ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 31' 27.6359"
16.5243433
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 43' 52.8726"
104.7313535
เลขที่ : 195775
ประเพณีบุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุ
เสนอโดย มุกดาหาร วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย มุกดาหาร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : มุกดาหาร
0 398
รายละเอียด

ประเพณีบุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุวัดป่าศิลาวิเวก ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร

๑. ชื่อข้อมูลประเพณีบุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุ

๒. รายละเอียดข้อมูล

๒.๑ ความเป็นมา และวิวัฒนาการ

“ข้าวยาคู” มาจากภาษาบาลี แต่เดิมเป็นชื่อของยาชนิดหนึ่งที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ นำมาปรุงเป็นโอสถถวายพระพุทธเจ้า เมื่อทรงประชวรด้วยโรคลมอันเกิดจากช่องท้อง และมีที่มาในพระวินัยปิฎกมหาวรรค เล่มที่ ๕ หมวด เภสัชชขันธกะ หน้า ๘๒ ข้อ ๔๙ ความว่า “พระอานนท์ดำริว่า แม้เมื่อก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้าประชวรด้วยโรคลมเกิดในพระอุทร ก็ทรงสำราญด้วยยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง จึงของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง เก็บไว้ภายในที่อยู่ ต้มด้วยตนเองแล้วนำไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดดื่มยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง พระพุทธเจ้าข้า”

ในหน้า ๑๐๑ ข้อ ๖๑ พราหมณ์ถวายข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ความว่า...ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครพาราณสีตามพุทธาภิรมณ์แล้ว เสด็จพุทธดำเนินมุ่งไปทางอันธกวินทะชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้นประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบเคี้ยวบ้าง เป็นอันมากในเกวียน เดินติดตามพระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาข้างหลัง ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพุทธดำเนินถึงกวินทะชนบท ขณะนั้น พราหมณ์คนหนึ่งดำริในใจว่า เราเดินติดตามพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากว่า ๒ เดือน ด้วยหมายใจว่า ได้โอกาสเมื่อใด จักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใด มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย แล้วจึงตรวจดูโรงอาหารเห็นมีของ ๒ สิ่ง คือ ยาคู และขนมปรุงด้วยน้ำหวาน จึงเข้าไปหาพระอานนท์ และได้กราบเรียนคำนี้แด่พระอานนท์ว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าพระอานนท์ ถ้าข้าพเจ้าตกแต่งยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวาย ท่านพระโคดมจะพึงรับของข้าพเจ้าไหม เจ้าข้า” ท่านพระอานนท์กราบทูนเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทันที พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนพระอานนท์ ถ้าเช่นนั้นพราหมณ์จงตกแต่งมาเถิด” พราหมณ์นั้น จึงตกแต่งยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมายโดยผ่านราตรี แล้วน้อมเข้าถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกราบทูลว่า “ขอท่านพระโคดมโปรดกรุณารับยาคูและขนม ปรุงด้วยน้ำหวานของข้าพเจ้าด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวายแด่พระภิกษุทั้งหลาย” และได้ตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด” พราหมณ์นั้น จึงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมาย ด้วยมือตนเอง

๒.๒ ประโยชน์ของข้าวยาคู

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพุทธพจน์นี้กับพราหมณ์ที่นั่งอยู่ข้างหนึ่งว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ข้าวยาคู มีคุณ ๑๐ อย่าง คือ ให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลังใจ ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ กำจัดความหิว ๑ บรรเทาความกระหาย ๑ ทำให้ลมเดินคล่อง ๑ ล้างลำไส้ ๑ ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ ๑ ดูก่อนพราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่างนี้แล พระพุทธเจ้าครั้นได้ตรัสไวยกรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสอนุโมทนาคาถา ดังต่อไปนี้

๒.๓ คาถาอนุโมทนา

ทายกใดถวายข้าวยาคูโดยเคารพตามกาลแก่ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว บริโภคโภชนาอันผู้อื่นถวาย ทายกนั้น ชื่อว่าตามเพิ่มให้ซึ่งสถานะ ๑๐ อย่างแก่ปฏิคาหกนั้น อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ย่อมเกิดแก่ปฏิคาหกนั้น แต่นั้นยาคูย่อมกำจัดความหิว ความระหาย ทำลมให้เดิน คล่อง ล้างลำไส้ และย่อยอาหาร ยาคูนั้น พระสุคตตรัสสรรเสริญว่าเป็นเภสัช เพราะเหตุนั้นแล มนุษย์ชนที่ต้องการสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอันเพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู นอกจากนี้ ยังปรากฏเรื่องราว ข้าวยาคูมากมาย ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกโดยอาศัยเหตุที่มาของข้าวยาคูในพระไตรปิฎกนี้ เป็นมูลเหตุให้เจ้าอธิการอารัญ เขมกาโร เจ้าอาวาสวัดป่าศิลาวิเวก คณะนักศึกษาครูสมาธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ ๑๐๕ ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร และคณะศรัทธาญาติโยมได้ร่วมกันจัดงานประเพณี “บุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุ” ขึ้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ เป็นต้นมา ปกติจะจัดในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ เป็นต้นไป ติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน หรือก่อนงานนมัสการองค์พระธาตุพนม หลังจากที่คณะสงฆ์วัดป่าศิลาวิเวกและคณะอุบาสกอุบาสิกา ได้อัญเชิญพระบรมสารริกธาตุ ซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช ประเทศศรีลังกา ให้มาประดิษฐาน ที่วัดป่าศิลาวิเวกอย่างถาวร เพื่อส่งเสริมให้เป็นประเพณีการบำเพ็ญบุญให้ทาน สร้างสมบุญบารมี และเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงสืบไป

