ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 52' 7.6699"
14.8687972
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 30' 45.2282"
103.5125634
เลขที่ : 195807
กระเจี๊ยบแดง
เสนอโดย สุรินทร์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย mculture วันที่ 8 เมษายน 2565
จังหวัด : สุรินทร์
0 402
รายละเอียด

กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญของโลกในการส่งกระเจี๊ยบแดงอบแห้งคุณภาพสูงด้วยศักยภาพของกระเจี๊ยบแดงทาง สมุนไพรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งส่วนของใบ ผล เมล็ด และราก สามารถนำไปเป็นอาหารและยารักษาโรค ในสาธารณสุขมูลฐานสนับสนุนให้นำกลีบเลี้ยง กระเจี๊ยบแดงต้มน้ำ ดื่มใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และปัจจุบันชาชงกระเจี๊ยบแดงอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แต่อยู่ในรูปของยาชง ดังนั้นได้มีการพัฒนาเป็นสารสกัดเพื่อให้ควบคุณภาพและเก็บรักษาได้นาน

ตระกูลMALVACEAE

ชื่อสามัญRosella, Jamaican Sorel, Roselle, Rozelle, Sorrel, Red Sorrel, Kharkade,Karkade, Vinuela, Cabitutu

ชื่อวิทยาศาสตร์Hibiscus sabdariffaLinn.

ชื่อท้องถิ่นเก็งเค็ง, ส้มเก็งเค็ง, ส้มตะเลงเครง (ตาก), ใบส้มม่า (ระนอง), แกง แคง(เชียงใหม่), ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), แบลมีฉี่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), แต่เพะฉ่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปร่างจำบู้(ปะหล่อง), กระเจี๊ยบ, ส้มเก็ง ส้มพอเหมาะ (ภาคเหนือ), ส้มพอดี (ภาคอีสาน), กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ส้มพอ ส้มพอเหมาะ

ลักษณะทั่วไป

ต้นกระเจี๊ยบแดงจัดเป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร มีอยู่หลายสายพันธุ์ ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด

ใบกระเจี๊ยบแดงมีใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีหลายลักษณะ ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือ 3 แฉก หรือ 5 แฉก ใบเว้าลึกหรือเรียบ หรือใบเป็นรูปรีแหลม หรือรูปเรียวแหลม ขอบใบมีจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างและความยาวใกล้เคียงกันประมาณ 8-15 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

ดอกกระเจี๊ยบแดงดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามซอกใบ มีกลีบดองสีชมพูหรือสีเหลือง บริเวณกลางดอกจะมีสีเข้มกว่าคือสีม่วงแดง ดอกมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ก้านดอกสั้น มีริ้วประดับเรียวยาวปลายแหลมมี 8-12 กลีบ กลีบเลี้ยงจะแผ่ขยายติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้มีสีแดงเข้มและหักง่าย เมือดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร

ผลกระเจี๊ยบแดงลักษณะของผลเป็นรูปรีมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมากประมาณ 30-35 เมล็ดต่อผล และผลยังมีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มผลอยู่ เราจะเรียกส่วนนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก (Calyx) หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบนั่นเอง

ส่วนที่ใช้ใบ กลีบเลี้ยง และกลีบรองดอก

คุณประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง

๑.การใช้กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงรักษาอาการปัสสาวะขัด ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) ใช้กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงแห้ง ๓ กรัม บดเป็นผง ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือประมาณ ๓๐๐ มิลลิลิตร ดื่มวันละ ๓ ครั้ง นาน ๗ วัน ถึง ๑ ปี

๒. กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารโพลีฟีนอล ซึ่งได้แก่ Protocatechuic Acid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่มได้

๓. กระเจี๊ยบใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่ด้วย

๔. ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำมาใช้ทำแกงส้มก็ได้ ให้รสเปรี้ยวกำลังดี และยังมีวิตามินเอสูง (12,583 I.U. ต่อ 100 กรัม) ที่ช่วยบำรุงสายตาอีกด้วยกลีบเลี้ยงผลและกลีบดอกอุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง

๕. กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นพืชส่งออกโดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับ Herbal tea และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้บริโภคภายในประเทศ ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ชาชง กระเจี๊ยบแดงอบแห้ง กระเจี๊ยบแดงแคปซูล เครื่องดื่มต่าง ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมสีผสมอาหาร หรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ แยม เยลลี่ เบเกอรี ไอศกรีม ไวน์ น้ำหวาน ซอส เป็นต้น รวมไปถึงในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น โลชั่น ครีมกระเจี๊ยบแดง เจลอาบน้ำ ครีมขัดผิว เป็นต้น

๖. น้ำต้มของดอกแห้งจะมีกรดผลไม้หรือ AHA อยู่หลายชนิดในปริมาณสูง จึงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าใส

๗. เมนูดอกกระเจี๊ยบแดง เช่น แกงส้มดอกกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ แยมดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่ม กระเจี๊ยบกวน ชากระเจี๊ยบแดง น้ำกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น

การขยายพันธุ์กระเจี๊ยบแดง

การขยายพันธุ์กระเจี๊ยบแดงสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ที่นิยมจะปลูกมากในช่วงต้นฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน ซึ่งอาจปลูกด้วยการหว่านหรือหยอดเมล็ดลงหลุมหรือการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อนย้ายลงแปลงปลูกก็ได้ แต่ทั่วไปนิยมการหว่านเมล็ดและการหยอดเมล็ดที่สุด เพราะสะดวก ประหยัดเวลา และต้นทุนได้มากกว่า

