ประวัติ
เมื่อที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงราชศัสตรา ให้แก่ ผู้หนึ่งผู้ใดมีความหมายว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ให้บุคคลผู้นั้นมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์บุคคลผู้ที่ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ในการใช้อำนาจราชสิทธิ์ มีอำนาจเต็มในการออกคำสั่งได้ทุกเรื่องสามารถตัดสินพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นสูงสุด คือสั่งประหารชีวิตโดยไม่ต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อน
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริที่จะให้ผู้ว่าราชการมณฑลและเจ้าเมืองทั้งหลายที่ทรงแต่งตั้งออกไปบริหารราชการและดูแลทุกข์สุกของราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสะดวก และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วโดยไม่ต้องกราบทูลหรือรายงานมายังส่วนกลางก่อนจึงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพระแสงราชศัสตรา หรือจะเรียกได้อีกอย่างว่า พระแสงราชาวุธไว้ประจำมณฑลและเมืองต่างๆ เป็นเครื่องหมายพระราชอำนาจของพระองค์ในการปกครองแผ่นดินดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ“พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ” ตอนหนึ่งว่า
“...จึงโปรดฯให้สร้างพระแสงราชาวุธขึ้นสำหรับพระราชทานไว้ประจำจังหวัดละองค์ จังหวัดอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลเป็นพระแสงด้ามทองฝักทองลงยาราชาวดีจังหวัดนอกนั้นเป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทองเมื่อเสด็จไปถึงเมืองไหนก็พระราชทานพระแสงสำหรับจังหวัดนั้น และมีพระราชกำหนดว่า ถ้าเสด็จไปประทับในจังหวัดใด เมื่อใดให้ถวายพระแสงราชาวุธสำหรับจังหวัดมาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้นอย่างหนึ่ง และให้ชุบน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วยพระแสงนั้นด้วยอย่างหนึ่ง...” คือไม่ได้พระราชทานพร้อมกันทุกจังหวัด เมื่อเสด็จไปจังหวัดใดจึงพระราชทานให้เป็นรายๆไปและเมื่อพระองค์เสด็จไปประทับอีก ก็ต้องถวายคืนชั่วระยะที่พระองค์ประทับอยู่และจะพระราชทานคืนให้เมื่อเสด็จกลับ
พระแสงราชศัสตราประจําเมืองทุกองค์มีลักษณะเป็นดาบไทย ฝีมือช่างทองหลวงประณีตงดงามวิจิตรบรรจงสมเป็นเครื่องราชูปโภคที่พระราชทานไว้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ พระแสงราชศัสตราทุกองค์ตีจากเหล็กกล้าอย่างดี สีขาวเป็นมัน ความยาวประมาณ ๑๐๐ -๑๑๐ เซนติเมตร ด้ามยาวประมาณ ๓๑ - ๓๕ เซนติเมตร ใบยาวประมาณ ๖๕ -๗๕ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร พระแสงราชศัสตราประจําเมืองบางองค์ช่างทองหลวงจะจารึกอักษรระบุเนื้อทองน้ำหนักทอง บริเวณปลอกพระแสง เช่น ทองเนื้อ ๘ หนัก ๙ และ บางองค์จารึกเลขทะเบียนไว้อย่างชัดเจน คําจารึกที่ใบพระแสงราชศัสตราประจําเมือง แต่ละรัชกาลแตกต่างกัน ดังนี้
๑. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕มีคําจารึกว่า“พระแสงสําหรับมณฑล”และ“พระแสงสําหรับเมือง”ซึ่งได้พระราชทานพระแสงราชศัสตรา จำนวน ๑๓ เมือง คือ
๑.๑ มณฑลกรุงเก่า
๑.๒ เมืองอ่างทอง
๑.๓ เมืองสิงห์บุรี
๑.๔ เมืองชัยนาท
๑.๕ เมืองอุทัยธานี
๑.๖ มณฑลนครสวรรค์
๑.๗ เมืองพิจิตร
๑.๘ มณฑลพิษณุโลก
๑.๙ เมืองพิชัย
๑.๑๐ เมืองกำแพงเพชร
๑.๑๑ เมืองตราด
๑.๑๒.มณฑลจันทบุรี
๑.๑๓ มณฑลปราจีนบุรี
๒. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖มีคําจารึกเฉพาะชื่อมณฑลเมืองและจังหวัดเท่านั้น เช่น“มณฑล....” และ “จังหวัด....”ซึ่งได้พระราชทานพระแสงราชศัสตรา จำนวน ๑๓ เมือง คือ
๒.๑ มณฑลราชบุรี
๒.๒ เมืองเพชรบุรี
๒.๓ เมืองประจวบคีรีขันธ์
๒.๔ มณฑลปัตตานี
๒.๕ เมืองสายบุรี
๒.๖ เมืองนราธิวาส
๒.๗ มณฑลนครศรีธรรมราช
๒.๘ เมืองตรัง
