ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : - ลองจิจูด (แวง) : -
เลขที่ : 195979
มลพิษจากแหล่งน้ำมันลานกระบือ ส่งผลต่อวิถีชีวิต
เสนอโดย กำแพงเพชร วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย กำแพงเพชร วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : กำแพงเพชร
0 260
รายละเอียด

ความตื่นเต้นดีใจของคนไทยจากการค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ในพื้นที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร เป็นข่าวใหญ่ที่ติดค้างอยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมกับความคาดหวังถึงยุครุ่งเรืองและร่ำรวยของคนในพื้นที่

แต่ข้อเท็จจริงที่ตามมาหลังจากนั้นกลับพบว่า ทุกขั้นตอนของการขุดเจาะน้ำมันล้วนก่อมลพิษ ซึ่งชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงคือผู้แบกรับผลกระทบ
ทว่าข่าวคราวความเดือดร้อนของชาวบ้านจากปัญหามลพิษ ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากการขุดเจาะน้ำมันกลับ “ไม่เป็นข่าว”
แต่พื้นที่ขุดเจาะน้ำมันก็ขยายอาณาเขตครอบคลุมไปใน 4 จังหวัดภาคเหนือ นั่นคือ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร

20 ปีต่อมา...ผลงานวิจัยของโฉมโสพิศ นวลจันทร์ฉาย และคณะ (2541) นักศึกษาจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภาคพิเศษ อุตรดิตถ์ รุ่นที่ 7 ชี้ชัดว่า แม้การกำจัดของเสียของการขุดเจาะและผลิตน้ำมันปิโตรเลียมใน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร จะประสบความสำเร็จตามนโยบายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เท่าใดนัก

กรณี: การจุดเจาะน้ำมันบ่อน้ำมันสิริกิติ์ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร

สถานที่:ต.ลานกระบือ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร

ความเสียหาย:เกิดมลพิษทางอากาศ (ฝนกรด) ที่เกิดจากการเผาก๊าซไฮโดรคาร์บอนส่วนเกิน แม้ว่าผลการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต 8 จ.นครสวรรค์ และสาธารณสุข จ.กำแพงเพชร จะไม่เกินมาตรฐาน แต่กลับพบว่าชาวบ้านในอำเภอลานกระบือมีอาการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านพบว่า ไม่เคยมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง

มีการปนเปื้อนของน้ำเกลือลงสู่แหล่งน้ำบาดาลของชาวบ้านตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำโคลน (ประกอบด้วยน้ำเกลือ ดินเหนียว และสารเคมีเพิ่มความเหนียวและหล่อลื่น) ส่วนผสมที่ใช้ในการขุดเจาะน้ำมัน

มีการลักลอบเอาดินปนเปื้อนสารเคมีที่เกิดจากกรรมวิธีการขุดเจาะไปฝังกลบอยางไม่ถูกหลักสุขาภิบาลในบริเวณแหล่งต้นน้ำของชุมชนในเขต ต.โนนพลวง อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และ ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

น้ำฝนปนเปื้อน มีสีเหลือง มีคราบน้ำมัน และบางครั้งมีเขม่าดำ ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำอุปโภค-บริโภคได้ ชาวบ้านกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ต้องซื้อน้ำดื่มเอง เนื่องจากไม่แน่ใจว่าหากใช้น้ำฝนแล้วจะปลอดภัยหรือไม่

เหตุการณ์ :13 กุมภาพันธ์ 2522 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่บริษัท ไทยเชลล์ เอ็กพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) เพื่อสำรวจน้ำมันในแปลงสัมปทานเอส 1 และเอส 2 ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตร จากรัฐบาลไทย โดยใช้เวลากว่า 2 ปีในการสำรวจเบื้องต้น หาข้อมูลทางธรณีวิทยา