การเตรียมดินการปลูกในแปลงดินจำเป็นต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชก่อน ๑-๒ ครั้ง ไถแต่ละครั้งควรตากดิน ๓-๗ วันก่อนปลูก การไถครั้งสุดท้ายก่อนปลูก ควรหว่านโรยด้วยมูลสัตว์รองพื้นหรือผสมปุ๋ยเคมี สูตร ๑๕-๑๕-๑๕ เล็กน้อย

การปลูกทั้งนี้อาจปลูกแบบยกร่องหรือไม่ต้องยกร่องก็ได้ แต่หากปลูกในฤดูผลควรไถยกร่อง เพื่อป้องกันน้ำขังต้นกระเจี๊ยบแดง และควรเว้นระยะห่างระหว่างแถวประมาณ ๘๐-๑๐๐ ซม.การปลูกในแปลงอาจใช้วิธีการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ด หากหว่านจะใช้ปลูกในแปลงที่ไม่ยกร่อง ส่วนการหยอดเมล็ดมักจะใช้กับแปลงที่ยกร่อง การหว่านเมล็ดจะต้องหว่านให้เมล็ดตกห่าวกันในระยะ ๘๐-๑๐๐ ซม. ต่อต้น ส่วนการหยอดเมล็ดก็เช่นกัน ควรยอดให้ห่างกันในแต่ละหลุม ๘๐-๑๐๐ ซม.

การดูแลรักษากระเจี๊ยบแดงเป็นพืชไร่ที่ไม่ต้องการน้ำมาก การปลูกกระเจี๊ยบแดงมีกปลูกในช่วงฤดูฝน การให้น้ำจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นพิเศษ ส่วนมากมักเติบโตโดยอาศัยน้ำจากฝนเท่านั้น ในระยะ ๑-๓ เดือนแรก จำเป็นต้องหมั่นกำจัดวัชพืชเป็นพิเศษเพราะการปลูกในช่วงฤดูฝนหญ้าจะเติบโตเร็วมาก หากไม่กำจัดออกจำทำให้หญ้าขึ้นคลุมต้นกระเจี๊ยบแดงได้ ทั้งนี้ดอกกระเจี๊ยบแดงจะออกดอกไม่พร้อมกัน มีการทยอยออกตามความสูงของกิ่งจนถึงปลายกิ่ง

ดังนั้น เมื่อกิ่งยาวเต็มที่ และดอกบริเวณปลายกิ่งแทงออกมา แล้วให้ทำการเด็ดยอดแต่ละกิ่งทิ้ง เพื่อให้กระเจี๊ยบแดงเติบโตเฉพาะส่วนดอกได้ดี กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี และมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๒๐ วัน ซึ่งกระเจี๊ยบแดง ๘-๑๐ กิโลกรัม ตากแห้งแล้วจะได้กระเจี๊ยบแห้งประมาณ ๑ กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่จะเก็บเฉพาะกลีบรองดอกกระเจี๊ยบแดงหรือผลกระเจี๊ยบแดง โดยใช้กรรไกร หรือมีดตัดเฉพาะผลกระเจี๊ยบแดงที่แก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ผลกระเจี๊ยบแดงที่เก็บเกี่ยวได้จะน ามากระทุ้งให้กลีบรองดอกและกระเปาะเมล็ดหลุด ออกจากกันโดยใช้เหล็กกระทุ้ง และน ากลีบรองดอกมาตากในภาชนะที่สะอาด ไม่มีฝุ่น ตากแดดประมาณ 5-6 วัน หรืออบให้แห้งสนิท

เอกสารอ้างอิง

อรุณพร อิฐรัตน์ และคณะ. (ม.ป.ป.). ยาเม็ดกระเจี๊ยบแดงใช้สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวาน. สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 40-44.

McKay, D. (2009). Can hibiscus tea lower blood pressure? AgroFood Industry Hi-Tech, 20(6):40–42.

Qi, Y.D.; K.L. Chin; F. Malekian; M. Berhane and J.N. Gager. 2006. Biological characteristics, nutritional and medicinal value of roselle Hibicus sabdariffa. เข้าถึงได้จาก: http://www.suagcenter.com

Williamson, E. M., Driver, S. B., & Baxter, K. (2013). Stockley’s herbal medicines interactions: a guide to the interactions of herbal medicines, dietary supplements and nutraceuticals with conventional medicines. London: Pharmaceutical Press.

http://frynn.com

http://www.medplant.mahidol.ac.th

https://medthai.com

http://www.thaibdlab.com

https://www.disthai.com

คำสำคัญ
สมุนไพร
สถานที่ตั้ง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
เลขที่ 796 หมู่ที่/หมู่บ้าน 20
ตำบล นอกเมือง อำเภอ เมืองสุรินทร์ จังหวัด สุรินทร์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
องค์การบริหารส่วนตำบลนอกเมือง จังหวัดสุรินทร์
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรม สุรินทร์ อีเมล์ surin@m-culture.go.th
ชื่อที่ทำงาน admin
ตำบล นอกเมือง อำเภอ เมืองสุรินทร์ จังหวัด สุรินทร์ รหัสไปรษณีย์ 32000
โทรศัพท์ 044511963
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่