๒.๙ เมืองนครศรีธรรมราช
๒.๑๐ มณฑลชุมพร
๒.๑๑ เมืองระนอง
๒.๑๒ มณฑลภูเก็ต
๒.๑๓ มณฑลนครชัยศรี
๓. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ปรากฏคําจารึกที่ใบพระแสงซึ่งได้พระราชทานพระแสงราชศัสตรา จำนวน ๖ เมืองคือ
๓.๑ เมืองลำปาง
๓.๒ เมืองแพร่
๓.๓.เมืองเชียงราย
๓.๔. เมืองเชียงใหม่
๓.๕. เมืองลำพูน
๓.๖ เมืองพังงา
สำหรับฝักพระแสงซึ่งมีลายสวยงาม จะสะท้อนภาพวิถีชีวิตและภูมิประเทศของเมืองนั้นๆ เช่น ฝักพระแสงของหัวเมืองภาคเหนือ จะเป็นป่า เขา ช้าง และสัตว์ป่านานาชนิด ฝักพระแสงทางภาคใต้จะเป็นทะเล เรือ และสัตว์น้ำ ส่วนภาคกลาง อย่างมณฑลราชบุรี จะเป็นบ้านเรือน ทะเลและป่ากำแพงเมืองและ ป้อม ปืนใหญ่ เป็นต้น
สิ่งรองรับพระแสงราชศัสตราประจําเมือง สําหรับประดิษฐานพระแสงราชศัสตรามี ๒ ลักษณะ คือบันไดแก้วลักษณะเป็นราวรองรับพระแสง มีเสา ๒ เสาลดหลั่นกัน อาจทําเป็นกะไหล่ทองหรือไม้ก็ได้และพานแว่นฟ้า (พานทองพระมหากฐิน)บางแห่งใช้พานเงิน หรือพานแก้วเจียระไน
สิ่งรองรับพระแสงราชศัสตราประจําเมือง
บันไดแก้ว
พานแว่นฟ้า
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองอีกส่วนพระแสงองค์เก่าก็เก็บรักษาไว้ในคลังของแต่ละจังหวัด ในสมัยรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมโปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานไปประดิษฐานในจังหวัดต่างๆแทน และยังทรงอนุรักษ์สืบสานโบราณราชประเพณีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับการถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนขณะพระองค์เสด็จไปประทับ ณเมืองนั้น และเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ก็ได้พระราชทานคืนให้จังหวัดรักษาไว้ดังเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ และ พ.ศ.๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙ พระยศในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่จังหวัดต่าง ๆ ๓๑ จังหวัดสำหรับจังหวัดพิจิตร ได้รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๓
มณฑล/เมือง ที่ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราไว้ประจำเมืองต่างๆนั้น หัวเมืองที่ได้รับพระราชทานก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินตามลำน้ำเจ้าพระยาคราวเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองฝ่ายเหนือใน พ.ศ.๒๔๔๔ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ การคมนาคมสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟถึงบางปะอินแล้ว จึงเสด็จโดยทางรถไฟถึงพระราชวังบางปะอินแล้วเสด็จต่อไปทางเรือ มีพระราชดำริในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ว่ามีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรภูมิประเทศ และตรวจราชการประกอบเพื่อที่จะทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นสืบไป โดยเริ่มเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ และเสด็จกลับในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๔ รวม ๔๐ วัน ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำมณฑลและเมืองต่างๆ จำนวน ๑๐ แห่ง ปรากฏหลักฐานจากหนังสือ“พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ ๕”
วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิจิตร”
“................ออกเรือจากบางมูลนาคเวลา ๒ โมงตรง ขึ้นมาถึงเมืองพิจิตรใหม่เวลาก่อนเที่ยงระยะที่ขึ้นมาตอนนี้มีบ้านหนาขึ้น แต่ดูทุ่งกว้างขึ้นกว่าตอนล่าง เมื่อพิเคราะห์ดูภูมิประเทศทั้งพื้นแผ่นดินไม่เห็นผิดอะไรกันกับกรุงเก่า เปนแต่ที่พันคันหลิ่งเข้าไปน้ำฦก ถ้าทำนาหว่านเช่นกรุงเก่าก็คงจะทำได้แต่ตามที่แลเห็นใช้ทำนาปักตามคันหลิ่งข้างในไม่มีผู้ใดทำ เหตุด้วยมีคนน้อยเท่านั้น เวลากลางวันไปทำพิธีให้พระแสงแลแจกเสมาที่ที่ว่าการเมือง...”