ต่อมาได้ส่งคืนพื้นที่สัมปทานเอส 2 ให้กับรัฐบาล คงเหลือเฉพาะพื้นที่เอส 1 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 4 จังหวัดในภาคเหนือคือ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร และได้มีกิจกรรมการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

โดยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2524 บริษัทไทยเชลล์ฯ ได้เจาะหลุม “ลานกระบือ เอ 1” หมู่ 7 บ้านเด่นพระ ต.ลานกระบือ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร พบว่ามีน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้มีการเจาะเพิ่มเติมอีก 3 หลุม จนสามารถตั้งเป็นสถานีรวมผลผลิตน้ำมันได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2526 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ ได้เสด็จมาทรงประกอบพิธีเปิดแหล่งน้ำมันดิบนี้ และพระราชทานชื่อแหล่งน้ำมันนี้ว่า “สิริกิติ์”

น้ำมันดิบที่ได้ถูกส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่บริษัทไทยเชลล์ฯ เข้าสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติตั้งแต่เดือนมีนาคม 2522 เป็นต้นมา ก็ทำให้เกิดมลพิษต่างๆ จากขั้นตอนการขุดเจาะและผลิต เช่น การรั่วไหลของก๊าซ และไอระเหยต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ดิน และแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นแห่งน้ำดื่ม น้ำใช้ รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตรและการประมง

ขณะเดียวกันชาวบ้านยังต้องเผชิญกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บตามมา ทั้งโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจ

ปี 2539 บริษัทไทยเชลล์ฯ แก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำเกลือปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินของชาวบ้านด้วยการขุดเจาะน้ำบาดาลทดแทนให้ชุมชนบริเวณฐานขุดเจาะ LKUL-L และ LKU-R และเริ่มมีโครงการสำรวจสภาพน้ำบาดาลทั่วเขตสัมปทาน โดยว่าจ้างบริษัท Dames&Moore จากประเทศออสเตรเลียมาเป็นที่ปรึกษาและดำเนินโครงการ โดยสำรวจเสร็จในปี 2542 ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท และมีการสำรวจคุณภาพน้ำบาดาลและสภาพภูมิประเทศแวดล้อมที่อยู่ในรัศมี 500 เมตรรอบทุกฐานขุดเจาะ และทำสำมะโนบ่อบาดาลของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว 2,200 บ่อ รวมทั้งขุดบ่อบาดาลตื้น (<25 เมตร) สำหรับสังเกตการณ์อีก 454 บ่อ และหลุมสังเกตการณ์ (ลึก 25-110 เมตร) 14 บ่อ

นอกจากนี้บริษัทไทยเชลล์ฯ ยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาโดยกำจัดต้นเหตุของการปนเปื้อนทั้งหมด โดยเฉพาะฐานขุด LKU-D ด้วยการสูบน้ำเค็มออกจากบริเวณพื้นที่น้ำบาดาลปนเปื้อนจนปริมาณความเค็มเหลือ 200 มก./ลิตรภายในพื้นที่ปนเปื้อน โดยใช้ระยะเวลา 6-8 ปี

ปัญหาเศษดิน หิน โคลน แก้ไขโดยการฝังกลบกับซีเมนต์ ทำให้แข็งแล้วนำไปฝังกลบที่ฐานขุดเจาะนั้นๆ อย่างไรก็ดีในปี 2540 ได้ตรวจพบว่าเศษหินผสมซีเมนต์บางฐานไม่แข็งตัว บริษัทไทยเชลล์ฯ แก้ปัญหาโดยทำโครงการบำบัดเศษหิน โคลนอีกครั้ง ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง บริษัทไทยเชลล์ฯ ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 ทั้งยังขุดเจาะน้ำมันครบ 100 ล้านบาร์เรล มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 25,000 บาร์เรล

