เสาสะดือเมืองภูกามยาว หรือลำใจเวียง เป็นเสาหลักเมืองเก่าโบราณ มีมาตั้งแต่ยุคสมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์แรกเมืองพะเยาที่ได้มาฟื้นเมืองพะเยา เมื่อปี พ.ศ. 2386 หลังจากที่เมืองพะเยาต้องตกเป็นเมืองร้างไปนานถึง 56 ปี ช่วงสงครามระหว่างไทย-พม่า และในอดีตบริเวณสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยาค่อนไปทางโรงแรมธารทอง เคยเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าหลวงพะเยา ภายในบริเวณคุ้มเจ้าหลวงจะมีหอเสื้อบ้านเสื้อเมืองและศาลหลักเมืองตั้งอยู่ เจ้าหลวงพะเยาจะทำพิธีบวงสรวงทุกปีนับตั้งแต่สมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ สืบต่อประเพณีกันมาจนถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ การบวงสรวงจะกระทำกันช่วงปีใหม่วันสงกรานต์ ตามคติความเชื่อ่โบราณที่ว่า เพื่อจะให้เทพาอารักษ์ประจำเมืองช่วยปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง พิธีกรรมดังกล่าวถือเป็นพิธีกรรมใหญ่ที่สำคัญประจำปี โดยงานจะจัดกันหลายวันและมีประชาชนมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก ได้มีการสืบค้นประวัติความเป็นมาของเสาหินโบราณหลักนี้ จึงได้รู้ว่าเป็นเสาหินหลักเมืองโบราณที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เมืองพะเยา
ต่อมาภายหลังเมื่อถึงปี พ.ศ. 2442 รัฐบาลสยามได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ"ระบบเทศาภิบาล" มีการยกเลิกการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชและยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง ซึ่งตำแหน่งเจ้าหลวงจะสิ้นสุดลงโดยปริยายถ้าเจ้าหลวงถึงแก่พิราลัย เมื่อพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าหลวงพะเยาองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยประมาณปีพ.ศ. 2467 จึงทำให้พิธีกรรมบวงสรวงหอเสื้อบ้านเสื้อเมืองและศาลหลักเมืองต้องเลิกราไปในที่สุด กระทั่งภายหลังบริเวณที่ดินทั้งหมดของคุ้มเจ้าหลวงถูกขายให้กับเอกชนและมีการรื้อถอนคุ้มเจ้าหลวงเพื่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์และโรงแรม ส่วนหอฯถูกปล่อยทิ้งร้างไป ในปี พ.ศ. 2505 เกิดเหตุการณ์ไหม้ครั้งใหญ่ในย่านตลาดสดพะเยาและบริเวณที่ตั้งของหอฯ ซึ่งอยู่ใกล้กับต้นเพลิงคือ อาคารร้านสหกรณ์จำกัดสินใช้ จึงทำให้บริเวณทั้งหมดถูกเพลิงไหม้ หลงเหลือแต่เพียงซากของเสาหินหลักเมืองเท่านั้นและถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งคนในยุคต่อๆ มาแทบไม่มีใครรู้จักประวัติความเป็นมาของเสาหินโบราณหลักนี้ ต่อมาภายหลังได้มีการสืบค้นประวัติความเป็นมาของเสาหินโบราณหลักนี้ จึงได้รู้ว่า เป็นเสาหินหลักเมืองโบราณที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เมืองพะเยา และเป็นนิมิตรหมายที่ดีเมื่อทางจังหวัดพะเยานำโดยนายโชคดี อมรวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงจัดทำโครงการฟื้นฟูเสาหลักเมืองโบราณเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองพะเยาอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วอีกแห่งหนึ่งคือ ศาลหลักเมืองสนามเวียงแก้วซึ่งเป็นศาลหลักเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน ส่วนที่จะจัดสร้างใหม่เป็นศาลของหลักเมืองเก่าแก่ดั้งเดิม โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2565 ชาวพะเยาได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงและสมโภชเสาสะดือเมืองขึ้น ณ ลานพิธีสะดือเมืองภูกามยาว โดยนายโชคดี อมรวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและนายอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธี