อาคารนิทรรศการ นับว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลในการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ไว้ทั้งหมด อีกทั้งเป็นสถานที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ก่อกำเนิดการเผยแผ่และพัฒนาการด้านการสืบทอดพระพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าหากพุทธศาสนิกชนเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นเท่าใด การสืบทอดพระพุทธศาสนาจะก้าวหน้ายืนยาวและหยั่งรากลึกลงไปถึงแก่นได้มากขึ้นเท่านั้น
อาคารนิทรรศการแห่งนี้ มีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๒,๘๐๐ ตารางเมตร ออกแบบโดยเน้นศิลปกรรมแบบไทยพื้นบ้านที่เรียบง่าย หลังคาจั่วค่อนข้างลาด ไม่มีการยกชั้นอย่างลักษณะสถาปัตยกรรมในการสร้างวัดหรือวัง รวมถึงมีการเลือกใช้อิฐและไม้เป็นวัสดุหลัก เนื่องจากวัสดุเหล่านี้มีความงดงามด้วยเนื้อแท้ของพื้นผิวและลวดลายที่ให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การออกแบบอาคารนิทรรศการ จึงแสดงถึงความนอบน้อมและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติที่อยู่รายรอบ รวมถึงเน้นมุมมองที่ไม่บดบังองค์พระเป็นสำคัญด้วย ทางเข้าหลักอยู่ในระดับเดียวกันกับพื้นดิน ซึ่งกำหนดพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นส่วนของโถงจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ บริเวณถัดไปมีการออกแบบทางเดินลาดสู่พื้นที่ชั้นล่างและมีทางเชื่อมสวนป่าพุทธอุทยานและสถานที่จัดนิทรรศการกลางแจ้ง โดยการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารนั้นแบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์
แสดงเรื่องราวความเป็นมาของการก่อสร้างพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ จากปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในขณะนั้น และแสดงเรื่องราวของการสร้างองค์พระขนาดใหญ่ สูง ๓๒ เมตร ยืนบนฐานที่สูงประมาณ ๘ เมตร ต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผสานกับงานช่างฝีมือโบราณเพื่อรังสรรค์พระพุทธรูปให้ถูกต้องตามลักษณะของพุทธศิลป์ จึงทำให้พระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์นี้มีโครงสร้างที่มีความแข็งแรงทนทาน โดดเด่น สวยงาม น่าเลื่อมใสต่อผู้ที่ได้พบเห็น
ส่วนที่ ๒การเดินทางของพระพุทธศาสนา
แสดงเรื่องราวของการหยั่งรากของพระพุทธศาสนาลงบนดินแดนสุวรรณภูมิ และเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายทั่วชมพูทวีป ทรงอุปถัมภ์พระสงฆ์ ทรงสร้างสถูปเจดีย์จำนวนมาก และที่สำคัญ คือ “จารึกพระเจ้าอโศกมหาราช” ซึ่งทำให้ชาวตะวันตกยอมรับว่า “พระพุทธเจ้ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์”
ส่วนที่ ๓“เจติยะ” สิ่งที่ควรบูชา
จัดแสดงสัญลักษณ์และเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระพุทธศาสนา ตลอดจนหลักปรัชญาและคติคำสอนเพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
“เจติยะ”หมายถึง สิ่งที่ควรบูชา เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสื่อสารทางพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่า “เจติยะ (เจดีย์)” คือ ธรรมเจดีย์ พระพุทธองค์ทรงให้พระธรรมคำสั่งสอนเป็นศาสดา แทน “พระองค์ธาตุเจดีย์” สถูปสําหรับประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุบริโภคเจดีย์” คือ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน อีกทั้งยังอนุโลมให้ใช้สิ่งของที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย เช่น ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา บาตร จีวร เป็นต้น “อุเทสิกะเจดีย์” คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รอยพระพุทธบาท และธรรมจักร
ส่วนที่4 คบเพลิงแห่งธรรม
จัดแสดงเรื่องราวของการสืบทอดพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน นอกจากความน่าสนใจของนิทรรศการภายในแล้ว สถาปนิกยังได้ออกแบบให้มีทางเชื่อมต่อเพื่อนำไปสู่การชมนิทรรศการกลางแจ้งบริเวณสวนป่าพุทธอุทยานด้วย
ประติมากรรมที่มีรูปทรงคล้ายวิหารที่แสดงอยู่ในห้องนี้ สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ผู้ชมจินตนาการถึงสถานที่อันเปี่ยมไปด้วยพุทธิปัญญาเป็นแหล่งเรียนรู้พุทธธรรมเพื่อเข้าถึงแก่นของธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่มายาวนาน บริเวณภายนอกอาคารจะเห็นความงามของวิหารอันสง่างาม สีขาวบริสุทธิ์แสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็น “เปลือกที่เป็นภายนอกของสรรพสิ่ง” แสดงถึงความงามของเปลือกที่ดึงดูดใจให้เกิดปิติ ส่วนด้านในของประติมากรรม ผู้ชมสามารถมองเห็นเมื่อลงไปอยู่ด้านล่าง ได้แก่ “แก่น” โดยแก่นที่ปรากฏด้านในนั้น มีความโปร่งกับผิวหนังที่ขรุขระ แสดงถึงธรรมะ ที่ไม่ปรุงแต่ง แต่เต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติ ฉะนั้น ทั้งด้านนอกและด้านในของ “วิหารแห่งจิตสำนึก” คือ “เปลือกและแก่น” ที่เป็นความจริงแห่งพุทธธรรมเมื่อใด ธรรมะเข้าถึง (แก่น) กลางใจพระพุทธศาสนา (เปลือก) ก็จะเจริญงอกงามสืบทอดยาวนานตลอดกาลนานเมื่อนั้น