๒.๔ พระบรมสารีริกธาตุความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาประดิษฐานที่วัดป่าศิลาวิเวก มีที่มาจาก ในคืนวันวิสาขบูชาปี พ.ศ.๒๕๕๕ พระวิมลกิตติ เจ้าอาวาสวัด อะมุเหนกันทา วิมาละศาลา เมืองรัตนปุระ ประเทศศรีลังกา ในฐานะประธานผู้เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ขณะที่ท่านพร้อมด้วยพุทธบริษัทชาวเมืองรัตนปุระ ปฏิบัติสมาธิเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้นิมิตเห็นในสมาธิว่า ท่านได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุ แก่พระไทย จากนั้น เจ้าอาวาสท่านจึงประสงค์ที่จะมอบถวายพระบรมสารีริกธาตุให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทย พระบรมสารีริกธาตุนี้คือ พระอังคุลีธาตุ (พระธาตุข้อพระหัตถ์) มีสัณฐานกลม วรรณะขาว ขนาดกลาง ซึ่งได้รับอัญเชิญมาจากนครปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยพระมหินทเถระ พระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช และสมณะทูต ประมาณ ๒๓๖ ปี หลังพุทธปรินิพพานต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๘ วัดป่าศิลาวิเวก ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ได้รับประทานพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระสังฆราชประเทศศรีลังกา จำนวน ๑๕ องค์ ประกอบด้วย พระอังคุลีธาตุ (พระธาตุข้อพระหัตถ์) จำนวน ๑ องค์ พระธาตุมัตตรุงคธาตุ (พระธาตุส่วนสมอง) จากเมืองโคลัมโบ จำนวน ๑ องค์ พระโลหิตธาตุ (พระธาตุส่วนที่เป็นเลือด) จากเมืองโคลัมโบ จำนวน ๑๒ องค์ พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราชประเทศศรีลังกา (สมเด็จพระมหานายกะฝ่ายอักษะคีรียา สยามนิกาย คีรีลังกา) จำนวน ๑ องค์ และได้ประดิษฐานเป็นการถาวร ณ วัดป่าศิลาวิเวก ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร

๒.๕ การจัดงานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้มีโอกาสสักการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุ อันเปรียบเสมือนตัวแทนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวจังหวัดมุกดาหารจึงกำหนดจัดงานประเพณี “บุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุ” ขึ้น ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี กำหนดเวลา ๓ วัน ๒ คืน ณ วัดป่าศิลาวิเวก ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยกิจกรรมประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร สวดมนต์ไหว้พระ ฟังพระธรรมเทศนา การจัดนิทรรศการ พิธีกวนข้าวยาคู พิธีอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุขึ้นบุษบกแห่รอบเมืองมุกดาหาร โดยขบวนเกวียนข้าวยาคู เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการบูชา

๒.๖ แก่นความคิดที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะนำข้าวใหม่มาทำบุญถวายพระ ด้วยการหุง ทำข้าวจี่ ทำขนม หรือปรุงเป็นยา แจกจ่ายในงานฮีตสิบสอง หรือประเพณีทางพระพุทธศาสนาอื่น โดยเชื่อว่าจะได้รับอานิสงค์ เมื่อล่วงลับไปแล้วจะได้ไปสู่สวรรค์ อีกทั้งเป็นการสร้างบุญบารมีและจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพร

๒.๗ การส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการจัดงาน “ประเพณีบุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุ” มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามทางพระพุทธศาสนาให้อยู่อย่างมั่นคง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาวัดป่าศิลาวิเวก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดมุกดาหาร และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคณะสงฆ์ของจังหวัดมุกดาหาร โดยเน้นการนำมิติทางพุทธศาสนามาปฏิบัติและจัดกิจกรรมร่วมกัน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน

๒.๘ คุณค่าและแนวทางการต่อยอดการจัดงานประเพณี “บุญข้าวยาคู บูชาพระบรมสารีริกธาตุ” เป็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ สามัคคีกลมเกลียวกันในทุกภาคส่วน ทั้งคณะสงฆ์จังหวัดมุกดาหาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในท้องถิ่น เป็นการร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างสรรค์ประเพณีวัฒนธรรม “ข้าว” และเพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร ตลอดจนเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการะ กราบไหว้ บูชา พระบรมสารีริกธาตุ ที่นำมาจากประเทศศรีลังกาโดยตรง เพื่อความเป็นสิริมงคล และเสริมบารมี โดยทั่วกันด้วย ซึ่งมีแนวทางการต่อยอด ดังนี้

๑. เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์การจัดงานอย่างหลากหลายทางสื่อออนไลน์ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว ประชาชาน เยาวชน ผู้สนใจเข้าร่วมงาน ชิมข้าวยาคู หรือมีส่วนร่วมระหว่างทำกิจกรรม ทางสื่อออนไลน์

๒. พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวยาคู ให้มีความหลากหลายเพื่อเป็นทานหรือจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน ข้าวยาคูแบบกึ่งสำเร็จรูป สามารถเก็บไว้นานจะนำมาปรุงรับประทานตอนไหนก็ได้

๓. จัดอบรมการของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายในงาน เป็นต้น

สถานที่ตั้ง
วัดป่าศิลาวิเวก
หมู่ที่/หมู่บ้าน - ถนน -
อำเภอ เมืองมุกดาหาร จังหวัด มุกดาหาร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
หนังสือเที่ยวงานประเพณี วิถีกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดมุกดาหาร
บุคคลอ้างอิง นายกิตติพงศ์ คำศรี อีเมล์ culture.mukdahan@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร อีเมล์ culture.mukdahan@gmail.com
หมู่ที่/หมู่บ้าน culture.mukdahan@gmail.com ถนน -
จังหวัด มุกดาหาร รหัสไปรษณีย์ 49000
โทรศัพท์ 0879462169 โทรสาร -
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่