โบราณสถานวัดน้อย (ร้าง) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโบราณสถานร้างที่อยู่บนเนินสูงกว่าพื้นที่ราบโดยรอบประมาณ ๑ เมตร ไม่ทราบประวัติ การสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔
หลักฐานสำคัญที่ยังคงพบอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่ตรงกลางของกลุ่มโบราณสถาน ส่วนฐานเป็นชุด สิงห์สลับฐานบัวซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๔ ชั้น โดยฐานสิงห์มีรายละเอียดประกอบไปด้วย แข้งสิงห์ เท้าสิงห์ กาบแข้งสิงห์ ท้องสิงห์ และนมสิงห์ ส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดพังทลายลงทั้งหมด สันนิษฐานว่าเดิมคงมีรูปทรงสูงชะลูดแบบเดียวกับปรางค์ประธานวัดทานกัณฑ์ หน้าที่ว่าการอำเภอพนมทวน
เจดีย์ราย พบอยู่ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน จำนวน ๓ องค์ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ส่วนฐานเป็นชุดสิงห์สลับฐานบัวซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๔ ชั้น โดยฐานสิงห์มีรายละเอียดเช่นเดียวกับปรางค์ประธาน ส่วนเรือนธาตุหรือองค์ระฆัง และส่วนยอดในปัจจุบันได้พังทลายลงแล้ว
กำแพงแก้ว เป็นแนวกำแพงอิฐที่ปรากฏร่องรอยอยู่โดยรอบกลุ่มปรางค์และเจดีย์ของโบราณสถาน
ในพื้นที่ตำบลดอนแสลบ เป็นพื้นที่ที่พบโบราณสถานในสมัยอยุธยาจำนวนมาก อาทิ พระปรางค์วัดเขารักษ์ สมัยอยุธยาตอนต้น โบราณสถานบนเขาพนมนาง โบราณสถานวัดสระกระเบื้อง สมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์รวมทั้งโบราณสถานวัดน้อย (ร้าง) แห่งนี้ เป็นต้น ซึ่งแสดงความสำคัญของพื้นที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน โบราณสถานวัดน้อย (ร้าง) มีสถานะเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ง หน้า ๗ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ โดยกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพื้นที่ขนาด ๑ ไร่ ๒ งาน ๗ ตารางวา