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิจิตร ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ ซึ่งขณะนั้นพระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร ถือเป็นอาวุธสำคัญประจำองค์พระมหากษัตริย์ฐานะทรงเป็นจอมทัพ อีกทั้งเป็นอาวุธสำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีในหัวเมือง โดยลักษณะพระแสงราชศัสตราสำหรับเมืองพิจิตรนั้น ด้ามทองฝักทอง ยาว ๑๐๙ เซนติเมตร ด้ามยาว ๓๔ เซนติเมตร ฝักยาว ๗๕ เซนติเมตร ใบยาว ๖๗ เซนติเมตร และใบกว้าง ๓.๒ เซนติเมตร
สถานที่ตั้งขององค์ความรู้
ห้องมั่นคง สำนักงานคลังจังหวัดพิจิตร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร ตำบลท่าหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้
๑) คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
พระแสงราชศัสตราถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคสำคัญประกอบพระราชอิสริยยศประจำพระองค์และประจำตำแหน่งพระมหากษัตริย์ อันแสดงถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดินนอกเหนือจากพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแสงประจำรัชกาล ยังหมายถึงศัตราวุธทุกอย่าง ได้แก่ ดาบ กระบี่ พระขรรค์ มีด หอก ง้าว หลาว แหลน ทวน ธนู กริช ปืน ง่าม และขอช้าง นอกเหนือจากเป็นอาวุธสำคัญประจำพระองค์พระมหากษัตริย์แล้ว อาจจำแนกความสำคัญของพระแสงราชศัสตราที่มีต่อฐานะพระมหากษัตริย์ออกเป็น ๒ ประการ ดังนี้
๑.๑) พระแสงราชศัสตราเป็นเครื่องหมายแสดงถึงพระราชอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ ในกรณีพระมหากษัตริย์พระราชทานสิทธิ์ขาดแก่เจ้านาย ขุนนาง หรือข้าราชการให้ใช้อำนาจแทนพระองค์ในการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะในการสงคราม ดังที่ได้พระราชทานพระแสงดาบอาญาสิทธิ์แก่แม่ทัพ เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานพระแสงดาบอาญาสิทธิ์แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงใหม่ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงดาบอาญาสิทธิ์แก่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นมาทัพสำเร็จราชการในสงครามกับเขมรและญวน
๑.๒) พระแสงราชศัสตราเป็นเครื่องราชูปโภคประกอบพระราชอิสริยยศในการพระราชพิธีสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ โดยมีการอัญเชิญพระแสงราชศัสตราองค์สำคัญมาตั้งแต่ในพระราชพิธี เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นสวัสดิมงคล ตลอดจนเพื่อความสถาพรแห่งพระบรมเดชานุภาพ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราสำหรับเมืองพิจิตร เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นสิ่งสำคัญที่พระราชทานไว้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ผู้ทรงเปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย พระแสงราชศัสตราสำหรับเมืองพิจิตรองค์นี้ นับว่าเป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่ายิ่งของจังหวัดพิจิตร สมควรที่ชาวพิจิตรทุกคนควรได้ภูมิใจ... และร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ไว้สืบไป
๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
เผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง พระแสงราชศัสตราสำหรับเมืองพิจิตร ให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อประชาชนจังหวัดพิจิตร และร่วมกันจัดกิจกรรมตามรอยเสด็จประพาสต้นของในหลวงรัชกาลที่ ๕ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าของจังหวัดพิจิตรต่อไป
การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)
หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ ให้การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ในการจัดกิจกรรมสมโภชพระแสงราชศัสตราสำหรับเมืองพิจิตร ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ของทุกปี หรือในโอกาสมหามงคลต่าง ๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่มีต่อประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร
ข้อเสนอแนะ
ควรมีการจัดพิธีสมโภชพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพิจิตร ทุกวันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีต่อประชาชนจังหวัดพิจิตร และหรือในโอกาสมหามงคลต่าง ๆ
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือพระแสงราชศัสตราประจำเมือง ของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลอง สิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในงานมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙
ข้อมูลเจ้าของเรื่อง
ชื่อ-นามสกุล นางจันทรา กุลนันทคุณ
ตำแหน่ง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน/องค์กร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
ที่อยู่หน่วยงาน/องค์กร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ถนนบุษบา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
เบอร์โทรสำนักงาน ๐ ๕๖๖๑ ๒๖๗๕