามีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จากศาลาเทศบาลเมือง บางบัวทองที่เช่าพื้นที่ตึกในตลาดของเจ้าพระยาวรพงค์พิพัฒน์ จนพัฒนาเป็นสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง 5 ชั้น จากการสัญจรทางเรือง ทางรถไฟ ของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ถนนสายบางกรวย - ไทรน้อยในปัจจุบัน) มีถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร รถวิ่งสวนทางกัน ถูกพัฒนาเป็น 4-6 ช่องจราจรสถานที่ให้ความรู้แต่เดิมมีโรงเรียนเทศบาลวัดละหาร ที่ใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียน บัดนี้บางบัวทองมีสถานศัึกษาหลายแห่งที่มีชื่อเสียง ผู้คนมากมายหลายศาสนา อาศัยอยู่ร่วมกัน จนเป็นเมืองสามศาสน์มีเจ้าพ่อจุ้ยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวประจำจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีน จนคนรุ่นหลังมีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี จนเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของบางบัวทอง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางศาสนา จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยกฐานะให้วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วันเล่งเน่ยยี่ 2 ) เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนนทบุรีร่อยรอยความทรงจำในอดีตได้กลั่นกรองและบอกเล่าออกมาเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ พร้อมทั้งชี้ชวนให้ดูของเก่าๆ เฟอร์นิเจอร์เก่าๆ รูปเก่าๆ ที่ได้สะสมตั้งแต่ในอดีต มีค่าควรคู่ในความทรงจำที่ไม่อาจลบเลือน"

เสน่ห์..บางบัวทอง จากเมืองเก่าสู่เมืองบางบัวทองยุคปัจจุบัน

อำเภอบางบัวทอง มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ พุทธศักราช 2445 ได้ตั้งตามชื่อคลองบางบัวทอง ซึ่งเป็นคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับเกาะเกร็ด คลองนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของราษฏในท้องถิ่นเป็นส่วนมาก พื้นที่ส่วนใหญ๋เป็นที่ราบลุ่มประกอบด้วย คลอง หนอง บึง เหตุที่ได้ชื่อว่าคลองบางบัวทองนั้น สันนิษฐานว่า ขณะนั้นมีต้นบัวหลวงอยู่มากมาย ด้วยเพราะพื้นที่เป็นหนองบึง จึงได้ชื่อว่า บางบัวทอง ตั้งแต่นั้นมา และขนานนามว่า "เมืองน่าอยู่ ประตูสู่จตุรทิศ"แต่ปัจจุบันเมื่อความเจริญจากกรุงเทพมหานครแผ่ขยายออกมาจนถึงบางบัวทอง ทำให้สภาพพื้นที่มีความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีหมู่บ้านจัดสรรและประชากรเข้ามาอาศัย อยู่เป็นจำนวนมาก ด้านการคมนาคมส่วนใหญ่เป็นการสัญญจรทางบก โดยมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงวิ่งผ่านในเขตเทศบาลเมืองบางบัวทอง มีการทำถนนตัดผ่านและขยาย ถนนสายหลักหลายเส้นทาง ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองบางบัวทอง มีความเจริญเติบโตและเป็นย่ายธุรกิจการค้า ที่เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอีกเมืองหนึ่ง

การพัฒนาอำเภอบางบัวทองในช่วงต้น พุทธศักราช 2500

หลังสงครามรถไฟสายบางบัวทองค่อยๆ ยุติบทบาทลง มีเพียงสามล้อถีบรับจ้างในการคมนาคมทางบก ต่อมีปีพุทธศักราช 2503 - 2506 จังหวัดนนทบุรีได้มีการสร้างถนนสายบางกรวย-ไทยน้อย บนเส้นทาง รถไฟสายเก่า เพื่อเชื่อม 4 อำเภอทางฝั่งตะวันตกของจังหวัด คือ อำเภอบางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง และ ไทรน้อยเข้ากับจังหวัดนนทบุรี ธนบุรี และกรุงเทพฯ ถนนสายนี้เป็นประโยชน์กับชาวบางบัวทองอย่างยิ่ง ทั้งทาง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา เทศบาลเมืองบางบัวทองได้พัฒนาชุมชนและตลาด โดยจัดสร้างอาคารพาณิชย์ และตลาดสดของเทศบาลเมืองบางบัวทอง ให้ประชาชนชาวบางบัวทองได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