และในปี 2543 บริษัทไทยเชลล์ฯ ก็มียอดรวมการขุดเจาะบ่อน้ำมันถึง 79 บ่อ แต่ได้เปลี่ยนจากน้ำเกลือมาใช้น้ำมัน และนำเศษหินและโคลนที่เกิดจากการขุดเจาะไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซีเมนต์ที่สระบุรี โดยให้เจนโก้เป็นผู้รับผิดชอบ

หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 16-17 สิงหาคม 2543 ได้เผยแพร่ผลกระทบเหล่านี้ ทำให้นายยงยุทธ ตะโกพร ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดเหนึ่งเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการจัดเวที “การประชาพิจารณ์ปัญหามลพิษ บริษัท ไทยเชลล์ฯ” ณ ที่ว่าการอำเภอลานกระบือ จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2543 เพื่อชี้แจงปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น

นายบุญเกื้อ ทองแก้ว กำนันตำบลโนนพลวง สะท้อนถึงระยะเวลาเกือบ 20 ปีของความโชติช่วงชัชวาลย์ว่า “แม้ไทยเชลล์ฯ จะมีส่วนสร้างความเจริญให้กับชุมชน อ.ลานกระบือ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมาโดยตลอด...คนไทยเชลล์ฯ สั่งน้ำดื่มสิงห์ น้ำจากเชียงใหม่มาดื่ม แต่ชาวบ้านที่นี่ต้องกินน้ำที่ผลิตจากลานกระบือ ย้ายไปไหนไม่ได้ เกิดทีนี่ ต้องอยู่ที่นี่ และก็ตายที่นี่ ทั้งที่เราเป็นคนเหมือนกัน แต่คุณภาพชีวิตต่างกัน”

หลังจากนั้น หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นก็แก้ไขปัญหาโดยตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในช่วงปลายปี 2543 เพื่อศึกษาปัญหาและหาทางแก้ไข ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากบริษัทไทยเชลล์ฯ ตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง (กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, กรมป่าไม้, กรมทรัพยากรธรณี, สาธารณสุขจังหวัด, ศูนย์อนามัยฯ) ตัวแทนชาวบ้านและกลุ่มสื่อมวลชนท้องถิ่น แต่ดูเหมือนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ขุดเจาะน้ำมัน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ยังคงวนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหามลพิษ

สายน้ำมันที่ไหลเชื่อมต่อข้ามไปถึงแหล่งน้ำมันประดู่เฒ่า อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งผลการขุดเจาะสำรวจจากบริษัทไทยเชลล์ฯ พบว่าเป็นแหล่งน้ำมันที่มีศักยภาพหลายแห่ง นำมาซึ่งความตื่นตัวที่ทำให้ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก กรมอนามัย ทำโครงการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ของประชาชนในพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมันประดู่เฒ่าตอนใต้ ซึ่งรวมถึงชาวบ้านที่อยู่ใน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนป้องกันหรือลดผลกระทบต่อสุขภาพจากโครงการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

เอกสาร :บทคัดย่อโครงการ “ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการขุดเจาะและผลิตน้ำมันปิโตรเลียมในอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร”,คณะผู้วิจัย โฉมโสพิศ นวลจันทร์ฉาย และคณะ (2541) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภาคพิเศษ อุตรดิตถ์ รุ่นที่ 7 (http://www.rio3km.com/knowledge_view.php?id=3)
: แหล่งที่มาแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบ่อน้ำมันสิริกิติ์, กำแพงเพชร (http://kanchanapisek.or.th/kp8/kpp/kpp105.html)
: “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมันประดู่เฒ่าตอนใต้”, นายบุญรักษ์ นวลศรี นักวิชาการสาธารณสุข 7 ว. และคณะ(http://hpc9.anamai.moph.go.th/research/index.php?option=com_content&task=view&id=90&Itemid=51)

สถานที่ตั้ง
อำเภอลานกระบือ
จังหวัด กำแพงเพชร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง พลภัทร อู่ไทย อีเมล์ t255825582558@gmail.com
อำเภอ ลานกระบือ จังหวัด กำแพงเพชร
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่