วิถีชาวบ้านแห่งบางบัวทอง

ในปีพุทธศักราช 2477 กรมชลประทานได้ขุดคลองพระราชาพิมล ซึ่งเป็นคลองตันออกไปบรรจบ กับแม่น้ำท่าจีนเป้นการเปิดเส้นทางการเดินเรือ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ได้เปิดบริการเรือยนต์โดยสาร และขนส่งสินค้าระหว่างอำเภอบางบัวทองกับตลาดบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และมีกิจการเดินเรือ โดยสารและขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เรียกกันว่า "เรือเขียว"เรือเขียวที่วิ่งระหว่างตลาดบางบัวทอง ท่าเตียน กรุงเทพฯ คือ "เรือมงคลรัศมี" รับส่งผู้โดยสาร และสินค้าออกจากประตูน้ำบางบัวทอง เวลา 06.30 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 08.40 น. ออกจากราชวงค์ เวลา 12.00 น. และออกจากท่าเตียนเวลา 13.00 น. และ "เรือไทยบางบัวทอง" รับส่งผู้โดยสาร และสินค้าออกจากตลาดบางบัวทอง เวลา 20.30 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 23.00 น. ออกจากท่าเตียน เวลา 12.00 น. ถึงตลาดบางบัวทอง เวลา 15.00 น. เกิดเป็นชุมทางคมนาคมทางน้ำ ผู้คนสามารถแลก เปลี่ยนสินค้าถึงกับได้สะดวกยิ่งขึ้น

น้ำคือชีวิต

ลำคลองที่ไหลผ่านหลายสาย ก่อเกิดวิถีชีวิตของคนริมน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชผักและผลไม้ ถูกแลกเปลี่ยนซื้อขายใน แม่น้ำลำคลอง โดยอาศัยเรือเป้นพาหนะบรรทุกสิ่งของไปยังจุดหมาย การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยเฉพาะตลาดทำนบคลองพระราชาพิมล ที่ถือ เป็นแหล่งค้าขายข้าวที่สำคัญของอำเภอบางบัวทอง ต่อมาภายหลังได้ พัฒนาเป็นตลาดใหญ่สองแห่ง ชื่อว่า "ตลาดเจ้าคุณวรพงค์พิพัฒน์" ซึ่ง เจ้าพระยาวรพงค์พิพัฒน์เป็นเจ้าของ และ "ตลาดแม่ห้าง" ของแม่ห้าง พันธุมจินดา คหบดีชาวญวน เกิดขึ้น ถือเป็นแหล่งรวมการแลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าปลีกและส่ง รวมทั้งเป็นแหล่งค้าข้าวและพืชผักที่ใหญ่ที่สุด ในจังหวัดนนทบุรีภายหลังจากที่มีการขุดคลองพระราชาพิมลขึ้น สองฝั่งคลองถูกจับจองเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตรเพาะปลูกทั้งข้าว พืชสวนและพืชผัก เกิดเป็นแหล่งค้าขายข้าว และสินค้าเกษตร ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ไม่เพียงมีตลาดใหญ่ของเจ้าพระยาวรพงค์พิพัฒน์และตลาดแม่ห้าง พันธุมจินดา ที่เป็นแหล่งค้าขายขึ้นชื่อและเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเท่านั้น ยังมี ชุมทางการคมนาคมทั้งรถไฟของเจ้าพระยาวรพงค์พิพัฒน์และชุมทางการเดินเรือ สำหรับติดต่อกับอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ผู้คนเดินทางติดต่อซื้อขายสินค้าข้ามจังหวัด สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อกำเนิดเป็นอำเภอบางบัวทองขึ้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้มีการกระจาย อำนาจการปกครองบ้านเมืองสู่ชุมชนในรูปแบบเทศบาล ในปีพุทธศักราช 2476 รัฐบาลได้ตรา พระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น ในเวลานั้นชาวบ้านบางบัวทองผู้มีความคิดก้าวหน้าคณะหนึ่ง นำโดยขุนพิทักษ์ปทุมมาศ (สิงโต สามวัง) ได้ร่วมกันคิดระบบการบริหารท้องถิ่นแบบเทศบาลตามนโยบายของราชการมาใช้ บริหารชุมชนบางบัวทอง โดยคณะผู้ร่วมก่อตั้งเทศบาลได้เสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอยก ฐานะชุมชนบางบัวทองขึ้นเป็นเทศบาล และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นเทศบาลเมืองบางบัวทองเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2480 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2480 แผนกฤษฏีกา เล่ม 54 หน้า 2546

โดยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองบางบัวทองชุดแรก ประกอบด้วย ขุนพิทักษ์ปทุมมาศ (สิงโต สามวัง) กำนันตำบลบางบัวทอง เป็นนายกเทศมนตรี ม.ล. แจ่ม อิศรางกูล และนายเลี้ยง ทองไฮ้ เป็นเทศมนตรี เทศบาลเมืองบางบัวทอง การได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทศบาลนั้นแสดง ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนตลาดบางบัวทองที่ตั้งอยู่ได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยปกติเทศบาลที่ อยู่ในชนบท มิได้เป็นอำเภอเมือง มักจะเป็นเทศบาลตำบลเท่านั้น ทว่าฐานะทางเศรษฐกิจและ จำนวนประชากรของชุมชนบางบัวทองกลับมีมากพอที่จะมีฐานะเป็นเทศบาลเมืองได้ การบริหารชุมชนในระบบเทศบาลของเทศบาลเมืองบางบัวทองนั้นล้วนเป็นการบริหาร ชุมชนโดยประชาคมในชุมชนเอง มิได้มีการสั่งการจากราชการส่วนกลาง การที่ชุมชนตลาด บางบัวทองได้ร่วมกันคิดจัดตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทองขึ้นในช่วงเวลาแรกๆ ทีมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติเทศบาลในประเทศไทย ย่อมแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในทางความคิด ความ ตั้งใจ และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของชาวบางบัวทองที่จะพัฒนาและสร้างความเจริญให้แก่ ชุมชนบางบัวทองอย่างจริงจัง

วิวัฒนาการสำนักงานเทศบาลบางบัวทองจากอดีตสู่ยุคปัจจุบัน

เมื่อเริ่มก่อตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทอง ในปีพุทธศักราช 2580 สำนักเทศบาลเมืองบางบัวทองหลังแรกนั้นเป็นที่ทำการชั่วคราว มีลัษณะเป็นห้องแถว ตั้งอยู่ในตลาดเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ด้านหน้าเปิดกว้างมีบานพับแบบบานเพี้ยนพันเปิดปิดได้ลักษณะคล้ายร้านค้า ด้านหน้ามีป้ายศาลาเทศบาลเมืองบางบัวทอง อยู่เหนือประตูเข้าศาลาเทศบาลต่อมาสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง หลังที่ 2 ได้ย้ายมาอยู่ที่ตลาดเก่าฝั่งทิศใต้ของคลองพระราชพิมล โดยได้เช่าจากเจ้าพระยาพงศ์พิพัฒน์ มีลักษณะ เป็นบ้านไม้ชั้นครั้งในปีพุทธศักราช 2482 มีการสร้างสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง หลังที่ 3 ขึ้น ตัวอาคาร ตั้งอยู่ริมคลองพระราชาพิมล หันหน้าไปทางคลองและ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอบางบัวทอง ซึ่งเป็นที่ดินที่นายห้าง พันธุมจินดา เป็นผู้อุทิศให้ มีลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงจากพื้นดินไม่มาก หลังคาทรงปั้นหยา ด้านหน้ามีมุขสองข้างทั้งขวาและซ้ายของอาคาร ตรงกลางเป็นบันไดขึ้นสำนักงานเทศบาลแต่เนื่องจากอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง หลังที่ 3 มีพื้นที่ไม่มากเมื่อชุมชนในตลาดบางบัวทองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาคารสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทองคับแคบและไม่สะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่องาน เทศบาลเมืองบางบัวทองจึงได้สร้างสำนักงานเทศบาลเมือง บางบัวทอง หลังที่ 4 เป็นอาคารตึก 4 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นสวนสาธารณะของเทศบาลเมืองบางบัวทอง อยู่ริมถนนสายบางกรวย - จังหวัดนนทบุรีได้มีการสร้างถนนสายบางกรวย-ไทยน้อย โดยนายดำรง สุนทรศารทูล อธิบดีกรมการปกครอง ในขณะนั้น ได้มาเป็นประทานในพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2522ในปีพุทธศักราช 2548 สมัยนายโกวิทย์ เจริญนนทสิทธิ์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง ได้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง หลังที่ 5 เป็นอาคารสำนักงานสมัยใหม่ มีลักษณะเป็นตึก 5 ชั้น เชื่อมต่อกับอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองบางบัวทอง หลังที่ 4 เดิม และได้มีการเปิดให้บริการ แก่ประชาชนมาจนถึงปัจจุบันนี้

ที่มา : https://www.buathongcity.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=102&Itemid=725

สถานที่ตั้ง
เทศบาลเมืองบางบัวทอง
จังหวัด นนทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
https://www.buathongcity.go.th/
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด นนทบุรี อีเมล์ nontculture@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี
จังหวัด นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
โทรศัพท์ 02 580 1348 โทรสาร 02 580 2764
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/nonthaburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่